คิดเห็นแชร์ : การศึกษาในประเทศญี่ปุ่น

คิดเห็นแชร์ : การศึกษาในประเทศญี่ปุ่น

ก่อนอื่นผมขอกราบสวัสดีปีใหม่ พ.ศ.2567 หรือปีมังกรทอง ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง โชคดีมีชัย และมีเงินใช้ตลอดปีและตลอดไปนะครับ

เดือนนี้ขอพูดถึงระบบการศึกษา “ญี่ปุ่น” หน่อยนะครับเพราะผมและครอบครัวเพิ่งได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวพักผ่อนกันที่ญี่ปุ่น ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา และได้มีโอกาสแวะเยี่ยมชมสถานที่สำคัญๆ เช่นพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดหลายแห่ง ก็เลยอดไม่ได้ที่จะเอ่ยถึงระบบการศึกษาในญี่ปุ่นให้ทุกท่านได้ทราบกันครับ

การศึกษาในญี่ปุ่นบริหารจัดการโดยกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology หรือ MEXT ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นภาคบังคับ นักเรียนเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐเสียเป็นส่วนใหญ่ จวบจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่สถานศึกษาของเอกชนเริ่มเป็นที่นิยมต่อไปถึงในระดับมหาวิทยาลัย ที่ผมว่าน่าสนใจคือการศึกษาช่วงปฐมวัย หรือช่วงก่อนชั้น ป.1 ที่ “คุณแม่” ยังเป็นส่วนสำคัญในการสอนเด็กที่มักจะเน้นให้เด็กเล่นที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เดินเล่นในสวนสาธารณะ ไปทัศนศึกษาที่สถานที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งการพาเด็กไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ นอกจากนั้น โรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็ก ก็จะมีหลักสูตรเสริม โดยจะเน้น “Soft Skill” ของความเป็นคนญี่ปุ่นขนานแท้เช่นเรื่อง ความขยัน การมีวินัย ความมุ่งมั่นและเข้มงวดกับตนเอง อุปนิสัยรักการเรียนรู้ รวมทั้งจะเน้นการสอนทัศนคติ คุณธรรม จริยธรรม รู้จักถ่อมตน ให้กับนักเรียน โดยที่รัฐบาลไม่ได้มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนทางการศึกษาแต่เพียงผู้เดียว ภาคเอกชน ห้างร้านต่างๆ ก็ให้ความสำคัญและมีบทบาทสำคัญในด้านการสนับสนุนการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย โดยความสำเร็จทางการศึกษาของญี่ปุ่นนั้นอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล จะเห็นได้จากการสอบวัดความรู้ ด้านคณิตศาสตร์นานาชาติ ซึ่งเด็กญี่ปุ่นจัดอยู่ในอันดับต้นๆ มาโดยตลอดโดยระบบนี้เป็นผลมาจากการสมัครเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นที่มีอัตราสำเร็จสูง เช่นการสอบเข้า
มหาวิทยาลัย

Advertisement

นโยบายด้านการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นจะมุ่งสอน คุณธรรม จริยธรรม ให้แก่เยาวชนญี่ปุ่น เพื่อให้มีความระลึกถึงชีวิตครอบครัวและความเป็นชาติ ความเป็น “ญี่ปุ่น” ที่มักจะมุ่งเน้นการสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและศูนย์รวมข่าวสารข้อมูลต่างๆ ทางเทคโนโลยี รวมไปถึงนโยบายเกี่ยวกับ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่สนับสนุนให้โรงเรียนต่างๆ มีห้องเรียนหลังเลิกเรียนสำหรับประชาชนในชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการเข้าร่วม (ทั้งมาสอนและมาเรียน) รวมไปถึงการส่งเสริมภาพอนาคต (Futuristic) ที่ MEXT พยายามผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งอันนี้ผมบอกเลยว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเขามองการณ์ไกลจริงๆ อ่อ ลืมบอกไปว่าจริงๆ แล้วญี่ปุ่น โดย MEXT ได้มีการปฏิรูประบบการศึกษาในช่วงศตวรรษที่ 21 โดยจัดให้มีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน การทำงานของสถานศึกษา เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาค ทั้งภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชนโดยรวม ซึ่งระบบการศึกษาในญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมาตรฐานทางด้านการศึกษาในระดับสูง โดยระบบการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลและต้นแบบมาจากระบบการศึกษาของหลายๆ ประเทศ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา หลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยภาพรวมของการศึกษาของญี่ปุ่นแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับคือ

1.การศึกษาช่วงปฐมวัย ได้แก่ การศึกษาขั้นอนุบาล ซึ่งเริ่มเข้าศึกษาตั้งแต่อายุ 3 ปีไปจนถึงอายุ 5 ปี และขั้น ป. 1-6 ตั้งแต่อายุ 6 ปีไปจนถึง 12 ปีโดยประมาณ เป็นระดับที่อยู่ในช่วงการพัฒนาจิตใจและร่างกายที่สำคัญที่สุด

2.การศึกษาระดับมัธยม แบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ มัธยมศึกษาตอนต้นภาคบังคับ 3 ปี และมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี ซึ่งการเรียนในระดับนี้จะต้องมีการสอบแข่งขัน เช่นเดียวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ และนักเรียนที่จบจากบางโรงเรียนจะสามารถเข้ามหาวิทยาลัยระดับประเทศได้โดยตรง อาทิ University of Tokyo แต่สำหรับนักเรียนที่ไม่ต้องการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จะเข้าเรียนที่วิทยาลัยเทคนิค หรือโรงเรียนสอนอาชีพเฉพาะทาง

Advertisement

3.การศึกษาระดับสูง ได้แก่ การศึกษาในมหาวิทยาลัย วิทยาลัย วิทยาลัยเทคนิค และวิทยาลัยอาชีวศึกษา โดยระดับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นกำหนดหลักสูตรและระยะเวลา คือ ระดับปริญญาตรี ใช้เวลา 4 ปี, ระดับปริญญาโท 2 ปี และระดับปริญญาเอก 3 ปี สำหรับใครที่อยากจะศึกษาเฉพาะด้าน ก็ยังมีวิทยาลัยฝึกอบรมเฉพาะทาง หรือ วิทยาลัยฝึกอบรมวิชาชีพให้เลือกเข้าไปศึกษา นอกจากนี้ ยังมีสถาบันอีกหลายรูปแบบ เช่น โรงเรียนฝึกอบรมวิชาชีพพิเศษ Special Training School, และโรงเรียนสอนวิชาเบ็ดเตล็ด Miscellaneous Schools ซึ่งจะจัดฝึกอบรมวิชาชีพและภาคปฏิบัติให้แก่ผู้คน เช่น ดีไซน์ การทำอาหาร การเขียนการ์ตูน เทคนิคคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ผมว่าระบบการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นน่าสนใจโดยเฉพาะแนวคิดการสร้างระเบียบวินัยตั้งแต่วัยเด็ก เพราะสิ่งเหล่านี้จะปลูกฝังให้เด็กๆ มีความคิดที่สร้างสรรค์และสร้างทักษะให้กับเยาวชนได้ โดยเฉพาะเรื่องการทำงานกับคนอื่นและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อีกนโยบายหนึ่งที่ผมรู้สึกว่ารัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับประชาชนของเขาก็คือ เรื่อง การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะเล็งเห็นว่าประชาชนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้โดยไร้พรมแดนโดยชาวญี่ปุ่นเองก็ได้รับการปลูกฝังว่าการทำงานหนักและความขยันหมั่นเพียรจะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต และที่สำคัญกว่านั้นก็คือผมมองว่าหากบ้านเราสามารถสร้างประชากรที่สามารถอ่านออกเขียนได้ เข้าใจ เข้าถึงค่านิยมและวัฒนธรรมของสังคมไทย ก็อาจจะเป็นการสร้าง Soft Power ให้กับไทยก็เป็นได้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image