ส่องเมืองอัจฉริยะ ‘ฮาเนดะ-โยโกฮามา’ โมเดลต้นแบบ‘นิคมสมาร์ทปาร์ค’

หากไม่มีอะไรเข้าแทรก ภายในปี 2567 ประเทศไทยจะบันทึกชื่อ “นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค” แหล่งรวมอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เป็นนิคมอัจฉริยะแห่งแรกของประเทศ

สำหรับ “นิคมสมาร์ทปาร์ค” มีพื้นที่ 1,400 ไร่ ตั้งอยู่ ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.ระยอง มีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ด้วยเม็ดเงินลงทุน 2,370 ล้านบาท ภายใต้แนวคิด “นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะเชิงนิเวศ” ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ โดยใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ ตั้งแต่ระบบสาธารณูปโภค นำสายไฟลงใต้ดิน การจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รวมทั้งให้โรงงานติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

ขณะที่ กนอ.กำลังเดินเครื่องก่อสร้างอย่างเต็มสูบ ในทางคู่ขนานได้เดินสายโรดโชว์ ดูงาน ดูดนักลงทุนมาเช่าพื้นที่ ช่วงระหว่าง วันที่ 25-27 สิงหาคมที่ผ่านมา “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงนำทีมงาน กองทัพสื่อ บินลัดฟ้าบุกประเทศญี่ปุ่น ตะลุยดูการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อนำมาเป็นโมเดลต้นแบบ
หมุดหมายแรก “ฮาเนดะ อินโนเวชั่น ซิตี้” อยู่ในเขตโอตะ กรุงโตเกียว เป็นที่เดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยมาเยี่ยมชมเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน เพื่อนำไปต่อยอดโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทย

“ฮาเนดะ ซิตี้” เป็นหนึ่งในโครงการเมืองอัจฉริยะตามนโยบายยุทธศาสตร์แห่งชาติเขตเศรษฐกิจพิเศษของญี่ปุ่น อยู่ห่างจากโตเกียวโดยใช้เวลาเดินทางเพียง 30 นาที มีสนามบินนานาชาติฮาเนดะเชื่อมการเดินทางและเป็นประตูสู่ญี่ปุ่น

Advertisement

แรกเริ่มเดิมทีเมืองแห่งนี้ ถูกพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมหนักประเภทแปรรูปโลหะ เครื่องจักร ในยุคเฟื่องฟูมีผู้ประกอบการกว่า 9,000 บริษัท แต่หลังอุตสาหกรรมเกิดภาวะถดถอยจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวไปตามสภาวะการแข่งขันและเทรนด์โลก

กลายเป็นจุดพลิกโฉมไปสู่นิคมอุตสาหกรรมใหม่ เป็นแหล่งรวมศูนย์วิจัยและทดลองเทคโนโลยีล้ำสมัย ด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ หุ่นยนต์อัจฉริยะ การแพทย์ และสถานีไฮโดรเจนที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเมืองขนาดย่อม มีร้านค้า โรงแรม สำนักงาน โรงพยาบาล ศูนย์จัดการประชุมและการแสดงที่ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่น รองรับผู้มาเยี่ยมชมเทคโนโลยีและวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยทั้งโครงการจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2566

Advertisement

ปัจุบันภายในโครงการนำสิ่งที่ทดลองออกมาสู่การใช้จริง ไม่ว่ารถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับที่นำมาวิ่งบริการ รวมถึงเริ่มนำหุ่นยนต์มาทดลองช่วยงานในคาเฟ่แบบครบวงจร เตรียมจะนำออกมาใช้จริงภายในปีนี้ หลังญี่ปุ่นมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง

จาก “ฮาเนดะ ซิตี้” มุ่งหน้าไปต่อที่ “โยโกฮามา” เยี่ยมชมการพัฒนา “เมืองโยโกฮามา” จากเมืองเก่าแก่อายุ 170 ปี ให้เป็น “สมาร์ทซิตี้” หรือเมืองอัจฉริยะ

