เริ่มศักราชใหม่ เศรษฐกิจ 2566 ปัจจัยเสี่ยง แซง ปัจจัยหนุน

เริ่มศักราชใหม่ เศรษฐกิจ 2566 ปัจจัยเสี่ยง แซง ปัจจัยหนุน

เริ่มศักราชใหม่ เศรษฐกิจ 2566 ปัจจัยเสี่ยง แซง ปัจจัยหนุน

ขึ้นปีใหม่ 2566 มากับความรื่นเริงได้ระดับหนึ่ง กับการออกเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่าย หลังจากอั้นช่วงเกิดโควิดระบาดซ้ำแล้วซ้ำอีกกว่า 2 ปี ก่อนที่จะเข้า “งานจริง” กับสารพันปัญหาที่ต้องเผชิญจากนี้ ทั้งภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม ต้นทุนแพง กำลังซื้อคนในประเทศและนอกประเทศฟื้นได้ตามคาดหรือยัง อีกทั้งปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้ หรือปัญหาค้างคาข้ามปีจะจบลง ยืดเยื้อ หรือปะทุขึ้นมาอีก

และจริงหรือ! ที่ทุกสำนักทางวิชาการ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้ความหวังว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 ดีกว่าปี 2565 แม้ขึ้นต้นปี “เจอเรื่องร้าย” แต่ปลายปี “จะดีขึ้น” จากความผันแปรของปัจจัยหนุนและปัจจัยเสี่ยง

ก็ต้องมาดูว่ามีอะไรที่เป็นข่าวดีอะไรเป็นข่าวร้าย ที่ใกล้ตัวเราๆ!!

Advertisement

⦁เอกชนนั่งไม่ติด!ค่าไฟพุ่ง

ผลจากไฟสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กดดันราคาพลังงานทั้งโลกพุ่งทยาน ส่งผลให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงประเทศไทยที่ต้องพึ่งพานำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จึงส่งผลตรงต่อการผลิตไฟฟ้า โดยปีกระต่าย 2566 นี้ ล่าสุด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เดือนมกราคม-เมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยยังคงต้องจ่ายค่าเอฟทีเท่าเดิม คือ อัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฐาน จะจ่ายรวม 4.72 บาทต่อหน่วย ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มอื่นๆ รับข่าวร้ายเต็ม!! ต้องจ่ายค่าเอฟที 190.44 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฐานจะจ่ายรวม 5.69 บาทต่อหน่วย

ผู้ใช้กลุ่มอื่นนั้นส่วนใหญ่ คือ ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ แน่นอนเสียงค้านดังๆ จากบรรดาเจ้าสัว เจ้าของโรงงาน เจ้าของธุรกิจต่างๆ ดังมาไกลและผนึกกันในรูปคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดย กกร.ทำหนังสือตรงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และขอการเข้าพบ!!

Advertisement

ฟากภาครัฐ รู้เต็มอกว่าโดนต่อต้านแน่ กระทรวงพลังงาน และ กกพ. ตลอดหน่วยงานดูแลเชื้อเพลิง ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จึงเดินหน้ารื้อโครงสร้างค่าไฟเอกชน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ก่อนเดดไลน์ไม่กี่วัน กกพ.เคาะค่าเอฟทีเอกชนใหม่ เป็น 154.92 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับค่าไฟฐาน จะจ่ายทั้งสิ้น 5.33 บาทต่อหน่วย หรือลดลง 35.52 สตางค์ต่อหน่วย งวดแรกของปีรับไปก่อน ลุ้นต่อไปอีก 2 งวดที่เหลือของปี

หลังเอกชนได้รับข่าวดี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินเกมรุก เชิญ กกร.เข้าหารือ นำโดย สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. แต่ที่น่าสนใจ คือ ไม่มีตัวแทนหลักๆ จาก ส.อ.ท. ผู้เปิดประเด็นร้อนแรงนี้ หลังประชุม รองนายกฯสุพัฒนพงษ์ ให้คำมั่นเตรียมรับฟังความเห็นเอกชนทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดโครงสร้างค่าไฟที่เป็นธรรม ระบุเอง จะชัดเจนกุมภาพันธ์ 2566

ขณะที่ กกร.ที่เข้าพบอาการเหมือนโดนกล่อม…แต่จะสงบ เชื่อฟัง หรือจะมีเซอร์ไพรส์หลังปีใหม่ เดี๋ยวรู้กัน!!

