หอค้า 5 ภาคสะท้อนถึง ครม.ตู่ 2/2 ขอเอี่ยว…พลิกฟื้นเศรษฐกิจ

หอค้า 5 ภาคสะท้อนถึง ครม.ตู่ 2/2 ขอเอี่ยว…พลิกฟื้นเศรษฐกิจ

เมื่อได้โอกาสปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีในทีมเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ถือโอกาสมอบหมาย 5 แผนงานรวมไทยสร้างชาติ ให้เป็นโจทย์แก้วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ ได้แก่ 1.เยียวยาความเจ็บปวดที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ 2.แก้ปัญหาในแนวทางช่วยประเทศอย่างยั่งยืน 3.สร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจคงการจ้างงาน 4.ทำแผนจ้างงานคนรุ่นใหม่ นักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน และ 5.เน้นให้ทำด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

จึงต้องติดตามในสัปดาห์นี้รัฐมนตรีป้ายแดง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงแรงงาน จะประกาศนโยบายอย่างไร เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐ และอะไรบ้างที่จะตรงใจกับความต้องการของภาคเอกชนอย่างหอการค้าไทยทั่วประเทศ

เหนือ ศก.เริ่มฟื้นตัวแต่ไม่เต็มร้อย

วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ ได้ฉายภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือ ว่า เศรษฐกิจในพื้นที่ขณะนี้เริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่ยังไม่เต็มร้อย เนื่องจากยังติดในเรื่องของการจ้างงานที่หลายอุตสาหกรรมยังไม่เปิดทำการ อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมใหญ่ยังไม่กลับมาเปิดให้บริการ เนื่องจากประเมินแล้วยังไม่เห็นถึงความคุ้มค่า เป็นต้น ส่วนภาคการท่องเที่ยว ถึงแม้เริ่มมีคนไทยเข้ามาเที่ยวภาคเหนือ แต่เที่ยวสั้นๆ เฉพาะวันหยุดเสาร์หรืออาทิตย์เท่านั้น คงต้องอาศัยเวลาปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจท่องเที่ยวในภูมิภาคคงอยู่ต่อไปได้ ส่วนภาคการเกษตร ถือว่าอยู่ในช่วงที่ไม่โดดเด่น และยังมีปัญหาเรื่องราคาโดยเฉพาะลำไย ทราบมาว่ารัฐบาลเตรียมออกมาตรการเยียวยาชาวสวนลำไย มองเวลานี้เป็นสิ่งที่ควรทำ ส่วนเรื่องดันภาคเกษตรเป็นตัวช่วยหลักดันเศรษฐกิจ มองว่ายากอยู่ เรื่องนี้ต้องอาศัยการผลักดันเรื่องเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดสินค้าด้านเกษตรให้มีราคาที่สูง รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ตอนนี้ไทยยังด้อยเรื่องนี้มาก เรื่องนี้ต้องทำคู่กับค้าชายแดน เพื่อเปิดให้มีช่องทางการส่งออกสินค้าใหม่ไปต่างประเทศด้วย

Advertisement

ประธานหอเหนือ ให้ความเห็นต่อให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงตั้งแต่เริ่มภาคเอกชน อยากให้มีการร่วมทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชนร่วมกันสร้างสมดุลเรื่องสุขอนามัย และการค้าการลงทุนให้ไปในทิศทางเดียวกัน แต่มองว่าทุกๆ อย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าใจร้อน เพราะไทยผ่านจุดต่ำสุดทางเศรษฐกิจมาแล้ว ช่วงไตรมาส 2/2563 เชื่อว่าในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ทุกอย่างจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น หากไม่เกิดโควิดระบาดรอบ 2