“ฮิชิโมโตะ โทรุ” อธิบดีกรมการต่างประเทศ เมืองโยโกฮามา ให้ข้อมูลว่า เมืองโยโกฮามาห่างจากโตเกียวประมาณ 30 กิโลเมตร มีขนาดพื้นที่ 453 ตารางกิโลเมตรและอยู่ติดทะเล ซึ่งตลอด 170 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมมี 50 หมู่บ้าน หลังเมืองมีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมมากขึ้น ประชากรก็เพิ่มขึ้นตามอย่างรวดเร็ว และเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น รถติด การกำจัดขยะ ความแออัด จึงวางแผนพัฒนาเมืองใหม่ขึ้นมา ด้วยการถมทะเล ใช้เวลาถึง 40 ปี กว่าจะทำให้โยโกฮามาจากเมืองท่า อู่ต่อเรือ ที่แวดล้อมด้วยอุตสาหกรรม กลายมาเป็นสมาร์ท ซิตี้ อย่างเต็มรูปแบบในปัจจุบัน

“การสร้างเมืองต้องใช้เวลามากพอสมควร เริ่มจากวางมาสเตอร์แพลน ออกแบบ ก่อสร้าง หลังถมทะเลได้สร้างอาคารต่างๆ ขึ้น ไล่ตามระดับความสูงของแต่ละพื้นที่ ทั้งที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน อาคารชมวิวที่สร้างสูงถึง 173 เซนติเมตร เพื่อพัฒนาเป็นแลนด์มาร์กด้านท่องเที่ยว ซึ่งทุกอาคารจะคำนึงถึงเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านระบบต่างๆ ที่สร้างมารองรับ” ฮิชิโมโตะ โทรุกล่าว

ไม่ใช่แค่ประเทศญี่ปุ่นที่ใช้มาสเตอร์แพลนนี้ “ฮิชิโมโตะ โทรุ” บอกว่า มีแผนใช้เป็นโมเดลพัฒนาที่ประเทศไทยด้วย เนื่องจากโยโกฮามาได้เซ็นบันทึกความร่วมมือกับบริษัทอมตะ จะพัฒนาสมาร์ทซิตี้ที่ จ.ชลบุรี และร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ พ.ศ.2564-2573 เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ

ขณะที่ กนอ. “ผู้ว่าการวีริศ” ย้ำว่า จะนำโมเดลฮาเนดะ ซิตี้ ไปพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแนวใหม่ที่ กนอ.สร้าง เช่น นิคมสมาร์ทปาร์ค จะนำระบบหุ่นยนต์ และ Digital Twin เป็นการสร้างโลกนิคมอุตสาหกรรมเสมือนจริงมาใช้ โดยเริ่มนำ Digital Twin ทดลองใช้ที่นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครแล้ว ส่วนโครงการโยโกฮามา สมาร์ทซิตี้ จะนำมาประยุกต์ใช้กับนิคมแนวใหม่ที่ กนอ.กำลังดำเนินการเช่นกัน เพื่อให้เมือง ชุมชน อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันได้

ภายใต้วิกฤตไฟสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังลุกโชน ลุกลามเป็นวงกว้าง ทำให้หลายประเทศมองหาเซฟโซนเพื่อย้ายฐาน ขยายการลงทุน แล้วโอกาสประเทศไทยอยู่ตรงไหน?

