‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ จังหวะก้าว‘สินทรัพย์ดิจิทัล’

‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ จังหวะก้าว‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ หมายเหตุ - นายอาคม

หมายเหตุนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ “อนาคตประเทศไทยกับสินทรัพย์ดิจิทัล” ในงานสัมมนา “สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม

ที่ผ่านมา มีคนกล่าวว่าการที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเก่า ขณะที่ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ ขณะนี้มีสองด้าน คือ จากการระบาดของโควิด-19 และจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เพิ่มเติมเข้ามา สิ่งที่เห็นว่ากระทบชัดเจน คือ เรื่องราคาสินค้า โดยอัตราเงินเฟ้อได้เห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว แต่มาตรการหรือนโยบายทางการเงินในประเทศตะวันตกก็เริ่มจะออกมา คาดว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังอยู่ในแนวโน้มลดลง

ดังนั้น ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องเรียกว่าเป็นปัญหาระยะสั้น และจากประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของไทย มองปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเฉพาะชั่วคราว แต่ว่าการเกิดขึ้นชั่วคราวจะยืดยาวขนาดไหนก็ต้องมาดูกัน

รัฐบาลได้ออก 10 มาตรการ ช่วยลดราคาพลังงาน และช่วยเรื่องค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน การช่วยเหลือครั้งนี้ช่วยตรงกลุ่มเป้าหมาย

Advertisement

หากพูดถึงเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเก่า แน่นอนว่า เรื่องการพึ่งพาภาคธุรกิจการบริการโดยมีการท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อมีโควิดเข้ามาจึงได้รับผลกระทบที่หนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน แต่โครงสร้างนี้จะยังอยู่ต่อไปหรือไม่ คิดว่าในโครงสร้างใหม่ต้องดูเรื่องการสร้างมูลค่าให้กับภาคการท่องเที่ยว ที่แตกต่างไปจากเดิม คือคุณภาพของการท่องเที่ยวไทยที่พูดกันมานาน แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ดูเรื่องนี้เท่าไร แต่ไปมุ่งเน้นในเรื่องจำนวนมากกว่า

เรื่องคุณภาพ ถ้าจะสร้างราคาให้กับการท่องเที่ยวแล้ว หากดูจากประเทศที่กำลังพัฒนาและมีทรัพยากรท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์นั้น ก็จะมีนโยบายราคาเพื่อดูแลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่มีค่ามากขึ้น

สำหรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่พูดกันในวันนี้ เชื่อว่าเป็นโครงสร้างหนึ่งที่เข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจไทย ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้เลย คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) หรือโลกแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล

Advertisement

ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยกำลังค่อยไต่ขึ้นจากภาวะที่ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ไต่ขึ้นไปแล้วจะเห็นอะไรนั้น อยากเรียนว่า ใน 10 ปีที่ผ่านมา ไทยพูดเรื่องดิจิทัลมาตลอดแต่ยังไม่ค่อยเป็นรูปธรรมเท่าไร ส่วนใหญ่จะไปพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล คืออินเตอร์เน็ต เส้นใยแก้วนำแสง หรือดาวเทียม ซึ่งเป็นพื้นฐานจริงๆ แต่เรื่องการใช้ประโยชน์ จากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ เป็นเรื่องของการพัฒนาสู่โลกแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล

ดังนั้น ต่อไปนี้ เราจะเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องของดิจิทัลไปหมด เพราะฉะนั้นจุดนี้จะเรียกว่าเป็นการเริ่มต้นก็ย่อมได้ เพราะว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการทางเทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสินทรัพย์ใหม่ประเภทหนึ่งขึ้น คือ สินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีการกระจายอย่างรวดเร็ว เกิดขึ้นกับทั่วทั้งโลก

สิ่งที่เห็นในปี 2563-2564 คือ ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มขึ้นจาก 9 รายเป็น 14 ราย มูลค่าการซื้อขายของคริปโทเคอร์เรนซีต่อวันจาก 240 ล้านบาท เป็น 4,839 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าก็เพิ่มขึ้น จาก 9,600 ล้านบาท เป็น 1.14 แสนล้านบาท จะเห็นได้ว่ามีการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็ว ที่สำคัญคือจำนวนบัญชีผู้ใช้บริการในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัล (เอ็กซ์เชนจ์) เพิ่มจาก 1.7 แสนราย เป็น 2 ล้านราย เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

