สงครามยูเครน จุดชนวน ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ ปะทุ จุดเปลี่ยน เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย

สงครามยูเครน จุดชนวน‘ภูมิรัฐศาสตร์’ปะทุ จุดเปลี่ยน เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย

สงครามยูเครน จุดชนวน‘ภูมิรัฐศาสตร์’ปะทุ จุดเปลี่ยน เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย

สถานการณ์ความตึงเครียดด้าน ภูมิรัฐศาสตร์ หรือ Geopolitics หลังเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย ยังคงเป็นที่จับตาของทั่วโลกถึงจุดสิ้นสุดหลังคุกรุ่นลากยาวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงศักราชใหม่ 2566 จากสงครามความขัดแย้งของสองประเทศ ได้กลายเป็น “สงครามเศรษฐกิจ” เขย่าโลกทั้งใบ เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต จากวิกฤตโควิดมาสู่ไฟสงคราม ลามเป็นโดมิโน เกิดภาวะเงินเฟ้อ ราคาพลังงานแพง ดอกเบี้ยขาขึ้น ปั่นป่วนเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน และนักธุรกิจ ส่งสัญญาณจะเป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายเศรษฐกิจในปี 2566

⦁สงคราม-โลกการค้าแบ่งขั้วกดดัน ศก.หนัก

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เปิดมุมมองว่า เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่ต้องจับตามองในปี 2566 แบ่งเป็นปัจจัยต่างประเทศได้ 2 เรื่อง โดยเรื่องแรกเป็นการรบกันระหว่างยูเครน-รัสเซีย ประเมินว่าการสู้รบจะดำเนินต่อไป แต่เนื่องจากเข้าสู่ปีที่ 2แล้วจะมีแรงกดดันให้หาทางเจรจาร่วมกันเพื่อหาข้อตกลงให้ได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้แรงกดดันยังไม่มีผลมากนัก แต่ในปีนี้จะมีแรงกดดันมากขึ้น เพราะมีปรากฏการณ์ที่เกิดความเมื่อยล้าทางการเมือง กระทบเศรษฐกิจในภาพรวมมากขึ้น แต่การเจรจากันไม่ใช่เรื่องง่ายมากนัก

Advertisement

เรื่องที่สอง ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐที่ยังมีต่อไป โดยแบ่งเป็น 3 ลักษณะ 1.ความขัดแย้งที่อาจเกิดการเผชิญหน้า ระหว่างประเทศไต้หวัน ทะเลจีนใต้ และจีนตะวันออก แม้เชื่อว่าคงไม่ได้เป็นการสู้รบกันที่รุนแรงแต่น่าจะมีความตึงเครียดสูง 2.เกิดการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่จีนอาจได้เปรียบสหรัฐบ้าง เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับอาเซียนในแง่ข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ซึ่งสหรัฐไม่มี แต่สหรัฐจะต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่ในด้านเศรษฐกิจแน่นอน รวมถึงการต่อสู้ในด้านค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับระบอบการปกครองที่ต่างกัน

และ 3.การแข่งขันในด้านเทคโนโลยีที่สหรัฐไม่มีทางยอมให้จีนก้าวขึ้นนำ แต่ก็ยังมีการร่วมมือกันของสหรัฐและจีนในด้านการแก้ไขปัญหาโลกร้อน รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งภูมิรัฐศาสตร์โลกกำลังเปลี่ยนแปลงจากระบบ 2 ขั้วอำนาจแบบมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ เข้าสู่การแบ่งเป็นหลายขั้วอำนาจแบบไร้เสถียรภาพ

⦁แนะไทยต้องเปลี่ยนให้ทันโลก

Advertisement

หันมาดูภูมิรัฐศาสตร์ประเทศไทย “สมชาย” วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยจะมีลักษณะของการไม่ไปผูกพันกับประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป ทั้งสหรัฐ ยุโรป หรือจีน เป็นการพยายามดำเนินดุลยภาพท่ามกลางการแบ่งขั้วต่างๆ โดยไทยจะต้องวางตัวเองไว้แบบดำเนินการตามอาเซียนเพื่อไม่ให้ถูกมองเป็นเพียงประเทศไทย แต่มองในระดับที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนทั้งหมด

“โดยสิ่งที่ต้องระวังนั้น เนื่องในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ไทยเกี่ยวข้องกับจีนมากกว่า ทำให้การรักษาความสัมพันธ์แบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น แต่สหรัฐอาจมองว่าเราเอนเอียงไปทางจีนมากเกินไปหรือไม่ จะมีผลกระทบกับการลงทุนได้ เพราะสหรัฐกำลังดำเนินมาตรการเน้นการลงทุนในประเทศที่เป็นพันธมิตรเท่านั้น” สมชายกล่าว

