ขันนอตท่องเที่ยวไทย ‘พิพัฒน์’ นำทัพ ‘ททท.’ รับลูก ปักธงกวาดรายได้ 1.5 ล้านล.

ขันนอตท่องเที่ยวไทย ‘พิพัฒน์’นำทัพ‘ททท.’รับลูก ปักธงกวาดรายได้1.5ล้านล.

ขันนอตท่องเที่ยวไทย ‘พิพัฒน์’ นำทัพ ‘ททท.’ รับลูก ปักธงกวาดรายได้ 1.5 ล้านล.

เหลือเดือนเศษๆ จะก้าวเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) อย่างเต็มตัวแล้ว หรือเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมของปีซึ่งก็มีความคาดหวังการกลับมาฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างแรงกล้าอีกครั้ง หลังจากเกิดการระบาดโควิด-19มากว่า 2 ปี ทำให้ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คู่กับภาคการส่งออกต้องมอดดับไปนาน จนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องล้มหายตายจากไปบางส่วน แม้กลับมาใหม่ได้บ้าง แต่ก็เห็นหลายรายที่ยังไม่กลับมาแบบปิดตายไปจำนวนมาก ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นเต็งหนึ่ง!!

⦁ติดเครื่องยนต์‘ท่องเที่ยวไทย’

ในระหว่างทางนับตั้งแต่ต้นปี 2565 เรื่อยมา เห็นจำนวนคนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศคึกคักขึ้น ถือเป็นตัวสร้างกำลังใจให้เหล่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่เชื่อว่าแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ น่าจะใกล้ได้เห็นมากขึ้นแล้วโดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลยกเลิกระบบไทยแลนด์พาส เมื่อวันที่1 กรกฎาคม 2565 อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าเงื่อนไขในการเข้าไทยกลับไปสู่ช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว ทำให้เดือนกรกฎาคม 2565 ถือเป็นเดือนแรกที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยทะลุ 1 ล้านคน ซึ่งนับเป็นล้านแรกในรอบ 2 ปีกว่า ที่เกิดโควิดระบาดขึ้น

แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในตอนนี้จะยังเทียบไม่ได้กับช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด เมื่อปี 2562 ที่มีต่างชาติเข้ามาเกือบ 40 ล้านคน สร้างรายได้ 1.93 ล้านล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวที่สร้างรายได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย รัสเซีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งไม่แตกต่างจากในปีนี้เพราะนักท่องเที่ยวประเทศหลักๆ ที่เข้ามาเที่ยวไทยอันดับต้นๆก็เป็นอินเดีย มาเลเซีย และรัสเซีย ยกเว้นจีน ที่รัฐบาลจีนยังไม่เปิดประเทศให้พลเมืองเดินทางเที่ยวนอกประเทศ

Advertisement

⦁ไฮซีซั่นแตะ1.5ล้านคน/เดือน

เมื่อภาพรวมทยอยดูดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้แทบทุกหน่วยงานหรือองค์กร อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) นักวิเคราะห์ นักวิชาการ ต่างประเมินว่า ความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปในช่วงครึ่งหลังปีนี้จนถึงปี 2566 ก็คือภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่น คาดว่าจะได้เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้นแบบล้นทะลัก เพราะเป็นช่วงเดินทางของชาวยุโรป ซึ่งปกติจะเลือกประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางแรกในการออกมาท่องเที่ยวต่างประเทศเสมอมา

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงภาพรวมการท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน หลังจากรัฐบาลได้ยกเลิกระบบไทยแลนด์พาส เมื่อวันที่1 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน และ 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ (ตุลาคม-ธันวาคม 2565) จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยมากกว่า 1.5 ล้านคนต่อเดือน ทำให้เชื่อมั่นว่าเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งปี 2565 จะได้ตามเป้าหมายที่คาดไว้ 10 ล้านคนแน่นอน สะท้อนจากตัวเลข 7 เดือนแรก 2565 (มกราคม-กรกฎาคม 2565) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยสะสมแล้ว 3.15 ล้านคน และสร้างรายได้ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกว่า 1.57 แสนล้านบาท

Advertisement

⦁อ้อนขอเงิน1พันล้านอัดฉีด

รัฐมนตรีท่องเที่ยวยังระบุอีกว่า เป้าหมายของภาคการท่องเที่ยวไทยทั้งปี 2565 ต้องการสร้างรายได้รวมที่ 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัวในสัดส่วน 50% ของรายได้รวม เมื่อเทียบปี 2562 ซึ่งมีรายได้ 3 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน สร้างรายได้ 8 แสนล้านบาท และตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 6.56 แสนล้านบาท