เพราะฉะนั้น ในเรื่องของผู้เล่นรายใหม่ หรือเกมเชนเจอร์นั้น นอกเหนือจากเรื่องตลาดหุ้นแล้ว ก็มีตลาดคริปโทฯเพิ่มขึ้นมาอีกตลาดหนึ่ง ทุกคนคงเข้าใจกันดีว่า ถ้าพูดถึงเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทหลักๆ คือ คริปโทฯ ที่ซื้อขายกันในศูนย์ซื้อขาย ทั้งคริปโทฯ ที่ซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และโทเคน ซึ่งมีภาคธุรกิจหลายรายเริ่มใช้เป็นการลงทุนในโทเคน เพื่อเป็นทางเลือกในการระดมทุน

แต่พัฒนาที่สำคัญส่วนนี้คือเรื่องบล็อกเชนเทคโนโลยี ซึ่งจะไม่ผ่านศูนย์กลาง สามารถระดมทุนโดยตรงไปที่ประชาชนได้ทันที ส่วน Utility token ในแง่การกำกับของภาครัฐคงต้องใช้เวลาสักนิดหนึ่ง แต่ทั้ง 2 เรื่องนั้นเราไม่ปฏิเสธ เพราะทางภาครัฐให้ความสำคัญต่อการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล

ส่วนการกำกับดูแลนั้นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ใช้แนวทางกำกับดูแลผ่าน พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล ปี 2561 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลด้านภาคการเงิน โดยทั้ง 2 หน่วยงานดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสิ่งที่จะมาทดแทนค่าตอบแทนนั้น ปัจจุบันทั่วโลกยังไม่ยอมรับสกุลเงินดิจิทัล อย่างไรก็ดี ธปท.ก็มีการพัฒนา Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ทั่วโลกก็ทำเรื่องดังกล่าว

ทั้งเรื่องของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางการเทรดดิ้ง และคริปโทฯ ทางรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็เสนอให้ยกเว้นภาษีให้สำหรับผู้ซื้อขาย รัฐบาลมีกฎหมายจัดเก็บภาษีแค่ขาที่มีกำไร ส่วนขาขาดทุนนั้นไม่ได้นำมาคิด ขณะนี้ได้อนุญาตให้นำขาขาดทุนมาคิดหักจากกำไรได้แล้ว เพิ่งออกกฎอย่างเป็นทางการ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

จะเห็นว่าเรื่องของมาตรการต่างๆ ที่ยังเป็นที่สงสัยกันก็ได้มีการทำความเข้าใจ ทำความชัดเจน โดยหารือกับสมาคมต่างๆ ทางด้านฟินเทค เทคโนโลยีดิจิทัล แม้กระทั่งเรื่องการเสียภาษี ซึ่งครบกำหนดเวลายื่นแบบในปีนี้ก็จะมีรายละเอียด มีคู่มือการซื้อขายคริปโทฯ

รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล แต่การเติบโตก็ต้องระวัง หากถามว่าโอกาสหรือประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัลมีอะไรบ้างนั้น แน่นอนว่าโอกาสจากทางเลือกของการลงทุนมีแน่นอน และยังมีประเด็นสตาร์ตอัพ ด้านกลุ่มเทคโนโลยีด้วย ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็มีการยกเว้นภาษีด้วยเช่นกัน ในกรณี Venture Capital (VC), Corporate Venture Capital (CVC) หรือผ่านสถานบันการเงิน ที่เข้ามาลงทุนให้กับสตาร์ตอัพ ทางสตาร์ตอัพก็จะมีเม็ดเงินลงทุนจากส่วนนี้

ประโยชน์ที่แน่นอนคือ สิ่งที่เคยยากเย็นจากเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือสินเชื่อของธนาคาร และการเข้าถึงทุนของตลาดหุ้นก็ยากเช่นกัน ดังนั้น ส่วนนี้เป็นอีกทางหนึ่ง และแน่นอนว่าในอนาคต สินทรัพย์ดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องการเป็นแหล่งระดมทุนด้วย

อีกเรื่องที่สำคัญคือ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งหลายประเทศให้งบประมาณลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีต่างๆ นั้น ต่างประเทศใช้งบประมาณ 4-5% ขณะที่ไทยใช้ในด้านนี้น้อยกว่า 1% เพราะว่าไม่ค่อยมีใครเห็นประโยชน์ในเรื่องการวิจัยและพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของรถยนต์ บริษัทคนไทยมีการวิจัยเทคโนโลยีของตัวเอง ในเรื่องส่วนประกอบของรถยนต์ที่มีน้ำหนักเบาขึ้น แต่ทั้งนี้เป็นการทำวิจัยเอง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน จึงต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่น เมื่อกู้ยืมที่สถานบันการเงินก็จะบอกว่าไม่เห็นอนาคตว่าจะนำเทคโนโลยีไปใช้

เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้า ถ้าใช้จริงจะมีแบตเตอรี่มาก ถ้าใช้โครงสร้างจากเหล็ก น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นมากแต่ถ้ามีโครงสร้างใหม่เป็นอะลูมิเนียม แม้ราคาแพงหน่อยแต่ก็ชดเชยกับน้ำหนักที่ลดลงได้ และได้ประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ กลับไม่มีใครมองเห็น เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นโอกาส แม้กระทั่งเรื่องธุรกิจเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพต่างๆ ก็สามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลได้

อีกเรื่อง คือ ด้านบุคลากร ไม่ว่าจะเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทฯ จะเติบโตอย่างไร ต้องบอกเลยว่าเรื่องบุคลากรนั้นสำคัญ โดยเฉพาะบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ทุกวันนี้ธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตมากขึ้นทุกวัน ถามว่าแล้วระบบหลังบ้านจะให้ความมั่นใจได้อย่างไร ซึ่งเคยเกิดกรณีแล้วว่าระบบคอมพิวเตอร์รองรับไม่ได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของบุคลากรที่ดูแลระบบด้วย โดยบุคลากรพูดถึง ก็คือบุคลากรที่มีความรู้รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรมโดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเรื่องระบบอัจฉริยะ เอไอ ที่ล้วนมีส่วนที่อยู่ในโลกของดิจิทัลทั้งหมด

ดังนั้น ผู้เล่นในวันนี้ นอกเหนือจากผู้ประกอบการผู้พัฒนาเทคโนโลยี ผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ยังมีเรื่องการจ้างงาน คือการพัฒนาบุคลากรของประเทศไทย ถ้าเทียบแล้วในสายเทคโนโลยี แม้แต่สายวิศวกรรม ไทยเรายังแพ้บางประเทศในอาเซียน เรื่องนี้จึงเป็นอีกความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากำลังแรงงาน ซึ่งสถาบันการศึกษาจะต้องตระหนักในเรื่องนี้

อีกเรื่องคือ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล สิ่งที่จะเปลี่ยนไปคือเรื่องของการรวมศูนย์ เป็นระบบกระจายศูนย์ คือ เทคโนโลยีบล็อกเชน จะไม่มีระบบศูนย์กลางอีกต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการต่างๆ จะต้องระวังกัน และมีการกระจายในเรื่องนี้ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบไฟฟ้า ระบบหลังบ้านต่างก็จะมีการกระจายความเสี่ยงในเรื่องของความมั่นคงและปลอดภัย นี่คือสิ่งที่เป็นโอกาสที่ทุกภาคส่วนจะได้พัฒนากันต่อไป

ดังนั้น เน้นย้ำว่า ในเรื่องการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล กระทรวงมีนโยบายต้องยึดประโยชน์ผู้ลงทุน ต้องคุ้มครองไม่ให้เกิดความเสียหาย ธปท.ก็ดูแลร่วมกัน และ ก.ล.ต.ก็อยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล ให้กำกับดูแลครอบคลุมมากขึ้น จะเป็นการดูแลระบบเศรษฐกิจ คุ้มครองผู้ลงทุน

ฝากถึงผู้ประกอบการในคริปโทฯและโทเคนว่า การให้ข้อมูลลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ ความเสถียรทางระบบที่จะรองรับ หรือระบบซื้อขาย โดยเฉพาะโทเคนฐานะการเงินต้องมีความมั่นคง ในการที่จะมองอนาคตไปข้างหน้า

เพราะฉะนั้น หลังจากที่ไทยกำลังพยายามจะไต่ขึ้นไป ขณะที่มีแรงลมเข้ามาจากปัจจัยภายนอก เราต้องมองไปข้างหน้า ว่าสิ่งที่จะเห็นในอนาคตนั้นคือสินทรัพย์ดิจิทัล และคริปโทฯจะมาเข้ามามากขึ้นในส่วนการระดมทุนในระบบเศรษฐกิจไทย

อีกด้านที่ยังไม่ได้กล่าวถึง คือ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในภาครัฐ ซึ่งตอนนี้มีการใช้กันเยอะ ภาครัฐเองการจะอำนวยความสะดวกในการติดต่อ และทำธุรกรรมให้มากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในอนาคตยังไม่แน่ใจว่าภาครัฐ รวมรัฐวิสาหกิจด้วย อาจจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องของตลาดเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ขณะนี้ยังอยู่ในวงจำกัดแค่ภาคเอกชน

ก็ฝากไว้ว่าเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล คริปโทฯ และแม้กระทั่งระบบการชำระเงินต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่ต้องก้าวไปด้วยกัน ถ้าคิดว่ามีอะไรที่ติดขัดก็สามารถมาหารือกันได้ ทางกระทรวงการคลังพร้อมที่จะหารือ และหาทางแก้ปัญหาให้กับภาคดิจิทัลทั้งหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image