⦁กระอักดอกเบี้ยยังขาขึ้น

นับจากปี 2565 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย เผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 30-40 ปี ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกใช้มาตรการการเงินเข้มข้นหวังสกัดเงินเฟ้อ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งติดต่อกัน ส่งผลให้ดอกเบี้ยสู่ระดับ 1.25% ต่อปี ล่าสุด ธปท.พิจารณาว่าเศรษฐกิจแนวโน้มดีขึ้นได้คาดเศรษฐกิจปี 2566 ขยายตัว 3.7% ขณะที่เงินเฟ้อระดับ 6% จะทยอยลดลง 1-3% ในไตรมาส 1-2/2566 เป็นเหตุให้หลายสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างเชื่อมั่นว่า ธปท.ยังขึ้นดอกเบี้ยต่อและแตะระดับสูงสุด 2%

แม้ ธปท.ปรับดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เป็นสัญญาณที่ผู้ประกอบการไม่สบายใจ เพราะ ธปท.เรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ที่อัตรา 0.46% ต่อปี เริ่มงวดมกราคม 2566 หลังช่วงเกิดโควิดปี 2563-2565 ได้ลดอัตรานำจ่ายลงเหลือ 0.23% ซึ่งภายหลังจากสมาคมธนาคารไทย แจ้งสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวอย่างเป็นทางการวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ฟาก 4 แบงก์ใหญ่ฝั่งเอกชนน้อมรับนโยบายด้วยการปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นที่ 0.40% มีผลมกราคม 2566 ทันที

เมื่อดอกเบี้ยขยับขึ้น ส่งผลให้ทั้งครัวเรือนและธุรกิจที่มีหนี้ทุกรายต่างกุมขมับ ดังนั้น ความหวังเดียวกับมาตรการรัฐต้องช่วยให้กลุ่มเปราะบางอยู่รอด และต้องทิ้งไพ่ลับนำเศรษฐกิจพุ่งทยาน หากหัวกราฟไม่ปักลงและคงเชิดหัวขึ้นต่อไป จังหวะนั้นจะเป็นโมเมนต์พ้นขีดอัตรายกันทั่วหน้า

⦁คนไทยจุกค่าโดยสารปรับอื้อ

ปี 2566 อีกค่าใช้จ่ายสูงขึ้นที่ประชาชนต้องแบกรับ คือ การทยอยปรับค่าบริการด้านสาธารณะและการเดินทาง โดยวันที่ 1 มกราคม 2566 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการบีทีเอส ขึ้นราคาค่าโดยสาร 24 สถานี ในสายสุขุมวิท สถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช สายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสะพานตากสิน รวมถึงส่วนต่อขยายสายสีลม สถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่ จาก 16-44 บาท เป็น 17-47 บาท

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลหรือเอ็มอาร์ทีสายสีน้ำเงิน ปรับค่าโดยสารขึ้น 1 บาท สำหรับการเดินทางสถานีที่ 6, 9, 11 และ 12 จากอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 17 สูงสุด 42 บาท เป็นเริ่มที่ 17 บาท สูงสุด 43 บาท เริ่ม 1 มกราคม เช่นกัน

ตามมาติดๆ กับการปรับขึ้นค่ามิเตอร์แท็กซี่ อีก 5 บาท ตั้งแต่ไตรมาสแรก โดยรถยนต์รับจ้าง ลักษณะรถเก๋งสามตอนรถเก๋งสามตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอน และรถยนต์นั่งสามตอนแวน ปรับค่าเริ่มต้น จาก 35 บาท เป็น 40 บาท ระยะทางเกินกว่า 1-10 กิโลเมตร (กม.) คิดเพิ่ม 6.50 บาทต่อ กม. เกิน10-20 กม.เพิ่ม 7 บาทต่อกม. เกิน 20-40 กม. คิดเพิ่ม 8 บาทต่อ กม. เกิน 40-60 กม. คิดเพิ่ม 8.50 บาทต่อ กม. เกินกว่า 60-80 กม. คิดเพิ่ม 9 บาทต่อ กม. เกินกว่า 80 กม.ขึ้นไป คิดเพิ่ม 10.50 บาทต่อ กม.

⦁อสังหาฯเจอ‘แพงซ้อนแพง’

เสียงโอดครวญข้ามปี หลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 ธันวาคม 2565 ออกมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นของขวัญปีใหม่ 2566 โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ จากเดิม 2% ให้ครึ่งหนึ่ง เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากเดิม 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยมือ 1 และมือ 2 ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งมีผลใช้บังคับถึง 31 ธันวาคม 2566 แถมยังใจดีลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 ให้อีก 15%

แต่มองผิวเผินน่าจะเป็นข่าวดีมากกว่าข่าวร้ายต้อนรับปีกระต่าย เพราะช่วยเซฟเงินในกระเป๋าไปได้บ้างไม่มากก็น้อยแต่เมื่อเจียระไนไส้ในอย่างลึกซึ้งแล้ว ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ารัฐบาลเปลี่ยนสูตรลดค่าโอนจากเคยให้ 0.01% เป็น 1% เท่ากับ “เพิ่มภาระ”ให้ผู้ซื้อกับผู้ประกอบการมากกว่า เพราะจากเคยจ่ายล้านละ100 บาท เป็นล้านละ 10,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่าแถมซ้ำเติมตลาดอสังหาริมทรัพย์จากที่ปี 2565 เป็นปีปรับฐานส่งสัญญาณกำลังจะเริ่มฟื้นตัวในปี2566 ให้แย่ลงกว่าเดิม เพราะต้องเผชิญกับสถานการณ์ “แพงซ้อนแพง”

