ภาคธุรกิจส่องทิศทางศก.ไทย ครึ่งปีหลังเผชิญ 6 ปัจจัยเสี่ยง

หมายเหตุ – ความเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทิศทางเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มากมาย

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 มองว่าปัจจัยที่เป็นตัวสนับสนุนและประคองให้ภาคเศรษฐกิจยังสามารถเติบโตได้ เครื่องยนต์หลักๆ ยังเป็นภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ส่วนประเด็นที่ยังต้องติดตามและสร้างความกังวลให้กับทั้งไทยและทั่วโลก คือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผล
กระทบต่อเรื่องเงินเฟ้อ เป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าวทำให้สินค้าที่ผลิตป้อนให้ตลาดโลกบางตัวหายไป ส่งผลให้สินค้าหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะสินค้าด้านพลังงาน อาทิ น้ำมัน ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบระยะยาว ทำให้กำลังซื้อของแต่ละประเทศค่อยๆ ลดลง จะสร้างผลกระทบกับสินค้าส่งออกบางรายการในช่วงไตรมาสที่ 4/2565 ได้

ส่วนภาคการท่องเที่ยวในประเทศยังมองเป็นบวก เนื่องจากมาตรการด้านการท่องเที่ยวต่างๆ เริ่มผ่อนคลายและทำให้เดินทางเข้ามาในไทยง่ายขึ้นแล้ว ทำให้มีโอกาสเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยให้มีเม็ดเงินไหลเข้าระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย และถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ที่ไม่มีรายได้ในส่วนนี้มายาวนานถึง 2 ปี ให้สามารถกลับมามีรายได้ และกลับมาเป็นภาคที่มีความเข้มแข็งอีกครั้ง ซึ่งต่อไปคนที่ทำงานในภาคธุรกิจเหล่านี้ เช่น โรงแรม สปา มัคคุเทศก์ บริษัททัวร์ บริษัทรถทัวร์ เรือท่องเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ภัตตาคาร เป็นต้น ก็จะเป็นคนที่เข้ามาเติมกำลังซื้อให้กับเศรษฐกิจได้ต่อไป

Advertisement

ขณะเดียวกัน แม้จะเริ่มได้เห็นปัจจัยบวกบ้างแล้ว แต่ก็ยังต้องติดตามนโยบายการเงินการคลังของต่างประเทศในประเทศต่างๆ ด้วย จะส่งผลต่อเรื่องค่าเงินบาทของไทย ปัจจุบันค่าเงินบาทถือว่าเป็นสกุลเงินอยู่ในระดับอ่อนค่าลงมา แต่ยังเป็นการอ่อนค่าไม่ได้ผันผวนอย่างรุนแรง ตามนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นประเทศมหาอำนาจ มีการเพิ่มและเร่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นเพื่อสกัดการเร่งตัวเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในสหรัฐ จึงทำให้ประเทศต่างๆ ไม่เพียงแต่ประเทศไทยค่าเงินบาทอ่อนค่าลง แต่ค่าเงินบาทในปัจจุบันของไทยยังถือว่าไม่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะไทยยังได้รับอานิสงส์จากเรื่องนี้ในส่วนของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้อยู่

อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องเฝ้าระวังในเรื่องของการปรับสมดุล เนื่องจากในด้านภาคส่วนที่กล่าวไปข้างต้น ก็จะได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ยังต้องติดตามนโยบายการเงินการคลังของไทย หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) (คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.) มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้น อยากให้ใช้วิธีแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากปรับขึ้นทันทีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดกลางและย่อยจะลำบาก เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้บางรายยังมีหนี้สินสะสมค้างอยู่ และความสามารถในการชำระหนี้ของเอสเอ็มอียิ่งแย่ลงไปอีก หากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น

ขณะเดียวกัน การลงทุนใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยแพงไม่คุ้มค่าจะลงทุนใหม่ เรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565