พร้อมกับมองว่าไทยยังวางตำแหน่งที่ไม่ทันกับโลกการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 1.การเสียเปรียบในแง่การแข่งขัน เนื่องจากสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน มีความสัมพันธ์ในกรอบข้อตกลง CPTPP ซึ่งได้ประโยชน์ในด้านการขยายตลาดส่งออกมากกว่าของไทย รวมถึงเวียดนามมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศในยุโรป 27 ประเทศ ทำให้ไทยเสียเปรียบในด้านการแข่งขันระหว่างประเทศ จึงต้องหาทางขยายเขตการค้าเสรีในยุโรปเพิ่มขึ้น แต่ต้องระมัดระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้เราเสียเปรียบได้

2.ต้องกระจายการพึ่งพาไปในหลายๆ ประเทศมากขึ้น ไม่ใช่อิงอยู่กับประเทศใดเป็นหลักเท่านั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด หากเกิดความขัดแย้งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่ส่งผลกระทบไปทั้งหมด ตัวอย่างในกรณีของยุโรปที่พึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นหลัก พอเกิดปัญหาตอนนี้แทบเอาตัวไม่รอด ทำให้ในโลกที่มีการแบ่งขั้วอำนาจแบบนี้แม้เราจะชอบใจหรือไม่ชอบใจ อย่าไปพึ่งพาจนเกินไปนัก แต่ไม่ใช่เป็นการทิ้งระยะห่างเท่ากัน เพราะเราจะแย่หากไม่มีใครเอาเราเลย 3.รัฐบาลจะต้องร่วมมือกับภาคธุรกิจ ในการรองรับการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน และ 4.การหาทางป้องกันและรับมือกับโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย หากเราเปลี่ยนแปลงไม่ทันตามกระแสโลก เศรษฐกิจไทยจะย่ำอยู่กับที่

⦁‘ซีอีโอพราว’หวั่นคุมเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยไม่อยู่

จากนักวิชาการมาถึงมุมมองของนักธุรกิจ พสุ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มองภาพใหญ่สงครามยูเครน-รัสเซียไม่น่าจะจบลงง่ายๆ น่าจะลากยาวพอสมควร และยังไม่รู้จะจบยังไง เนื่องจากทั้งสองประเทศยังสู้กันแบบไม่มีใครยอมใคร ขนาดสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังใช้เวลาสู้กัน 6 ปี ซึ่งความขัดแย้งครั้งนี้ถ้านับพื้นที่ถือว่าใหญ่ที่สุดตั้งแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังสู้กันไม่ถึงปี มีแนวโน้มจะลากยาวและทวีคูณมากยิ่งขึ้น ยังต้องจับตารัสเซียจะใช้พลังงานเป็นอาวุธตอบโต้กลุ่มประเทศยุโรปและฝั่งตะวันตก เพราะจากวิกฤตพลังงานไม่พอ ค่าไฟแพง ทุกคนกลับมาใช้แก๊สและน้ำมัน เมื่อถึงเวลาจริงๆ ถ้ามี blackout (ไฟดับ) จะกระทบธุรกิจ บริษัท ไม่สามารถประกอบการได้ ทำให้มีปัญหาเศรษฐกิจไม่เดิน เกิดภาวะเงินเฟ้อต่อ

“ภายใต้สถานการณ์นี้ประเทศไทยต้องวางโพสิชั่นจะอยู่ตรงไหน จะเงียบหรือจะเลือกข้าง เพราะภูมิรัฐศาสตร์มันจะเข้มข้นมากกว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงความขัดแย้งระหว่างไต้หวันกับจีนที่มีความเป็นไปได้จะมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะมีความเป็นไปได้สูงอาจจะมีการรวมชาติ สมมุติว่ามีความเสี่ยงตรงนี้ จะเป็นอีกปัจจัยบีบเราให้ต้องเลือกเช่นกัน” พสุกล่าว

“พสุ” ยังฉายภาพถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงครามยูเครนว่าเป็นต้นเหตุของอะไรหลายอย่าง ไม่ว่ามาตรการคว่ำบาตร ภาวะเงินเฟ้อสูงสุดรอบ 40 ปี ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น มาผนวกรวมกับการระบาดของโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะถดถอย แม้ภาวะเงินเฟ้อเริ่มไม่กระฉูด แต่ยังสูง ไม่มีทีท่าจะลดลง แบงก์ยังปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 7 รอบ ในปีนี้ถ้าสงครามหนักกว่าปีก่อนทำให้เงินเฟ้อจะคุมไม่อยู่ อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นอีก และเศรษฐกิจจะไม่ขยายตัว การจ้างงานจะลดลง ทั้งหมดเป็นตัวแปรจากสงครามและจะกระทบมายังประเทศไทยด้วย ทั้งเงินเฟ้อ วิกฤตพลังงาน ค่าไฟแพง ขณะที่การส่งออกก็เริ่มไม่ค่อยดีจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 “พสุ” ประเมินยังเป็นปีที่มีเรื่องให้ท้าทายเยอะ แต่มองไปในทิศทางเดียวกับเวิลด์แบงก์และธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประเมินว่าปีนี้จะสามารถรีบาวด์กลับมาได้ไม่เกิน 4% โดยมีการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เมื่อมองจากทั้งโลกที่มีการประมาณการว่ามูลค่าการใช้จ่ายการท่องเที่ยวทั้งโลกอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จำนวนทริปที่ไปต่างประเทศคนเดินทางก่อนปี 2562 อยู่ที่ 1,800 ล้านทริป และในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 1,600 ล้านทริปเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับปี 2562 ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อการท่องเที่ยวไทยน่าจะฟื้นอย่างที่มีคำศัพท์เรียกกันว่าเกิดการเที่ยวล้างแค้น จะทำให้ท่องเที่ยวกลับมาดีมาก ยังไม่มองถึงการที่จีนเปิดประเทศวันที่ 8 มกราคมนี้เนื่องจากยังมีความไม่แน่ไม่นอน ไม่รู้ว่าจีนจะอนุญาตให้บินเข้าประเทศได้มากน้อยแค่ไหน และความท้าทายของประเทศไทยคือโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่พร้อมจะรองรับต่างชาติเข้ามาแค่ไหน เช่น เครื่องบิน เส้นทางบิน บุคลากร

