คิดเห็นแชร์ : โครงสร้างพื้นฐานประเทืองปัญญา

คิดเห็นแชร์ : โครงสร้างพื้นฐานประเทืองปัญญา

ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปกลุ่มประเทศในสแกนดิเนเวีย ซึ่งคือ เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ โดยเดินทางร่วมกับคณะกรรมการของ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง

The Scream โดย Edvard Munch (เอ็ดเวิร์ด มุงค์) พิพิธภัณฑ์แห่งชาตินอร์เวย์ (National Museum of Norway)

วัตถุประสงค์หลักของการเดินทาง คือ การไปเยี่ยมชมบรรษัท Statsbygg (อ่านว่า สเต็ทบิ๊ก) ของนอร์เวย์ ซึ่งมีภารกิจคล้ายๆ กับ ธพส. คือ ออกแบบ-พัฒนา-ก่อสร้าง-และบริการ อาคารของรัฐ แต่ขอบเขตกว้างขวางกว่า ธพส.ของเรามากกว่า เพราะว่าอาคารของรัฐในนอร์เวย์นั้นจะเป็นอาคารประเภทพิเศษ ซึ่งรวมไปถึงอาคารที่สำคัญๆ หลายแห่งในนอร์เวย์ อาทิ พิพิธภัณฑ์ และโอเปร่า เป็นอาคารประเภทพิเศษที่ต้องการออกแบบเป็นการเฉพาะ

วันนี้ที่ผมเขียนถึง Statsbygg เพราะพบว่าทางรัฐบาลนอร์เวย์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับนโยบายด้านสังคมโดยเฉพาะประเด็นด้าน “โครงสร้างพื้นฐานประเทืองปัญญา” หรือ Intellectual Infrastructure ที่รัฐบาลของเขามิได้ลงทุนก่อสร้างเพียงแค่โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่รัฐบาลนอร์เวย์ได้ลงทุนมหาศาล คือ การก่อสร้างและปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ โดยคำนึงถึงความสามารถในการดึงดูดให้ประชาชนของเขาเข้ามาชมและเสพ “ความรู้” และ “รากเหง้าของความเป็นนอร์วีเจียน” …โดยผมและคณะของ ธพส.ได้เข้าชม The National Museum of Art, Architecture and Design (หรือ NaM) ซึ่งมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมของนอร์เวย์ โดยพิพิธภัณฑ์ NaM นี้เป็นพิพิธภัณฑ์ใหม่ (ก่อสร้างโดย Statsbygg) ที่ควบรวมเอาพิพิธภัณฑ์เล็กๆ 5 แห่ง รวมเข้าด้วยกัน (มี Museum of Architecture, Museum of Industrial Art, Museum of Contemporary Art, Museum of Decorative Arts and Design และ National Gallery of Norway) แล้วจัดการแสดง exhibition เสียใหม่ภายใต้อาคารใหม่ที่ทันสมัย (คนนอร์เวย์ไม่มีความเชื่อว่าพิพิธภัณฑ์จะต้องอยู่ในตึกเก่าๆ อายุเป็นร้อยปีเสมอไป) การควบรวมพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ทำให้นอร์เวย์มี Collections ของการจัดแสดงที่ใหญ่ที่สุดในสแกนดิเนเวียเลยทีเดียว อีกทั้งการรวบรวมของที่กระจัดกระจายในพิพิธภัณฑ์ 5 แห่ง มาเข้ารวมกันทำให้การเล่าเรื่อง (Story-Telling) มีความสมบูรณ์มากขึ้นในพิพิธภัณฑ์ NaM แห่งใหม่นี้ มีพื้นที่จัดแสดงมากกว่า 13,000 ตารางเมตร ซอยห้องจัดแสดงออกเป็นพื้นที่ย่อยๆ มากกว่า 70 ห้อง เล่าเรื่องตั้งแต่เรื่อง เรือไวกิ้ง ไปจนถึงเรื่อง “ศิลปะแห่งการออกแบบ” และเล่าเรื่องของการออกแบบเฟอร์นิเจอร์สไตล์ “มินิมอลลิสต์” ไว้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

Advertisement

ผมคิดว่าการบริหารและเผยแพร่ “ทรัพย์สินทางปัญญา” ของนอร์เวย์ทำได้ดีกว่าหลายๆ ประเทศเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งเพราะการมีโครงสร้างพื้นฐานประเทืองปัญญาที่บริหารแบบรวมศูนย์และมีประสิทธิภาพ… คิดว่าน่าจะนำมาประยุกต์ในเมืองไทยต่อไปนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image