Advertisement

ขณะที่เรื่องราคาพลังงานเป็นอีกเรื่องสำคัญต้องติดตามใกล้ชิดเช่นกัน รวมถึงเรื่องแหล่งนำเข้าน้ำมันดิบจะต้องเปิดกว้างในการนำเข้าน้ำมันเพื่อนำมาขายในราคาที่ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถรับได้ เพราะปัจจุบันมองว่าน้ำมันดิบในโลกยังไม่ได้หายไปไหน ยังมีอีกหลายแหล่งที่เราสามารถนำเข้ามาได้ แต่ปัญหาใหญ่คือประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งหลายยังไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิต หวังว่าหลังจากนี้จะมีการเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น เพื่อให้ราคาพลังงานลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ไม่กระทบกับภาพรวม แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นปัจจัยลบหลัก กระทบต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)

เพราะราคาพลังงานเป็นต้นทุนพื้นฐานของประชาชนทั่วไป รวมถึงภาคการผลิต ทำให้คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ไว้ ภาคเอกชนส่วนใหญ่จึงเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ว่าจะอย่างไร จีดีพีปี 2565 ควรเติบโตได้ อยู่ที่ 3% แต่จะไปถึง 4% หรือไม่นั้น หากยังมีปัจจัยลบตามที่กล่าวข้างต้นอยู่ก็คงเป็นไปได้ยาก

แสงชัย ธีรกุลวาณิช
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

สํ าหรับภาพรวมของเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2565 นั้น มีปัจจัยบวก ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ลดความรุนแรงลงในระดับหนึ่ง พร้อมกับมาตรการผ่อนคลายการเปิดประเทศ ส่งผลภาคการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง สถานการณ์การส่งออกสินค้าของไทยที่ยังส่งผลเชิงบวกเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องระมัดระวังสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และในระดับโลกที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ก่อเกิดการเลือกข้างขึ้น

ขณะที่ปัจจัยที่อาจจะส่งผลเชิงลบกับเศรษฐกิจครึ่งปีหลังปี 2565 คือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่รุนแรง ปัจจัยสำคัญ คือ 1.สถานการณ์หนี้ 3 กอง รอระเบิดเวลา ได้แก่ หนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) หรือกว่า 1.4 ล้านล้านบาท หนี้เสียของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กำลังขยายวงกว้าง ต้องไม่ใช่การปรับโครงสร้างหนี้แล้วปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่ต้องมีระบบดูแลให้คำปรึกษาตลอด และหนี้นอกระบบ ที่เติบโตและเป็นปัญหาเรื้อรังของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย

2.สถานการณ์ราคาพลังงาน จากปัญหาราคาน้ำมันดิบโลกที่พุ่งสูง ทำให้ค่าก๊าซแอลพีจี ค่าไฟฟ้า และค่าขนส่งสินค้า ปรับตัวสูงขึ้นตาม 3.สถานการณ์ต้นทุน ปัจจัยการผลิตเอสเอ็มอี ที่วัตถุดิบสินค้าเกษตร ประมง ปศุสัตว์ปรับราคาสูงขึ้น จากปัญหาปุ๋ย และอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้น 4.สถานการณ์เงินเฟ้อ ส่งผลต่อภาคแรงงานรายได้ต่ำ และคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย 5.สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ต้องจับตาเฝ้าระวังกับสงครามแบ่งขั้วเลือกข้างที่จะขยายเป็นสงครามการค้า สงครามโลกหรือไม่ และ 6.สถานการณ์การเมืองไทยที่มีความไม่แน่นอน ทำให้การขับเคลื่อนนโยบาย มาตรการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี ขาดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ สิ่งที่รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรจะมีมาตรการหรือนโยบายอะไรที่เข้ามากระตุ้น ดูแล และฟื้นฟูเศรษฐกิจ คือ การนิยามเอสเอ็มอีให้เป็นนิยามเดียวกันทุกหน่วยงาน เพื่อการออกนโยบาย มาตรการ การตรวจสอบติดตามผลงาน ประเมินผล และแก้ไขปัญหาเชิงรุกให้มีทิศทางเดียวกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการธนาคาร ภาคการศึกษา และภาคประชาชน