รัฐต้องใจกล้ายืดหนี้ถึงสิ้นปี

“ตอนนี้รัฐบาลต้องเร่งช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด คือช่วยเอสเอ็มอี ที่ถือเป็นองค์ประกอบหลักของไทย หากไม่เร่งช่วยเหลือจนเกิดการล้มหายตายจากของธุรกิจนี้ ประเทศไทยจะแย่ทั้งประเทศ เรื่องของการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำต้องแก้ไขกติกาใหม่โดยเร็ว ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ที่มีภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ น่าจะทราบดีว่าเรื่องนี้ถือเป็นอุปสรรคหลักทำให้รายเล็กไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ อีกเรื่องที่สำคัญและต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วคือการจ้างแรงงานระยะสั้น หรือสัญญาจ้าง 1-2 ปี เพื่อรองรับนักศึกษาจบใหม่ให้มีงานรองรับและมีรายได้หล่อเลี้ยง เรื่องนี้เอกชนร่วมกันผลักดันเต็มที่ อยู่ที่การตัดสินใจของภาครัฐแล้วว่าจะทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนได้เมื่อไหร่ เช่นเดียวกับเรื่องมาตรการช่วยเหลือที่ภาครัฐควรรีบออกมาประกาศให้ชัดเจนเรื่องยืดการชำระหนี้ และช่วยเหลือจ่ายเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง มองว่าถึงเวลาภาครัฐต้องใจกล้าออกมาประกาศให้ผู้ประกอบการและประชาชนมั่นใจรัฐจะช่วยลดภาระให้จนถึงสิ้นปีโดยด่วน”

Advertisement

ภาคกลางเกาะท่องเที่ยวฟื้นศก.

จิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจภาคกลาง ที่ฟื้นตัวในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา คือ ภาคการท่องเที่ยว แต่รายได้ส่วนใหญ่อยู่ที่แหล่งท่องเที่ยวทะเล อาทิ หัวหิน และชะอำ เป็นต้น ดีเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ วันธรรมดายังไม่กระเตื้อง ถ้าในภาวะปกติจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาท่องเที่ยววันธรรมดา ซึ่งปี 2562 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากคนไทย 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น รายได้ที่หายไปจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องคิดหาวิธี เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังเดินหน้า

การเกษตรของภาคกลาง ขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากผักและผลไม้มีราคาที่ดีขึ้นแต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปว่าการที่ราคาเกิดจากของขาดตลาดปัจจัยใด แต่ถือว่าเป็นผลดีกับเกษตรกรที่สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น แต่สามารถเป็นหนึ่งปัจจัยช่วยผลักดัน เศรษฐกิจได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการบริโภคภายในประเทศและการผลักดันจากทุกหน่วยงานช่วยกันบริโภคผักและผลไม้ภายในประเทศ สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ ทั้งนำมาแปรรูปเพิ่มคุณภาพ และต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ มองว่าในระยะยาวต้องดึงเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามา แต่ต้องมีการแก้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพื่ออนุญาตให้ต่างประเทศเข้าถ่ายทอดวิธีสกัดสมุนไพรในไทย แต่ต้องทำข้อตกลงให้ชัดเจนและไทยต้องได้รับประโยชน์มากที่สุด

“สิ่งที่ประชาชนภาคกลางอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือเสถียรภาพราคาพืชผลทางการเกษตรในระยะยาว ไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยไปตลอด และทราบดีว่ารัฐมีงบประมาณจำกัด ก็ต้องมีวิธีใดทำให้ราคากลับมาระดับสูงหรืออยู่ในระดับที่เกษตรกรอยู่ได้ หลังจากนี้หลายฝ่ายคงไม่ได้เน้นตัวเลขจีดีพีแล้ว สิ่งที่น่ากังวลคือจำนวนของคนตกงาน 1 ล้านคน จะช่วยคนกลุ่มนี้มีงานทำได้อย่างไร ต้องแยกว่ากลุ่มเอสเอ็มที่ธุรกิจไปไม่รอดจะต้องช่วยเหลืออย่างไร เพราะไม่สามารถช่วยเหลือได้ทั้งหมด กลุ่มที่ต้องตัดออกไปก่อนคือกลุ่มที่ยืนขอความช่วยเหลือมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่สามารถฟื้นคืนธุรกิจขึ้นมาได้ กลุ่มนี้ต้องตัดออกก่อน และรีบหาทางช่วยเหลือต่อไป เวลานี้จีดีพีไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญหากมีการติดลบมากขึ้นกว่าเดิม แต่รัฐสามารถช่วยเหลือให้เกิดการจ้างและกระจายรายได้ภายในประเทศได้ถือเป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างมาก”

ประธานหอภาคกลางระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องแก้ไขคือในเรื่องของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่พึ่งปล่อยกู้ไปประมาณ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากเอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ ส่วนที่เหลือ 4 แสนล้านบาท ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้เรื่องใดเลย เนื่องจากยังติดขัดในเรื่องของระเบียบบางข้อ รัฐบาลอาจต้องมานั่งดูว่าจะสามารถแก้ไขหรือมีวิธีใดทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายกว่านี้หรือไม่ หลังจากนี้คงต้องมาดูธุรกิจยังพอไปได้ในยุคนิวนอร์มอล ควรเติมสภาพคล่องให้กับธุรกิจที่ยังเติบโตได้ ไม่ใช่นำเงินไปโปะที่เอสเอ็มอีแล้วเกิดภาวะโดมิโนล้มทั้งกระดานยิ่งแย่ไปกันใหญ่ การทุ่มงบต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด

ศก.อีสานแค่ผ่านจุดต่ำสุด

ฟากความเห็นจาก สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจภาคอีสานในปัจจุบัน มีการปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดซึ่งมองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคอีสานตอนนี้อยู่ในจุดที่ต่ำสุดแล้ว หลังจากนี้ เชื่อว่าจะมีการเติบโตที่ดีขึ้นอาจไม่เทียบเท่าช่วงต้นปีเพราะสถานการณ์ต่างกัน และหลังจากที่ทุกอย่างทยอยดีขึ้น ในส่วนของหอการค้าภาคอีสานจะมีการปรับเปลี่ยนภาคธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของภาคการเกษตร จะการประเมินในช่วงแรกภาคอีสานจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเป็นอย่างมาก แต่จากอิทธิพลของพายุหลายลูกที่ผ่านมาทำให้มีน้ำเติมเข้าไปในพื้นที่เกษตรจึงช่วยลดความเสียหายลงไปได้ในระดับหนึ่ง

ภาคการท่องเที่ยวหลังจากที่รัฐบาลประกาศคลายล็อกเริ่มมีประชาชนเที่ยวอีสานมากขึ้น โดยเฉพาะอุดรธานี และคำชะโนด สถานที่ยอดฮิตของคนไทย พบว่าเที่ยวบิน จ.อุดรธานี กลับมาแล้วกว่า 50% เกินคาดมาก ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ส่วนหนึ่งมาจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันของรัฐบาลที่ทำให้ประชาชนจังหวัดใกล้เคียงใช้สิทธิเที่ยวอย่างคึกคัก เรื่องของการค้าชายแดนอยู่ระหว่างทำเรื่องเสนอรัฐขอให้มีการอนุญาตเปิดให้มีการค้าขายระหว่างกัน ตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านมีสัญญาณอยากกลับมาทำการค้ากับไทยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมทั้งเรื่องของความปลอดภัยด้านสาธารณสุขต้องเป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้

เร่งรัดรัฐแก้กฎ/เข้าถึงซอฟต์โลน

ส่วนการทำงานของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) มองว่าเป็นเรื่องที่ดีภาคเอกชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม หากให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทุกฝ่ายต้องพูดความจริง สะท้อนให้เห็นปัญหาที่แท้จริง เพื่อให้เศรษฐกิจยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ มองว่าหลังจากโควิด-19 ผ่านไป ประเทศไทยต้องฟื้นฟูครั้งใหญ่ ทั้งการส่งเสริมการลงทุน แก้กฎระเบียบ และเงื่อนไขต่างๆ เรื่องซอฟต์โลน โดยรัฐต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่าเดิม มองว่าถ้ามีระเบียบมากเกินไปจะเป็นภัยต่อรายเล็ก โดยเฉพาะต่างจังหวัด ถ้ารัฐบาลไม่รีบแก้ไขมีโอกาสสูงมากที่ธุรกิจเอสเอ็มอีจะล้มหายตายจากไปอีก

อีกเรื่องคือการพัฒนาคน รัฐบาลต้องเร่งส่งเสริม โดยพัฒนาทักษะและให้ความรู้การปลูกผักผลไม้ที่ให้รายได้สูง ไม่ใช่ว่าพอคิดถึงภาคอีสานแล้วคิดถึงข้าวเพียงอย่างเดียว จึงอยากให้รัฐสนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณ ร่วมมือกับภาคเอกชนที่รู้ตลาดต้องการอะไร ยังเป็นการช่วยเหลือคนว่างงานกลับมาเริ่มต้นใหม่ในภูมิลำเนาของตนได้

ภาคใต้โอดศก.ยังไม่ฟื้น

วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจภาคใต้ ปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัว ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้ หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้เป็นศูนย์ แม้ว่ารัฐอัดมาตรการเข้ามาช่วยเหลือภาคบริการหรือภาคการท่องเที่ยวก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างครอบคลุม ส่วนใหญ่มาเที่ยววันหยุด เดินทางไปพังงา ภูเก็ต และกระบี่ การเดินทางด้วยเครื่องบินราคาสูงขึ้น บางครอบครัวเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหยุด 2 วันไม่เพียงพอ ภาคท่องเที่ยวต้องพึ่งพาคนจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น