ในประเด็นนี้ “วีริศ” มองว่าประเทศไทยจะเป็นหมุดหมายที่ต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น หลังได้ร่วมโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีบริษัทญี่ปุ่นรายหนึ่ง เป็นผู้ผลิต Printed Circuit Board (PCB) สำหรับใช้ในรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นลูกค้าที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในไทยอยู่แล้ว ตัดสินใจจะย้ายฐานการผลิตมาตั้งในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ที่ จ.ชลบุรี โดยขยายการลงทุนอีก 3,000 ล้านบาท จะเริ่มงานก่อสร้างต้นปี 2566 และเดินเครื่องผลิตในอีก 2 ปีข้างหน้า

“การที่นักลงทุนญี่ปุ่นสนใจลงทุนเพิ่ม เป็นการยืนยันว่าการที่สองประเทศยักษ์ใหญ่มีปัญหา จะเป็นโอกาสของไทยที่จะได้ประโยชน์ และวันที่พบนักลงทุนญี่ปุ่นเขาบอกว่าเลือกมาที่ไทย เพราะมีจุดแข็งที่น่าสนใจมากกว่าเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ทั้งความมั่นคงด้านแรงงาน ทำเลที่ตั้ง ระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค แม้ค่าแรงของไทยจะเพิ่มและสูงกว่าก็ตาม” วีริศฉายภาพ

พร้อมกับย้ำว่า…ปีนี้หลังเปิดประเทศ ทำให้ประเทศไทยเนื้อหอม มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มีทั้งบริษัทจีน และยุโรปที่ขออนุญาตการลงทุน สิ่งที่ กนอ.และบีโอไอต้องทำกันต่อไป คือการเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ให้กับนักลงทุนเป็นการจูงใจ เช่น ลดภาษีสำหรับบริษัทที่มีนโยบายลดพลังงาน ลดคาร์บอน หรือการหาที่อยู่อาศัยให้ผู้บริหาร โดยให้มีสิทธิเป็นเจ้าของได้ รวมถึงสิทธิประโยชน์ให้กับครอบครัว ด้วยการให้วีซ่าระยะยาว เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนมากขึ้น

“บีโอไอให้สิทธิสูงสุด 13 ปี หากมีเรื่องสิ่งแวดล้อมและสมาร์ทซิตี้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การได้สิทธิต่างๆ จะสะดวกและง่ายขึ้น ซึ่งบีโอไอกำลังร่างเกณฑ์สมาร์ทซิตี้ แบบไหนถึงจะเข้าเกณฑ์ หลังมีเอกชนหลายรายสนใจ เช่น WHA อมตะ รวมถึงกำลังดูรูปแบบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ใหม่หลังของเก่ากำลังจะหมดอายุ เพื่อจูงใจ เพิ่มการแข่งขันได้มากขึ้น คาดว่าจะประกาศออกมาปลายปีนี้” วีริศกล่าว

ไม่ใช่เฉพาะสิทธิประโยชน์จากบีโอไอเท่านั้น ในส่วนของ “กนอ.” กำลังจะออก
แพคเกจจูงใจต่างชาติ เข้ามาลงหลักปักฐานในนิคมสมาร์ทปาร์ค

“หลังเราเริ่มงานก่อสร้าง มีนักลงทุนต่างชาติสนใจเช่าพื้นที่ในนิคมสมาร์ทปาร์คแล้ว 5% เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งระหว่างเดินหน้าก่อสร้าง ก็โรดโชว์คู่ขนานไปด้วย และเร็วๆ นี้จะขออนุมัติจากคณะกรรมการ หรือบอร์ด ออกแพคเกจ การให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน เช่น คิด
ค่าเช่า 50%”

ไม่เพียงเท่านั้น “วีริศ” ยังบอกว่า เดือนตุลาคมนี้ กนอ.จะเดินทางไปโรดโชว์ประเทศเกาหลี เพื่อเดินหน้าโปรเจ็กต์ก่อสร้างนิคมอัจฉริยะในอีอีซี ที่ร่วมกับบริษัท Korea Land and Housing Corporation หรือ LH บริษัทรัฐวิสาหกิจของเกาหลี ต่อยอดความร่วมมือที่เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันเตรียมจะเซ็น MOU กับรัฐบาลจีน พัฒนานิคมแห่งใหม่ เกาะแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา รถไฟทางคู่ และพื้นที่อีอีซี

เป้าหมายขยายการลงทุนในไทย เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง…รับเศรษฐกิจโลกขาขึ้นรอบใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image