บาทแข็งช็อกส่งออก! หวั่นเอสเอ็มอี-เกษตรกระทบหนักมาก ร้องแบงก์ชาติออกโรงดูแลด่วน!

ผ่านปี 2561 มาได้ไม่ถึงเดือน ค่าเงินบาททำสถิติแข็งค่าสูงสุด ในรอบ 50 เดือน หรือแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 4 ปี โดยปิดตลาดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ระดับ 31.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากเปิดต้นปีที่ 32.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทแข็งค่าแล้วกว่า 1.06 บาท หรือ 3.89% เป็นอันดับที่สอง รองจากริงกิต มาเลเซีย ที่แข็งค่า 4.55% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เยน ญี่ปุ่น แข็งค่าเป็นอันดับที่สามที่ 3.33% ส่วนหยวน จีน แข็งค่า 2.85% ดอลลาร์สิงคโปร์ แข็งค่า 2.30% รูเปีย อินโดนีเซีย แข็งค่า 1.93% และเปโซ ฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 1.84% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากว่า 3.89% ถือว่าเป็นการแข็งค่าขึ้นมาค่อนข้างเร็วโดยเฉพาะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้ศูนย์วิจัยและหน่วยงานเศรษฐกิจของธนาคารต่างๆ คาดการณ์ว่าเงินบาททั้งปีมีโอกาสจะแข็งค่าขึ้นราว 7-8% จากสิ้นปีก่อน อัตราการแข็งค่าชะลอลงจากปี 2560 ที่ทั้งปีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์สหรัฐราว 10% แต่ปัจจุบันแข็งค่าครึ่งทางของที่คาดการณ์ไว้ไปแล้ว

แม้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะอธิบายว่า การแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลจากดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ทำให้นักลงทุนมีการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดเอเชียที่ได้ผลตอบแทนสูง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีของไทย ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีแรงกดดันค่าเงินบาทจากการเข้ามาซื้อพันธบัตรในตลาดไทยจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงสะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ต่ำกว่าพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีเงินทุนไหลเข้าผ่านตลาดพันธบัตรในวันเดียวถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินเข้าจากการส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเห็นว่ามีเงินทุนไหลเข้ามากกว่าการส่งออกค่อนข้างมาก หากเงินทุนที่ไหลเข้ามานี้ออกไปจากตลาดอย่างรวดเร็วจะทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนได้

ในระยะต่อไป แนวโน้มเงินทุนไหลเข้ายังมีอยู่เพื่อแสวงหาผลตอบแทน รวมทั้งมีโอกาสได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยไม่ต้องกังวลต้นทุนจะเพิ่มขึ้น เพราะทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยน่าจะยังทรงตัว เพราะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังใช้นโยบายแบบผ่อนคลายและยังไม่ได้ส่งสัญญาณปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยนำไปแล้วก็ตาม เพราะอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำไม่ได้เป็นแรงกดดันให้ต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นในระยะสั้นค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าอยู่ และหากยังแข็งค่าในระยะยาวต่อไป ก็อาจจะส่งผลกระทบถึงต้นทุน ผู้ประกอบการได้ จากการที่ผู้ประกอบการธุรกิจขาดทุนกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ท้ายที่สุดแล้วอาจจะวนกลับมาถึงซัพพลายเชน ไปจนถึงกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจในประเทศได้

Advertisement

๐กกร.ลุยถกค่าบาทกับแบงก์ชาติ
สำหรับตัวเลขการส่งออกปีนี้ คณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย มองว่าการส่งออกขยายตัวที่ 3.5-6.0% ผลจากฐานที่สูงในปีที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวได้เกือบ 10% ทั้งนี้ แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา กกร.จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อหามาตรการดูแลค่าเงินบาทก่อนนำเสนอภาครัฐ ซึ่ง กลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าไทย ในฐานะประธาน กกร. เผยว่า ขณะนี้ได้สรุปประเด็นที่จะหารือกับทาง ธปท.เรียบร้อยแล้ว มีประเด็นที่จะนำเสนอและหารือกันราว 4-5 ประเด็น เช่น การดูแลเรื่องเงินทุนไหลเข้า-ออก การแข่งขันของธุรกิจกับประเทศคู่ค้าจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เป็นต้น คาดว่าจะเข้าหารือกับทาง ธปท.ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่ง กกร. ประเมินว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าเงิน 1 บาทจะกระทบต่อการ
ส่งออกไทยราว 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผลกระทบต่อธุรกิจนั้น อาจจะแตกต่างกันตามสินค้าที่ส่งออก หากธุรกิจส่งออกแปลงรายได้กลับมาเป็นเงินบาทแล้วยังมีกำไรครอบคลุมกับต้นทุนของธุรกิจ ธุรกิจนั้น ยังอยู่ได้ แต่หากกำไรหดจนกระทบกับต้นทุนธุรกิจ ธุรกิจก็อาจจะมีปัญหา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศได้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่สายป่านสั้นกว่าธุรกิจรายใหญ่

อย่างไรก็ดี ไม่เฉพาะเอสเอ็มอีเท่านั้น แม้แต่ทางบริษัท ปูนซิเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี ก็ออกมาส่งสัญญาณว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่ามีผลกระทบต่อกำไรเอสซีจีถึง 2 เด้ง เพราะเป็นบริษัทผู้ส่งออก และมีธุรกิจในต่างประเทศซึ่งรับรายได้เป็นดอลลาร์สหรัฐ เมื่อแปลงเงินเป็นบาทจึงมีกำไรลดลง โดยการแข็งค่าทุก 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่งผลกระทบต่อกำไรลดลง 2,000 ล้านบาท

