เฉลียงไอเดีย : ปตท.พลิกโฉม!! รุกผลิต แพลนต์ เบส ป้อนคนไทย …ตอกย้ำผู้นำธุรกิจแห่งอนาคต

ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่กับการขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต (Powering Life with Future Energy and Beyond) เพื่อสร้างความมั่นคงพลังงาน และสนับสนุนการดำเนินงานให้เติบโตไปสู่พลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงทุ่มเม็ดเงินมหาศาลกว่า 30% ของงบลงทุนรวม ผลักดันธุรกิจ 2 ขาหลัก คือ Future Energy และ Beyond เน้นความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตรวดเร็ว ไม่ได้เริ่มจากศูนย์

กลุ่ม Future Energy คือการมุ่งสู่เทรนด์พลังงานในอนาคตที่หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน วางเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวม 12,000 เมกะวัตต์ในปี ค.ศ.2030 จากปัจจุบันอยู่ที่ 2,000 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งรุกสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าตลอดซัพพลายเชน โดยตั้งบริษัท อรุณพลัส จำกัด ขับเคลื่อน นอกจากนี้ยังรุก ไฮโดรเจน พลังงานอนาคตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ขณะที่กลุ่ม Beyond คือการมุ่งเน้นในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ประกอบด้วย Life Science วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอาหารเพื่อสุขภาพ), Mobility and Lifestyle, High value business เป็นการต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมี, Logistics and Infrastructure การพัฒนาระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และ AI, Robotics, and Digitalization ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง รวมถึงการผลิตจักรกลอัจฉริยะ

Advertisement

โดย Life Science วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต คือตัวจุดประกายไอเดียที่ ปตท.พาคณะสื่อมวลชน ราว 30 ชีวิต ร่วมทริปบินลัดฟ้าสู่สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 22-28 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเปิดประสบการณ์การศึกษาดูงานนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจอาหารโปรตีนจากพืช หรือแพลนต์ เบส (Plant-based) ธุรกิจใหม่ตามวิสัยทัศน์ที่ประกาศไว้

แพลนต์ เบส ถูกขับเคลื่อนโดยบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด บริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ บริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทย่อยของบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ตั้งบริษัทร่วมทุน “บริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด” (NRPT) เพื่อรุกธุรกิจอาหารแพลนต์ เบส เต็มรูปแบบ

ล่าสุด NRPT ได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษ หรือ Plant & Bean (UK) เดินหน้าจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศไทย (Plant & Bean (Thailand)) NRPT ถือหุ้นสัดส่วนการลงทุน 51% และ Plant & Bean (UK) 49%

Advertisement

บริษัทน้องใหม่ Plant & Bean (Thailand) วางแผนก่อสร้างโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชแก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการด้านอาหาร ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ในเดือนกันยายนนี้ ตั้งเป้าหมายก่อสร้างเสร็จกลางปี 2566

เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพของ Plant & Bean (UK) ที่มีประสบการณ์ที่คลุกคลีในแวดวงอาหารมานานนับสิบปี คณะดูงานได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานผลิต แพลนต์ เบส ใหญ่สุดในยุโรป ที่เมืองบอสตัน เมืองเกษตรกรรมแหล่งปลูกพืชผักป้อนภายในประเทศอังกฤษ

แม้สภาพอากาศจะไม่เป็นใจ ฝนตกชุ่มฉ่ำตลอดทริป แต่ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ โดยเฉพาะการเยี่ยมชมกระบวนการผลิต ตลอดจนการชิมอาหารแพลนต์ เบส ที่อร่อยและหลากหลาย

โรงงานผลิต แพลนต์ เบส ของ Plant & Bean (UK) ปัจจุบันมีกำลังผลิตประมาณ 10,000 ตันต่อปี อนาคตมีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ตันต่อปี สามาถผลิตโปรตีนจากพืชตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ มีการแพคสินค้าพร้อมส่งได้ทันที

เดิมที่ตั้งโรงงาน Plant & Bean (UK) เคยเป็นโรงงานผลิตเนื้อมาก่อน ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปรับปรุงรสชาติ เนื้อสัมผัส และรูปลักษณ์ให้เหมือนกับการรับประทานเนื้อสัตว์ ควบคู่ไปกับการพัฒนากระบวนการผลิต จึงเป็นโรงงานผลิต Plant-based ที่มีคุณภาพและราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้บริโภคเข้าถึงได้

“เจมส์ เฮิร์สท์” ซีอีโอบริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ แพลนต์ เบส ของบริษัทใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบเป็นหลักซึ่งได้รับการรับรองว่าปราศจากการตัดแต่งพันธุกรรม รวมทั้งมีการใช้ข้าวสาลี เห็ดและถั่วชนิดอื่นๆ มาเป็นวัตถุดิบ เพื่อให้เนื้อสัมผัสใกล้เคียงเนื้อจริง ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมีทั้งมีตบอล ไส้กรอก นักเก็ต ฯลฯ โดยรับจ้างผลิตแบรนด์สินค้าต่างๆ ควบคู่กับการพัฒนาการใช้วัตถุดิบชนิดอื่นๆ ที่หาได้ในอังกฤษมาใช้เป็นวัตถุดิบด้วย เพื่อตอบรับกระแสการบริโภคแพลนต์ เบส ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นสำหรับคนที่รักสุขภาพ และยังเป็นการช่วยลดโลกร้อน

