คิดเห็นแชร์ : ความมั่นคงพลังงานในโลกยุคใหม่

ห่างหายไปหลายเดือน ผมต้องขอโทษด้วย … ส่วนหนึ่งเพราะเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีเรื่องมาเล่าเพิ่มเติมในวันนี้ อีกทั้งมีภารกิจส่วนตัวที่ต้องจัดการให้เรียบร้อยในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาครับ

ผมคงจะขอเขียนบทความในเรื่องพลังงานน้อยลงนะครับหลังจากนี้ เพราะว่าผมได้ยื่นใบลาออกจากกระทรวงพลังงานแล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการ กราบบังคมทูลขอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เรียบร้อยตามกระบวนการ ทั้งนี้ ด้วยเพราะผมได้รับการคัดสรรให้เตรียมที่จะเข้ารับตำแหน่งใหม่ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สบร.หรือ OKMD) ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ครับ คาดว่าจะสามารถเริ่มทำงานที่ใหม่ได้ในเร็วๆ นี้ ครับ

เลยจะขออนุญาตเล่าเรื่องที่ได้รับเชิญไปประชุมที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อปลายเดือน ก.ค.นี้ ให้เป็นบทความส่งท้ายในสาระเรื่องพลังงานครับ อนึ่ง ต้องเกริ่นนำว่าด้วยในรอบปีกว่าๆ ที่ผ่านมาผมได้รับคัดเลือกให้เป็น Clean EDGE Asia Fellow หรือ นักวิจัยสมทบจากสถาบัน National Bureau of Asian Studies (NBR) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (US. State Department) ที่ทาง NBR ได้คัดเลือกผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน หรือ Energy Transition จากประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศละ 1 คน (ยกเว้นอินเดีย มี 2 คน) ให้ได้ทำงานวิจัยเขียนบทความ และมาร่วมประชุมสัมมนาระดมสมองกัน ซึ่งที่ผ่านมาปีกว่าๆ ผมได้รับเกียรติให้เข้าร่วมบรรยาย และแสดงความคิดเห็นในหลายเวทีผ่านทางการประชุมออนไลน์ มีครั้งสุดท้ายนี้แหละครับ ที่ทางผู้จัดได้เชิญให้ไปร่วมและชูเป็นประเด็นหลักเกี่ยวกับ Energy Transition ใน ASEAN คือ ASEAN จะสามารถเปลี่ยนผ่านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลสู่การใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจังได้โดยไม่ยากนัก

หาก 3 เรื่องดังต่อไปนี้ได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งได้แก่

Advertisement

1.การลงทุนในโครงการ ASEAN Power Grid เพื่อเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงดันสูง (500 kv) ให้ครอบคลุมประเทศใน ASEAN ให้มากที่สุด

2.ให้มีการจัดตั้ง “ตลาดกลางการซื้อ-ขาย และแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้า” ของ ASEAN ขึ้นโดยให้มีองค์ประกอบทางเทคนิค ซึ่งได้แก่ ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) และองค์ประกอบในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ ตลาดกลาง (Market Operator) และระบบการจัดการ Payment & Tax Settlement

3.ควรให้แต่ละประเทศได้ปรับปรุงระบบกิจการไฟฟ้าของประเทศตัวเองให้มีกลไกยืดหยุ่น และเปิดเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับการ ซื้อ-ขาย กับผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละระดับ

Advertisement

ในบทความของผม ผมได้แสดงความเห็นว่าหากทำได้ดังกล่าวจะสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และเร่งการเปลี่ยนแปลงผ่านพลังงานสามารถขยายผลอย่างรวดเร็วได้

นอกเหนือจากเรื่องดังกล่าวแล้วยังมีโอกาสได้เข้าร่วมสัมมนาในหัวข้อ Energy Security ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้ทราบว่าทางอเมริกา ตระหนักและเป็นกังวลว่าความมั่นคงด้านพลังงานของโลกอาจจะมีปัจจัยใหม่ที่เกี่ยวกับ “แร่ธาตุสำคัญ” หรือ ที่เรียกว่า Critical Minerals or Rare Earth ที่หมายถึง แร่ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ แร่ลิเธียม โคบอลต์ นิเกิล และ แมงกานีส เป็นต้น

ประเด็นหลัก คือ แร่ธาตุเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่ภูมิภาค และที่สำคัญ ได้แก่ ในทวีปแอฟริกา และอเมริกาใต้ ซึ่งเหมืองแร่หลายแห่งใน 2 ทวีปนี้ได้ถูกบริษัทของจีนครอบครองไปหมดแล้ว และแถมยังมีการหยิบยกเรื่องการซื้อ-ขาย แร่ธาตุเหล่านี้มาเป็นประเด็นในการกีดกัน และตอบโต้ทางการค้า ระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน อีกด้วย ทำให้สินแร่เหล่านี้เริ่มแพง และหาได้ยากในตลาดทั่วไป ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ปลายทาง เช่น รถ EV และ แบตเตอรี่ ต่างๆ มีราคาแพงขึ้น (มาก) แถมการส่งมอบของก็อาจจะต้องใช้เวลานานมากๆ

ทั้งหมดที่กล่าวมา เพียงจะเล่าว่า มิติของความมั่นคงด้านพลังงานในโลกยุคใหม่ อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับแค่เรื่องน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า เท่านั้น แต่ยังไปโยงถึงนโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ผมยังรู้สึกเหมือนว่าหลายๆ ประเทศใน ASEAN (รวมทั้งไทย) จะยังเป็นนโยบายตั้งรับอยู่เยอะเลย … เรื่องนี้อาจสั่นคลอนความมั่นคงด้านพลังงานของภูมิภาคได้ทีเดียวนะครับ

ในโอกาสต่อๆ ไป ผมจะขอแชร์บทความในสาระที่หลากหลายมากขึ้นนะครับ ตามที่จะมีโอกาสได้สัมผัสตามวาระของตำแหน่งใหม่ที่สำนักงาน OKMD ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image