“หากจะไปให้ได้ตามเป้าหมาย ทั้งจำนวนและรายได้ รัฐบาลต้องอัดฉีดงบประมาณเพิ่มให้ 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการทำตลาดและกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงที่เหลือในปีนี้ เพราะหากไม่มีเงินให้ ก็ไม่สามารถทำอะไรเพิ่มเติมได้ จึงขอความกรุณานายกรัฐมนตรีในการอัดฉีดเงินเพิ่ม เพื่อให้ได้ตามเป้าคาดหวังไว้ 10 ล้านคน เป็นรายได้จากต่างชาติ ที่ตอนนี้มั่นใจว่าได้ 1.2 ล้านล้านบาทแน่นอน แต่จำนวน 1.5 ล้านล้านบาทตามเป้านั้น จะต้องใช้กลยุทธ์จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการทำตลาด ทำให้ต่างชาติสามารถใช้จ่ายได้มากขึ้น และอาศัยงบประมาณจากรัฐบาลในการจัดแคมเปญกระตุ้นตลาดร่วมด้วย” นายพิพัฒน์กล่าว

⦁เดินหน้าทำตลาดเต็มสูบ

ด้าน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้ททท.จะเดินหน้าทำตลาดท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศแบบเต็มที่ ตามงบประมาณที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเป็นแรงส่งต่อปี 2566 ดีที่สุด เนื่องจากได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว เตรียมทำการตลาดควบคู่กันล่วงหน้า โดยวางเป้าหมายรายได้ของภาคการท่องเที่ยวไทยรวมอยู่ที่ 1.25-2.38 ล้านล้านบาท มีค่ากลางที่ 1.73 ล้านล้านบาท และวางเป้าหมายตำแหน่งทางการตลาดไว้ คือ ไทยจะเป็นประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงสุด ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก จากเดิมในปี 2562 ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ไทยอยู่อันดับที่ 4จากทั่วโลก ซึ่งเป็นผลจากที่ไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวก่อนประเทศอื่นๆ ด้วย

“การทำการตลาดในปี 2566 วางแผนไว้ว่าจะไม่รอให้จีนกลับมาเที่ยวไทยเพียงด้านเดียว โดยจะต้องบุกไปยังเมืองใหม่ๆ ของตลาดเดิม อาทิ ตลาดสหรัฐ ที่จะเข้าไปยังตอนกลางของประเทศมากขึ้น อย่างเมืองพอร์ทแลนด์ รัฐออริกอนเมืองซอลต์เลกซิตี้ และบุกตลาดใหม่ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย โอมาน รวมทั้งสร้างกระแสให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรียูเนียน หรือกลุ่มที่กลับมาพบปะสังสรรค์กันที่ประเทศไทยใหม่อีกครั้ง หลังจากต้องหยุดเดินทางไปกว่า 2 ปี เนื่องจากเกิดการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา”

นายยุทธศักดิ์กล่าวเสริมว่า รวมถึงสิ่งที่ทิ้งไม่ได้คือ การกระตุ้นให้เกิดการเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้น แม้การใช้จ่ายและความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยว จะไม่สามารถชดเชยนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ แต่เราก็ต้องหันมาให้ความสำคัญกับตลาดไทยเที่ยวไทยมากขึ้น เพื่อเสริมเกราะป้องกันไม่ให้ภาคการท่องเที่ยวทรุดหนัก ในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤต ต่างชาติไม่สามารถมาเที่ยวไทยได้ ถือเป็นการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยไว้ว่า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จะเข้ามาช่วยให้มุมมองเกี่ยวกับรายได้ และการจ้างงานปรับดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเดินทางเข้ามามากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4 หรือไฮซีซั่นนี้ ที่คาดหวังว่าต่างชาติจะเข้ามาเที่ยวไทยทะลุ 1 ล้านคนต่อเดือน บวกกับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างโครงการคนละครึ่ง ก็จะเข้ามามีส่วนช่วยประคับประคองครัวเรือนได้บางส่วน เพราะหากมองไปในระยะข้างหน้า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน ยังมีแนวโน้มเปราะบางจากสถานการณ์ราคาสินค้าที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการสู่ผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยครอบคลุมไปถึงอาหาร และบริการ ขณะที่ราคาสินค้าและบริการต่างๆ อาทิ ก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ยังมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นในลักษณะขั้นบันได ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมยังมีความเสี่ยงอยู่อย่างต่อเนื่อง

จากมุมมองภาครัฐและเอกชนข้างต้น สะท้อนว่าภาคท่องเที่ยวไทย ยังเป็นความหวังที่สำคัญและกลับมาเป็นเครื่องยนต์ที่ติดสปีดเร็วและแรง ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image