ภาคการเกษตร ได้รับผลกระทบแต่ไม่หนักเท่าภาคท่องเที่ยว เนื่องจากเกษตรกรใต้ปลูกพืชเชิงเดียว ปลูกมากสุด ได้แก่ ยางพารา และปาล์ม แต่ราคาไม่มีแนวโน้มดีขึ้น ยางพาราอยู่ที่ 40-50 บาทต่อกิโลกรัม ปาล์ม 3.50 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรใต้ที่พึ่งพาเป็นหลักจึงได้รับผลกระทบกับรายได้มาก มองว่าพืชและผลไม้อีกหลายชนิด อาทิ ทุเรียน มังคุด และลองกอง ราคาไม่ดีเท่าภาคตะวันออก อยากให้ประชาสัมพันธ์และทำการตลาดให้มากขึ้น รวมถึงพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนท้องถิ่น การค้าชายแดนก็ลดลงมาก

“เรียกได้ว่าเศรษฐกิจใต้ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงขาลง แค่ภาคเกษตรยังช่วยประคองให้ประชาชนมีรายได้ช่วงนี้ แต่ช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้มีคนไหลเข้ามาทำการเกษตรเพิ่มขึ้น 20% แต่ราคาไม่มีแนวโน้มดีขึ้น ภาคเกษตรจึงไม่สามารถพยุงในเศรษฐกิจภาคใต้เงยหัวขึ้นมาได้ในปัจจุบันนี้ แต่หากมีการบริหารที่ดีสถานการณ์จะไม่แย่ลงไปกว่านี้ ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศมองว่าไตรมาส 3-4 ปีนี้จะดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาส 2/2563 แต่ไม่ดีเท่าไตรมาส 1 ต้องติดตามคณะทำงานต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นมาว่าจะมีการบริหารงานอย่างไร หากมีมาตรการเชิงรุกเชื่อว่าเศรษฐกิจหลังจากนี้จะไม่ติดลบเป็นเลขสองหลักอย่างแน่นอน แต่หากเกิดการระบาดรอบ 2 ทุกอย่างก็จบหมดทุกอย่าง จึงได้แต่ภาวนาให้ทีมที่นายกรัฐมนตรีตั้งรัฐมนตรีเศรษฐกิจใหม่ ศบศ. ที่จำลองโมเดลการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แก้ไขสิ่งที่ติดขัดก่อน เพื่อให้ภาคการเงิน ภาคบริการ และภาคอื่นๆ เดินหน้าต่อไปได้”

อยากให้รัฐมนตรีทั้งคนเก่าและคนใหม่ที่เข้ามา คิดนอกกรอบ เพราะที่ผ่านมาคิดตามกรอบแล้วกลับเดินหน้าไม่ถึงไหน ยกตัวอย่างมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ หรือซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันเพิ่งใช้เงินไปประมาณ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่ากฎระเบียบหรือเงื่อนไขเดิมที่ใช้ไม่เวิร์กช่วยประกอบการไม่ทั่วถึง ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนี้ในช่วงเดือนตุลาคมที่สิ้นสุดมาตรการแม้แต่ธนาคารที่เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อก็จะแย่ตามไปด้วย ดังนั้น รัฐบาลต้องรีบแก้ไขปัญหาที่ติดขัดเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น ไม่เช่นนั้นเตรียมตัวตายหมู่ได้เลย

อุตฯ-ส่งออกถ่วงศก.ตะวันออกนิ่ง

ปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจภาคตะวันออก ปัจจุบันยังไม่ค่อยฟื้นตัว ได้รับผลกระทบภาคการส่งออก ภาคอุตสาหกรรมที่บางโรงงานยังทำงานไม่เต็มเวลา รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ส่งออกลดลง 30-40% การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร แม้รัฐออกมาตรการและเพิ่มวันหยุด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศ แต่ยังไม่สามารถทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปได้ ส่วนใหญ่คนไทยเที่ยวเฉพาะช่วงวันหยุด แต่ชาวต่างชาติที่เข้ามาโดยปกติแล้วเที่ยวทุกวัน แต่ภาพรวมถือว่าดีกว่าช่วงล็อกดาวน์

