คิดเห็นแชร์ : แผนการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว #2

เมื่อฉบับที่แล้วผมได้เล่าให้ฟังถึงสถานภาพและนโยบายการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ฉบับนี้จะเล่าถึงระบบสายส่งไฟฟ้าซึ่งเป็นกุญแจสำคัญและอาจจะกลายเป็นจุดสลบของนโยบายการพัฒนาของ สปป.ลาว ก็ว่าได้หากวางแผนผิด

ปัจจุบัน สปป.ลาว มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งประมาณ 9,480 MW และยังมีการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กต่างๆ อีกเกือบ 50 แห่ง (กำลังการผลิตรวมๆ แล้วน่าจะประมาณ 1,200 MW) แต่ช่องทางการส่งออกไฟฟ้ามายังไทยยังจำกัดแค่เพียงประมาณ 6,000 MW และระบุชัดเจนว่าจะต้องมาจากเขื่อนใดบ้าง ทำให้ สปป.ลาว ในปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้า “ล้นทะลัก” ไม่สามารถผันไฟฟ้าส่วนเกินนี้ออกไปได้ กำลังการผลิตที่ล้นนี้ก็กลับไม่มีเงินจ่ายเอกชนผู้พัฒนาโครงการทำให้เกิดการที่รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยอุ้มในสารพัดรูปแบบ ทั้งขยายระยะเวลาสัมปทาน หรือแม้กระทั่งต้องยอมให้การไฟฟ้าลาว (EDL) ขายหุ้นในบริษัทย่อยที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ชื่อ EDL-T ที่จะมาดูแลทรัพย์สินด้านสายส่งไฟฟ้าเป็นการเฉพาะ แม้ว่า EDL มีบริษัทลูกอีกแห่งอยู่แล้วที่ดูแลด้านการผลิตไฟฟ้า ชื่อ EDL-Gen โดยในปี 2020 บริษัท China Southern Grid ของจีนได้เข้าไปถือหุ้น 90% ใน EDL-T เรียบร้อยแล้ว

ระบบสายส่งไฟฟ้าใน สปป.ลาว เป็นปัญหามาก เพราะไม่ได้รับการพัฒนาในรูปแบบให้เป็น National Grid ที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด แต่เสมือนเป็นระบบสายส่งแบบ Regional Grid 4 โซนมาต่อกัน (แถมเชื่อมโยงต่อกันด้วยสายส่งแรงดันแค่ 115 KV เท่านั้นทำให้เกิดปัญหาคอขวดอย่างมาก) ได้แก่

ภาคเหนือ : มีหลวงพระบางเป็น Load Center
ภาคกลาง 1 หรือ C1 : บริเวณรอบๆ นครหลวงเวียงจันทน์
ภาคกลาง 2 หรือ C2 : บริเวณแขวงคำม่วนและสุวรรณเขต ที่เป็นเขตอุตสาหกรรม
ภาคใต้ Southern : บริเวณปากเซ

Advertisement

การที่ระบบส่งไฟฟ้าไม่ได้เป็นแบบ National Grid (คือเชื่อมต่อกันโดยสายส่งระดับแรงดันสูง 230 หรือ 500 KV) นี่แหละครับที่ทำให้ไฟฟ้ามีอยู่เกินในโซนภาคเหนือ และ C1 ไม่สามารถส่งมาที่ C2 และโซนใต้ได้ ทำให้ในภาคใต้ของ สปป.ลาว ต้องซื้อไฟเสริมจากไทยเป็นระยะๆ

ปัจจุบันระบบสายส่งแรงดันสูง 500/230 KV ที่มีอยู่ก็เป็นระบบที่ส่งออกไฟฟ้ามาที่ไทยเป็นหลักเท่านั้น การที่รัฐบาล สปป.ลาว ตัดสินใจ (เต็มใจหรือเปล่าไม่ทราบ!) ขายหุ้น EDL-T ให้จีน ก็เข้าใจว่าอยากให้จีนมาช่วยเร่งรัดพัฒนาสายส่งนี่แหละครับ โดยที่ผมเคยเห็นผ่านตามาบ้างก็คือ มีข้อเสนอพัฒนาระบบส่งขนาด 500/230 KV ใหม่ 2 ระบบ ที่ใช้ชื่อย่อ หรือ Codename เหมือนกันว่าเป็นโครงการ “CLV” แต่ต่างกันในคำแปลกันอย่างสิ้นเชิง ดังนี้

1.CLV-North : คือ China-Lao-Vietnam ที่จะมีการเชื่อมโยงสายส่งจากตอนใต้ของจีนมาผ่านชุมทางหลักของลุ่มแม่น้ำอู (แม่น้ำอูเป็นแม่น้ำที่จีนสร้างเขื่อนขั้นบันไดไว้ 7-8 เขื่อน) ที่เมืองไซย แขวงอุดมไซย แล้วก็จะส่งออกไปเวียดนามผ่านทาง “ซำเหนือ” ในโซนเหนือนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากถึง 6,244 MW ซึ่งบางโครงการอาจจะพยายามส่งมาขายไทยก็เป็นไปได้

Advertisement

2.CLV HVDC : คือ Cambodia-Laos-Vietnam จะเป็นการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าในแบบ 500 KV-Direct Current โยงจากชุมทางเมืองไซย แขวงอุดมไซย ทางตอนเหนือ ลากยาวมาถึงบริเวณลุ่มน้ำ “เซกอง” ในแขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้เลยทีเดียว โดยกำลังการส่งไฟฟ้าของโครงการนี้จะสามารถทลายปัญหาคอขวดต่างๆ และจะมีกำลังความสามารถในการส่งไฟฟ้ามากถึง 5,000 MW

ดังนั้น หากเห็นโครงการ CLV ทั้ง 2 ชุดนี้แล้ว ผมว่าฝ่ายไทยต้องทบทวนท่าทีและนโยบายซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว แล้วละครับ เพราะว่าการเจรจาซื้อขายไฟฟ้าอาจจะไม่เหมือนในอดีต เพราะทาง สปป.ลาวอาจจะมีทางเลือกมากขึ้น และผมจะจบบทความนี้ด้วยตารางเปรียบเทียบว่าทาง สปป.ลาว เขาลงนาม MoU กับใครแล้วบ้าง และขายไฟไปแล้วเท่าไหร่ คิดเป็นกี่ % และหากเราหยุดความสัมพันธ์ระหว่างไฟฟ้าไทย-ลาว ไว้เฉยๆ ก็คงได้แต่นั่งมองการพัฒนาที่อาจจะข้ามหัวเราไปเลยก็ได้นะครับ

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร
หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image