ดีลควบรวม ทรู-ดีแทค ขย่มเชื่อมั่นผู้บริโภคแห่ย้ายค่าย หวั่นใจ…สุดท้าย ปชช.แพ้

ดีลควบรวม ทรู-ดีแทค ขย่มเชื่อมั่นผู้บริโภคแห่ย้ายค่าย หวั่นใจ...สุดท้าย ปชช.แพ้

หลายคนกำลังเกาะติดการประกาศรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ทรู” กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” ในลักษณะบริษัทร่วมลงทุน (Joint Venture) โดยตั้งจัดบริษัทใหม่ชื่อ “บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด” เป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นธุรกิจเทคโนโลยี เอไอ ดิจิทัลมีเดียแพลตฟอร์ม คลาวด์เทคโนโลยีอวกาศ รวมไปถึงการเป็นเวนเจอร์แคปิทัล ระดมทุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีสตาร์ตอัพในประเทศไทย ได้มีโอกาสเจริญเติบโต เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทย พร้อมเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับภูมิภาคต่อไป

  • แตกประเด็นควบรวม2ฟาก

เรื่องนี้ ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด แสดงความเห็นว่าปัจจุบันการหารายได้ผ่านแพคเกจการโทร หรือการใช้ข้อมูลอินเตอร์เน็ตไม่เพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ การควบรวมจึงเป็นทางเลือกเพื่อลดต้นทุน เพิ่มความสามารถการให้บริการกว้างขึ้น เหมือนกิจการโทรคมนาคมในต่างประเทศ ที่มีการควบรวม หรือใช้โครงข่ายร่วมกันอาทิ กรณีมาเลเซียที่การควบรวมระหว่าง Digi และ Celcom รวมทั้งการให้ DNB เป็นผู้สร้างโครงข่าย 5G บนคลื่น 3500 MHz เพียงรายเดียว หรือกรณีแคนาดาที่มีการควบรวมระหว่าง Shaw กับ Roger Communication หรือกรณีของสเปนที่มีการควบรวมระหว่าง Masmovil กับ Vodafone รวมทั้งกรณีที่ Verizon และ AT&T ได้ทยอยถอนการลงทุนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักในสหรัฐ หรือการขายเสาโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกไปของผู้ให้บริการทั้ง Optus และ Telstra ในออสเตรเลีย

ขณะที่ตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภครายหนึ่งมองว่า ปัจจุบันไทยมีค่ายมือถือ 3 ค่ายหลักแข่งขันกัน ทั้งด้านการพัฒนาบริการ การขยายพื้นที่การบริการ และการแข่งขันราคา หากมีการควบรวมแม้จะเป็นระดับผู้ถือหุ้นอาจทำให้สัดส่วนการแข่งขันในตลาดเปลี่ยน จากที่เคยมี 3 เจ้า เหลือเพียง 2 เจ้า จึงไม่เห็นด้วยในการควบรวม เพราะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกใช้บริการโทรคมนาคมน้อยลง สุดท้ายหากไม่มีการแข่งขัน ไม่มีแรงจูงใจ จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมีประเด็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการที่อาจถูกเปิดเผยมากขึ้น นำไปสู่การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต

ด้านคู่แข็งยักษ์ใหญ่อย่างเอไอเอส สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เอไอเอสไม่ได้สนใจการควบรวมของคู่แข่ง และไม่สนว่าเป็นอย่างไร สนใจแต่ว่าลูกค้าต้องการอะไร เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ดีที่สุด มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเพื่อประเทศ พร้อมส่งต่อความเชื่อมั่นให้แก่ทุกภาคส่วนว่าโครงข่ายและบริการดิจิทัลสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับวิถีชีวิตประชาชน รวมไปถึงการบริหารจัดการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเต็มที่

Advertisement
  • ฝ่าด่านอรหันต์หรือทำได้โดยปริยาย

ล่าสุด หลายองค์กรเตรียมยื่นหนังสือทักท้วงตรวจสอบกับทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) รวมไปถึงสภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมและการค้าปลีก-ค้าส่ง เพื่อป้องกันการผูกขาดทางการค้า

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ระบุว่า มีประกาศคณะกรรมการโทรคมนาคมเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวม และการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม 2553 ระบุความหมายของการควบรวมกิจการ วิธีการและขั้นตอนของการขออนุญาตควบรวม และที่สำคัญที่สุดคือ ประกาศหมวดที่ 2 ข้อ 8 ที่ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเกณฑ์ “เชิงปริมาณ” ในการวัด “ระดับการครอบงำตลาด” อย่างชัดเจน โดยการพิจารณาจากค่าดัชนีการกระจุกตัว หรือดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (Herfindahl-Hirschman index-HHI) ที่วัดจากส่วนแบ่งตลาดของผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายในตลาดก่อนและหลังการควบรวม