เนื่องจากปี 2566 กรมธนารักษ์ปรับขึ้นราคาประเมินทั่วประเทศรอบปี 2566-2569 โดยปรับขึ้น 8.93% แยกในพื้นที่กรุงเทพฯขึ้น 2.69% และต่างจังหวัดขึ้น 8.81% ซึ่งราคาประเมินจะถูกนำมาเป็นฐานการคำนวณค่าโอนและจดจำนอง รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากที่คิดว่าจะลดภาระได้ 15% หรือจ่ายแค่ 85% อาจต้องจ่ายแพงเป็นเงาตามตัวหรือโชคดีอาจจะเจ๊ากันไป ขึ้นอยู่กับราคาประเมินและสิ่งปลูกสร้างในแต่ละทำเลราคาสูงหรือต่ำ ส่งผลต่อต้นทุนบ้านใหม่และสต๊อกเก่า ส่งผ่านไปยังราคาบ้านที่มีการประสานเสียงจากดีเวลลอปเปอร์อาจจะอั้นไม่ไหว และได้เห็นปรับราคาขึ้นแน่ๆ อย่างน้อย 3-5%

⦁รีดภาษีขายหุ้น-ภาษีที่ดิน

เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ มาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาลต้องลดลง เริ่มแล้วกับมาตรการความหวังและรอคอย อย่าง “คนละครึ่ง” หลังรอบ 5 สิ้นสุดเดือนตุลาคม 2565 แม้ประชาชนร้องขออย่างไร กระทรวงการคลัง ยังเงียบ อ้างว่าเศรษฐกิจฟื้นแล้ว จึงจบปิดฉากถาวร แม้รัฐย่อมใจว่าได้มอบของขวัญปีใหม่ กับ ช้อปดีมีคืน เพิ่มลดหย่อนถึง 4 หมื่นบาท แต่ผู้ใช้สิทธิได้คงมีแต่ผู้มีรายได้สูงๆ แรงงานวัยทำงานส่วนใหญ่กลับไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ เพราะรายได้ยังต่ำกว่าเกณฑ์ต้องเสียภาษี จึงไม่จำเป็นต้องลดหย่อน ส่วนผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรคนจนได้ขวัญถุง 200 บาท/คน ระยะ 1 เดือน หรือแค่มกราคมนี้เท่านั้น

อีกข่าวร้าย คือ ปี 2566 เริ่มเก็บภาษีขายหุ้น แม้เก็บเพียง 0.05% แต่เมื่อฟังจากเสียง นักลงทุนรายน้อยหรือรายใหญ่ ต่างคัดค้านและยืนยันว่าเดือดร้อน ไม่แค่รายใหญ่ที่รัฐอ้างถึง เรื่องร้อนด้านภาษีอีกเรื่อง คือ การเก็บภาษีที่ดิน ทำให้เศรษฐีที่ดิน (แลนด์ลอร์ด) โดนหลายเด้ง ทั้งภาษีที่ดิน ซ้ำยังเจอราคาประเมินที่ดินใหม่ ที่จะขยับขึ้น เจ้าของที่ดินต่างก็คิดๆ ว่าจะเลี่ยงกันอย่างไร!! จึงเห็นที่ดินว่างเปล่า เต็มไปด้วยพืชเกษตร จากข้อมูลกรมธนารักษ์ เผยการสำรวจที่ดินทั่วประเทศ ล่าสุด มี 33 ล้านแปลง เพิ่มกว่า 2 ล้านแปลง จากรอบบัญชีราคาประเมินที่ดิน 2559-62 มี 31 ล้านแปลง สังเกตได้ว่าซอยที่ดินให้เล็กลง เพราะเชื่อว่ายิ่งเล็กจะจ่ายภาษีน้อย

ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานต่อเศรษฐกิจ ที่มีผลต่อการผลิตและใช้จ่าย ยังน่าห่วง อย่าง ภาคส่งออก ทั้งรัฐและเอกชน ฟันธง โอกาสขยายตัวเหลือไม่เกิน 3-5% จากปีก่อน 6-7% อาจมีรายได้จากภาคท่องเที่ยวเข้าหนุน ที่คาดไว้ 2.83 ล้านล้านบาท อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อกลับมาต่ำไม่เกิน 3% ไม่ใช่เพราะต้นทุนถูกหรือราคาสินค้าไม่ขึ้น แต่เพราะฐานเงินเฟ้อปีก่อนสูงเป็นประวัติการณ์ ยังไม่นับรวม “การเลือกตั้ง” ที่กำลังเกิดขึ้น

สะท้อนได้ว่า ปี 2566 เศรษฐกิจไทยต้องฝ่าฟันปัจจัยเสี่ยงมากกว่าปัจจัยหนุน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image