ซีอีโอ Plant & Bean (UK) บอกถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานการผลิตโปรตีนทางเลือกแห่งที่ 2 ว่า เดิมบริษัทมีแผนจะเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่สหรัฐอเมริกาและจีน เนื่องจากทั้งสองประเทศมีแหล่งวัตถุดิบ แต่ NRPT ได้เข้ามาติดต่อร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตแพลนต์ เบส แห่งใหม่ในประเทศไทย โดยมีเป้าทำตลาดป้อนในภูมิภาคเอเชียตั้งแต่ญี่ปุ่นถึงออสเตรเลีย จึงเป็นโอกาสดีในการขยายตลาดสู่เอเชีย

นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นประเทศเกษตรกรรมมีพืชหลายชนิดที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแพลนต์ เบส ไม่ว่าจะเป็นถั่วเขียวที่ให้เนื้อสัมผัสเหมือนไข่ ขนุนและเห็ดมีเนื้อสัมผัสเหมือนเนื้อวัวและเนื้อไก่ ขณะที่การแปรรูปเป็นอาหารจำเป็นต้องมีทีมวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้อาหารที่มีรสชาติถูกปากผู้บริโภค

ซึ่งโรงงานแห่งใหม่ในไทย ทาง Plant & Bean (UK) จะเป็นผู้ออกแบบโรงงานวางระบบและนำเทคโนโลยีการผลิต Plant-based จากอังกฤษมาใช้ เฟสแรกมีขนาดกำลังผลิต 3,000 ตันต่อปี ใช้เงินลงทุนราว 500 ล้านบาท มีแผนผลิตเพื่อส่งออกในภูมิภาคเอเชีย 40-50% ของกำลังการผลิต คาดว่าจะรองรับการบริโภคของตลาดประมาณ 3 ปี จากนั้นมีแผนขยายกำลังผลิตเฟส 2 เพิ่มเป็น 15,000 ตันต่อปี

มร.เจมส์ เฮิร์สท์ ระบุด้วยว่า NRPT ยังได้จับมือกับสตาร์ตอัพแบรนด์อาหารแพลนต์ เบส 100% อย่าง “Wicked Kitchen” ซึ่งเป็นแบรนด์ที่รังสรรค์อาหาร
แพลนต์ เบส แบรนด์แรกๆ โดย 2 เชฟมืออาชีพที่เป็นผู้นำในวงการอาหารโปรตีนจากพืชเป็นผู้ก่อตั้ง ครีเอตเมนูอาหารที่มีรสชาติอร่อยและหลากหลายภายใต้
คอนเซ็ปต์รับประทานอาหารแพลนต์ เบส ได้ทุกมื้อ ทำให้ผู้บริโภคต้องกลับมารับประทานใหม่อีกครั้งถึง 40%

คณะดูงานได้มีโอกาสบุกถึงครัวเพื่อชมขั้นตอนการทำอาหารที่สดใหม่แต่ใส่ใจสุขภาพของ Wicked Kitchen ด้วย

ปัจจุบัน Wicked Kitchen มีสินค้าทั้งอาหารคาวและหวาน ไอศกรีม รวมมากกว่า 200 รายการ (SKU) ขายสินค้าผ่านช่องทางร้าน Tesco ที่มีถึง 3 พันสาขา ทำให้ Wicked Kitchen มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในอังกฤษ ดังนั้นทาง NRPT จึงได้เจรจากับ Wicked Kitchen เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในแถบเอเชีย

นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบรนด์ Wicked Kitchen จำนวน 17 รายการ มีทั้งกลุ่มอาหารแช่แข็ง อาหารคาว อาทิ พิซซ่า ของหวานอย่างไอศกรีม ที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2565 ผ่านช่องทางท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต รวม 50 สาขาในเครือเซ็นทรัล จากนั้นจะขยายไปยังตลาดสิงคโปร์และญี่ปุ่น หากได้รับการตอบรับที่ดีมีแผนผลิตอาหารแบรนด์ Wicked Kitchen ในไทยโดยใช้ฐานการผลิตจากโรงงาน Plant&Bean ที่พระนครศรีอยุธยา

ด้าน “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า กระแสการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและรักสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ทำให้มูลค่าธุรกิจโปรตีนจากพืชในไทยเติบโตขึ้น ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองก็มีแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายในการผลิตแพลนต์ เบส ไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง ถั่วเขียวและเห็ด ช่วยสร้างมูลค่าราคาสินค้าเกษตรของไทยให้สูงขึ้น

ปตท.จะให้ความรู้ผ่านสหกรณ์และชุมชนเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ และซื้อในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม เหมือนกับการส่งเสริมการปลูกและรับซื้อกาแฟของคาเฟ่ อเมซอน ของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์

ซีอีโอ ปตท.ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันราคาสินค้าแพลนต์ เบส ในไทยสูงกว่าเนื้อจริงราว 30-40% แต่เชื่อว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ราคาผลิตภัณฑ์แพลนต์ เบส จะขยับลดลงมาใกล้เคียงหรือต่ำกว่าเนื้อจริง เหมือนกับที่เกิดขึ้นในยุโรปที่ภาวะอัตราเฟ้อสูงทำให้ต้นทุนเนื้อสัตว์สูงขึ้น 40-50% แต่สินค้าแพลนต์ เบส เพิ่มขึ้นเพียง 10-20% เท่านั้น

“หากสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชมีรสชาติอร่อยถูกปาก ตลาดก็ยิ่งเติบโตขึ้น โดยปี 2564 มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์แพลนต์ เบส ในไทยอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท โตขึ้น 15% ต่อปี เชื่อว่าการรุกตลาดในช่วงนี้เหมาะสม ทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำการส่งออกอาหารโปรตีนจากพืชในภูมิภาคเอเชีย และยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืนด้วย” ซีอีโอ ปตท.ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image