ก่อนการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทค ค่า HHI เท่ากับ 3,624 ซึ่งสูงกว่า 1,800 ตามหลักเกณฑ์ในประกาศข้อ 8 (2) หากการควบรวมประสบความสำเร็จ ค่า HHI จะเท่ากับ 5,032 แสดงว่าการควบรวมกิจการทำให้ตลาดมี “การกระจุกตัวสูง” ให้ถือว่าการควบรวมส่งผลด้านลบต่อการแข่งขันจนถือว่าเป็น “การครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ได้มีประกาศใหม่ในปี 2561 ถ้าค่า HHI มากกว่า 2,500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ กสทช.อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไข หรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ เท่ากับว่าประกาศฉบับใหม่นี้ “ยินยอมให้มีการควบรวมโดยปริยาย” การกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะให้ผู้ควบรวมต้องปฏิบัติตามเป็นเรื่องที่จะมีปัญหาและต้นทุนการบังคับใช้สูงมากต่อ กสทช.แถมยังไม่มีหลักประกันอะไรว่าจะสำเร็จ

  • งัดแทคติคกั๊กลูกค้าย้ายค่าย

ล่าสุด ยังไม่ทันจะควบรวมเสร็จก็มีประชาชนร้องเรียนว่าไม่สามารถย้ายค่ายมือถือจากดีแทคไปยังเอไอเอสได้ โดยไม่ได้รับรหัสย้ายค่ายจากดีแทค เนื่องจากเมื่อผู้ใช้บริการกด USSD ขอรหัสย้ายค่าย ผู้ให้บริการรายเดิมจะส่งข้อความให้รอผลการตรวจสอบการย้ายค่ายภายใน 10 นาที ซึ่งในระหว่างนั้นลูกค้าจะได้รับข้อความว่า ได้รับสิทธิพิเศษโปรโมชั่น หรือสิทธิประโยชน์จากผู้ให้บริการรายเดิม โดยผู้ใช้บริการมิได้ร้องขอหรือมีความประสงค์แต่อย่างใด เป็นเหตุให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถโอนย้ายผู้ให้บริการได้ เนื่องจากมียอดค้างชำระ หรือมีการรับสิทธิประโยชน์ รวมถึงไม่ได้รับรหัสโอนย้ายภายใน 10 นาที ตามที่กำหนดในหลักเกณฑ์การโอนย้ายค่ายเบอร์เดิม

ประเด็นนี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. กล่าวว่า ปัญหาการย้ายค่ายไม่ได้ส่วนใหญ่มาจากเลขพินย้ายค่ายไม่ตรง และมีการค้างชำระค่าบริการ แต่ก่อนมีการตกลงกันไว้ว่าเมื่อมีใบแจ้งหนี้มา ชำระค่าบริการแล้วจึงย้ายค่ายได้ แต่ใบแจ้งหนี้ใหม่ยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะมีการยกเลิกและสรุปรวม แต่โอเปอเรเตอร์ทุกเจ้าใช้ข้ออ้างในการปฏิเสธการย้ายค่ายว่ายังมีหนี้ค้างชำระอยู่จึงไม่สามารถย้ายค่ายได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าย้ายค่ายไม่สำเร็จในวันนั้นก็จะมีค่าบริการงอกเพิ่มมาอีก ทำให้มีหนี้สินคงค้างอยู่เรื่อยๆ ดังนั้น จึงต้องไปทำเรื่องย้ายค่ายแต่เช้าเพื่อไม่ให้เกิดหนี้คงค้าง แต่ก็มีการเปลี่ยนให้เป็นการรวมหนี้ทั้งหมด รวมไปถึงหนี้ใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยให้นับเพิ่มแค่วันเดียว ซึ่งก็เป็นปัญหาสำหรับคนที่ไม่มีเงินจ่ายในวันนั้น

“ทางสำนักงาน กสทช.ได้เรียกโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย พร้อมมีหนังสือกำชับให้ดำเนินการโอนย้ายค่ายให้กับผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช.อย่างเคร่งครัด หากโอเปอเรเตอร์รายใดฝ่าฝืน สำนักงานจะดำเนินการทางปกครองทันที” นพ.ประวิทย์ยื่นคำขาด

ดูแล้วเป็นสงครามเย็นที่จบไม่ง่ายแน่ๆ หลังจากนี้ยังต้องฟาดฟันแย่งลูกค้าเข้าค่ายตัวเองให้มากที่สุด อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าสุดท้ายอาจฮั้วกัน และประชาชนคือฝ่ายพ่ายแพ้ไร้ทางเลือกอยู่ดี!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image