ภาคเกษตรปีนี้ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะทุเรียนที่ออกผลผลิตมาในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ตอนแรกกังวลไม่สามารถส่งออกไปจีนได้ เนื่องจากจีนปิดประเทศ แต่มิถุนายน เริ่มคลายล็อกถือเป็นโอกาสที่ดี ทำให้ยังสามารถส่งออกได้เกือบเป็นปกติ ส่วนพืชไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดติดชายแดนและต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก อย่างสระแก้ว และตราด ได้รับผลกระทบแรงงานที่หายไป ในระยะสั้นยังพอดึงแรงงานไทยที่ว่างงานอยู่มาช่วยได้ แต่ระยะยาวคงไม่สามารถทำได้เนื่องจากแรงงานไทยมีความอดทนต่ำ หลังจากนี้ต้องมาดูค่าจ้างว่าจะสามารถปรับหรือสามารถแก้ไขปัญหาได้บ้าง ตอนนี้ภาคเกษตรถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญแม้ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไม่ได้ แต่ก็สามารถทำให้ประชาชนไม่อดตายและมีรายได้อยู่รอดในสถานการณ์นี้ได้

ดันรัฐยืดมาตรการช่วยประชาชน

ปรัชญากล่าวว่า มองว่าในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ จะเริ่มเห็นคนที่เดือดร้อนโผล่ขึ้นมาจำนวนมาก เนื่องจากมาตรการการช่วยเหลือของภาครัฐจะสิ้นสุดในช่วงดังกล่าว และมองว่าตอนนี้รัฐบาลเริ่มมีงบประมาณลดลงแล้ว คงไม่สามารถจ่ายเงินเยียวยาประชาชนได้ตลอด ซึ่งสิ่งที่ภาคเอกชนมองไปในทิศทางเดียวกันคืออยากให้รัฐบาลยืดมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ไปถึงช่วงสิ้นปีนี้ อาทิ การช่วยเหลือตามสิทธิประกันสังคม ค่าไฟฟ้า และยืดการชำระหนี้ออกไป เป็นต้น เพื่อต้องการให้สอดรับกับวัคซีนที่เริ่มมีความชัดเจนแล้วว่าไทยจะได้เห็นในช่วงสิ้นปีนี้ หรือต้นปี 2564 ซึ่งจะสอดรับกับมาตรการรัฐที่จะสิ้นสุดลงทันที แต่หากไม่มีการยืดเวลาในการช่วยเหลือคาดว่าต้องมีอีกหลายธุรกิจที่ต้องปิดตัวอย่างแน่นอน เพราะเศรษฐกิจในประเทศตอนนี้แม้จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่ประชาชนก็ยังไม่กล้าใช้จ่ายอยู่ดี แล้วลูกหนี้เหล่านี้จะเอาเงินจากไหนมาผ่อนชำระหนี้

“ในช่วงไตรมาส 2/2563 ถือเป็นช่วงที่แย่ที่สุด คาดว่าในช่วงไตรมาส 3-4/2563 จะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังเติบโตไม่พ้นติดลบแน่นอน เพราะไทยพึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจใหม่ที่มีภาคเอกชนมีส่วนในการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ส่วนตัวเชื่อมั่นในความสามารถของนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เชื่อว่าจะสามารถนำประสบการณ์มาดูแลเรื่องการคลังให้ดีขึ้นได้ แต่เรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการแก้ไขคือในเรื่องของการลดกฎระเบียบเงื่อนไขในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงเรื่องการปฏิรูปวิธีการบริหารงานของราชการ มองว่าปัญหาบางเรื่องหรือข้อกฎหมายบางข้อรัฐมนตรีประจำกระทรวงมีอำนาจอยู่ในมือสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณก็ควรที่จะเร่งแก้ไขให้ง่ายต่อการดำเนินงาน”

ประเด็นนายกรัฐมนตรีมอบ 5 แผนงานให้รัฐมนตรีขับเคลื่อนนั้น ปรัชญาเห็นว่าทั้ง 5 เรื่องที่นายกฯสั่งการล้วนแต่เป็นเรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะเรื่องแรงงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ ถึงเวลาแล้วที่คนรุ่นเก่าต้องทำความเข้าใจกับแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดที่แตกต่าง และมีหัวการค้าแบบใหม่ มองว่ารัฐบาลอาจจะเริ่มจากต้นทางโดยการเพิ่มวิชาความรู้เรื่องการทำตลาดออนไลน์ให้กับกลุ่มอาชีวะ เพื่อให้เขาสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตต่อไป หากรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ครบทั้ง 5 ข้อเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างแน่นอน

ข้างต้นนี้ คือเสียงของภาคเอกชนส่งสัญญาณถึง ครม.บิ๊กตู่ 2/2 จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ต้องติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image