⦁‘สหพัฒน์’หวังจบเร็ว-แนะธุรกิจปรับตัว

ด้าน บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า ปัญหาสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ลากยาวต่อเนื่องจากปี 2565 คาดหวังภายในไตรมาสแรกของปี 2566 ทั้งสองประเทศมีแนวโน้มจะเจรจากันได้ ถ้าหากยุติได้เร็วจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ที่เผชิญกันมาตลอดปี 2565 จะเป็นบวกและบรรเทาลงได้ ไม่ว่าราคาวัตถุดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ ราคาพลังงานที่ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า เมื่อเศรษฐกิจโลกดีเศรษฐกิจไทยจะดีตามไปด้วย

“จากสภาวะแวดล้อม 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่ดี ภาคธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจด้วย ต้องลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนเท่าที่ทำได้ และทำแบบจริงจัง ในภาวะแบบนี้ภายใต้วิกฤตยังมีโอกาสอยู่ อะไรที่ฟุ่มเฟือยก็ให้ไปปรับลด ซึ่งปี 2566 นี้เป็นจังหวะของการเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” บุญชัยย้ำ

⦁หนุนปรับลุค‘ภาคการเงิน’ฟื้นเศรษฐกิจ

ฟังเสียงสะท้อนจากภาคการเงิน กอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2566 หลายสำนักประเมินเป็นปีที่เหนื่อยต่อเนื่องเพราะเจอผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะวิกฤตผลพวงสงครามระหว่างประเทศยูเครน-รัสเซียยังคงยืดเยื้อเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องในปี 2566 หลังจากเกิดวิกฤตไทยได้รับผลกระทบเรื่องราคาพลังงานด้านการนำเข้าน้ำมันสูงขึ้น เงินเฟ้อในประเทศขยายตัว แม้ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เงินเฟ้อทยอยลดลง แต่ผลทางเศรษฐกิจชะลอตัวเริ่มส่งสัญญาณมากขึ้น

ขณะที่ตัวช่วยเศรษฐกิจสำคัญนั้น “เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย” แจกแจงมี 2 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยปี 2566 คาดว่ามีจำนวน 20 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวปี 2565 เข้าไทยจำนวน 10.5 ล้านคน 2.เรื่องการใช้จ่ายภายในประเทศจะดีขึ้นเพราะเกิดการจ้างงานขยายตัว โดยคาดว่าผลจากนักท่องเที่ยวเข้าไทยจะมีการกระจายเม็ดเงินหลายภาคส่วน

เลขาธิการสมาคมธนาคารไทยมองว่า เศรษฐกิจปี 2566 และระยะถัดไปเป็นช่วงเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจในอนาคต โดยผลจากวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์อาจเป็นความเสี่ยงทำให้การค้าโลกชะลอตัว ดังนั้น ไทยต้องปรับตัวโดยเน้นการเชื่อมต่อในระบบภาคการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งภาคการเงินยกระดับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศได้นำแพลตฟอร์ม NDTP หรือแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย เริ่มทดลองในประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นได้ทดลองใช้จนประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ยังได้ต่อยอดจากการให้บริการพร้อมเพย์สู่ภาคธุรกิจ เรียกว่าพร้อมบิส เป็นระบบช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ เช่น ลดการใช้เอกสารทางการค้า เอกสารการชำระเงิน เพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรมให้เร็วขึ้น จะช่วยผลักดันเรื่องการนำเข้าและส่งออกในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถติดต่อคู่ค้าระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้นพร้อมต้นทุนต่ำลงด้วย ดังนั้น ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความเสี่ยง แต่ไทยก็มีความพร้อมเชื่อว่าเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อได้แน่นอน

เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว คงต้องถึงเวลาที่ธุรกิจไทยต้องปรับตัว ปรับใจให้รับเทรนด์โลกและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง อย่างไฟสงครามยูเครน-รัสเซียที่เผชิญมาอย่างหนักหน่วงเกือบตลอดทั้งปี 2565 และยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดได้เมื่อใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image