สิ่งต่อมาคือ จัดกลุ่มแบ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตามสภาพปัญหากลุ่มเอสเอ็มอีเปราะบาง ให้แก้นิยามการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ให้เป็นเอสเอ็มอี เอ็นพีแอล (SME NPL) รหัส 21 ที่เกิดจากโควิด-19 และก่อนหน้านี้เป็นลูกหนี้ชั้นดีมาตลอด ด้วยแพลตฟอร์มการฟื้นฟูแก้หนี้ ร่วมกับการเติมทุน สำหรับผู้ประกอบการ หรือลูกหนี้ ได้รับการแก้ไข ปลดล็อกเอ็นพีแอลก่อน เพื่อคืนเอสเอ็มอีที่ดีสู่ระบบเศรษฐกิจไทย และจัดระดับความเข้มของ SME NPL ไม่ให้ติดกับดักทางการเงินในระบบ 3 ปี ต้องมีมาตรการฟื้นฟู ผ่อนปรน สนับสนุนให้กลับเข้าระบบ ไม่ไปใช้เงินกู้นอกระบบ

นอกจากนี้ ยังต้องแก้หนี้ เติมทุน และประเมินขีดความสามารถ
ด้วยกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่มีแพลตฟอร์มระบบบริหารจัดการแบบบล็อกเชน (Blockchain) โดยพัฒนาบ่มเพาะผู้ประกอบการตามสภาพปัญหารายธุรกิจ หรือกลุ่มธุรกิจ รวมกับจัดระบบที่ปรึกษาทางธุรกิจเอสเอ็มอี หรือพี่เลี้ยง เพื่อการดูแลให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ เชื่อมโยง ติดตาม ประเมินผล และช่วยเหลือด้านต่างๆ

ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปกติ หรือยังคงไม่อยู่ในสถานะที่ประสบปัญหาอะไร ก็ควรมีมาตรการ ด้านการส่งเสริมการค้าตลาดในประเทศและต่างประเทศ ให้มีทูตการค้าเอสเอ็มอีในทุกประเทศ ตั้งเป้าชี้วัดทุกประเทศช่วยเหลือการส่งออก และลดการนำเข้าเอสเอ็มอีที่ชัดเจน พร้อมส่งเสริมระบบแฟรนไชส์ของเอสเอ็มอี ให้มีการพัฒนาระบบนิเวศ ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ ผู้ซื้อแฟรนไชส์ แหล่งทุนสนับสนุน และการบ่มเพาะต่อเนื่อง เพื่อผู้ว่างงานและเอสเอ็มอีที่จะเปลี่ยนธุรกิจใหม่ ส่งเสริมให้เติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สร้างช่องทางการเข้าถึง เชื่อมโยงระบบนิเวศ นวัตกรรม หน่วย
บ่มเพาะนวัตกรรมจังหวัด มหาวิทยาลัย อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีและไม่ใช่ภาษี โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลดการนำเข้าด้วยการผลิตพึ่งพาตนเองให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งเชื่อมตลาดใน-ต่างประเทศ อาทิ ปัจจัยการผลิต เครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบ เป็นต้น

เอสเอ็มอี เครดิต สกอริ่ง (SME Credit Scoring) เพื่อช่วยส่งเสริมระบบประเมินขีดความสามารถผู้ประกอบการ ช่วยลดระยะเวลาพิจารณาสินเชื่อ การพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการให้เกิดความยั่งยืนในการบริหารธุรกิจ

สุดท้ายคือ การดูแลเรื่องแรงงานว่างงาน และบัณฑิตว่างงาน ด้วยการจัดทำระดับความน่าเชื่อถือ ผ่านคะแนนเครดิตแรงงาน (Labor credit scoring) และเครดิตธนาคาร (Credit bank) ของสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อัพสกิล (Up skills) การเชื่อมโยงจ้างงาน ความเป็นธรรมในการจ้างงาน และจับคู่งานที่ต้องการกับ
ผู้ประกอบการ รวมทั้งติดตาม ประเมินผลด้านแรงงานอย่างเป็นระบบ โดยมีระบบการประเมินและพัฒนาขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลควรมีมาตรการเร่งดูแลภาคแรงงานไทยกลุ่มเปราะบาง รายวัน หรือรายได้ต่ำ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ ด้านอาหาร ค่าโดยสาร เป็นต้น เพื่อบรรเทาวิกฤตค่าครองชีพสูง เงินเฟ้อในสภาวะปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image