๐หวั่นบาทหลุด30ต่อดอลล์
ด้านความเห็นจาก สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานด้านการส่งเสริมการค้า ธุรกิจบริการและการลงทุนในต่างประเทศ (D4) ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐกล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง กังวลว่าหากภาครัฐไม่ออกมาดูแลค่าเงินบาทอาจจะหลุดลงไปต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ ธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก เช่น ธุรกิจเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ 100% หรือเกษตรแปรรูป หากธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพื่อให้ขายได้ราคาดีขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างตลาดการแข่งขันกับสินค้าชนิดเดียวกันจากคู่ประเทศแข่ง โดยกลุ่มธุรกิจเกษตรคิดเป็น 30% ของมูลค่าการส่งออกรวม เพราะถ้าส่งออกแล้วแปลงเงินกลับมาเป็นเงินบาทได้น้อย เมื่อนำไปซื้อสินค้าเกษตรหากเป็นไปได้คงอยากซื้อในราคาที่ถูกลง แต่ขณะนี้ทิศทางราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มดีขึ้น อาจจะคุมต้นทุนไม่ได้ กระทบต่อการแข่งขันของธุรกิจ รวมทั้งจะกระทบต่อเอสเอ็มอีที่มีมูลค่าส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 15% ของการส่งออกรวม

Advertisement

๐เอกชนหวั่นแบงก์-ผู้ส่งออกร่วมเก็งกำไร
ขณะนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หากเราไม่ได้ทำอะไรเลยและค่าเงินยังแข็งค่าขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ลักษณะแบบนี้กังวลว่าจะกระทบเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะคนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและเอสเอ็มอีเป็นหลัก กลุ่มนี้จะถูกกระทบทันทีและกำลังซื้อของกลุ่มนี้ยังอ่อนแออยู่ จึงอยากให้ ธปท.ออกมาแสดงท่าทีว่าจะมีมาตรการดูแลค่าเงินบาทและอธิบายให้สาธารณะเข้าใจว่าการที่ค่าเงินบาทแข็งผิดปกติมาจากสาเหตุอะไร อาจจะมีการเก็งกำไรหรือไม่ กลุ่มธนาคารอาจจะเล่นเก็งกำไรด้วย หรือธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่ออกมาเล่นด้วยจนยิ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าก็เป็นได้ ทั้งนี้ อยากให้ ธปท.ดูแลเงินทุนไหลเข้าออกด้วยว่าจะมีมาตรการดูแลอย่างไรหรือไม่ ส่วนความกังวลเรื่องทางการสหรัฐอาจจะจับตาดูไทยหากเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทนั้น อยากให้พิจารณาเวียดนามด้วย เพราะค่าเงินดอง เวียดนามเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับดอลลาร์สหรัฐ เพราะเวียดนามส่งออกขยายตัว 20% มีเงินเข้ามาลงทุนโดยตรงในประเทศ (เอฟดีไอ) สูงกว่าไทย ขณะที่นักลงทุนเวียดนามที่ออกมาลงทุนนอกประเทศส่งเงินกลับเข้าประเทศในรูปดอลลาร์สหรัฐจำนวนมาก จำนวนนักท่องเที่ยวเวียดนามก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เงินดองอ่อนค่า ทำให้ไทยเสียเปรียบมากในการแข่งขันเรื่องข้าว สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรม เพราะเวียดนามต้นทุนถูกกว่า นอกจากนี้ หากภาครัฐมีการจ่ายหนี้คืนในรูปแบบดอลลาร์สหรัฐ ส่งเสริมให้มีการลงทุนในประเทศและออกพันธบัตรเป็นบาทจะช่วยลดแรงกดดันบาทได้ส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอาจจะพิจารณาการขายสินค้าในรูปแบบเงินบาทหรือเงินสกุลของคู่ค้าโดยตรงได้มากขึ้นŽ สนั่นระบุ และว่า คาดการณ์ส่งออกปีนี้ ตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ใกล้เคียงกับที่ภาคเอกชนคาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ราว 6% ภายใต้ค่าเงินบาทที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ถ้าเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้ จะทำให้มีแรงหนุนดอลลาร์สหรัฐให้แข็งค่าขึ้น และเงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าได้

๐มั่นใจส่งออกยังโต6%
“จากการหารือร่วมกัน ทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามช่วยกันผลักดันการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ราว 6% ซึ่งอาจจะต้องมีมาตรการมาสนับสนุนช่วยกัน ซึ่งวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ทางสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) จะประชุมหารือเรื่องเป้าหมายการส่งออกของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมว่าจะเป็นอย่างไร เพราะที่กังวลคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วมากกว่า 3% ส่งผลต่อการขายสินค้าของผู้ส่งออกพอสมควร เพราะปิดคำสั่งซื้อได้ยากขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 3% ทำให้ราคาถูกลงไป 3% เช่นกัน แม้ว่าผู้ส่งออกอยากขอคู่ค้าปรับราคาขายขึ้นแต่เป็นไปได้ยาก จุดสำคัญอยู่ที่ว่าสินค้าตัวใดกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมาก กรณีนี้ผู้ส่งออกยังสามารถต่อรองและขอปรับขึ้นราคาได้บ้างตามหลักการอุปสงค์และอุปทาน เช่น ปรับขึ้นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของอัตราการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่เกิดขึ้น โดยกลุ่มสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง คือกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ น้ำมัน ไปตามแนวโน้มความต้องการของตลาดโลกและราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ยังไปได้ดีŽ วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน” สรท.กล่าว

อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ดีขึ้นตามลำดับและดีขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าและมีกำลังซื้อ วิธีที่ดีที่สุด คือ ผู้ส่งออกพยายามต่อรองราคาให้สามารถขยับราคาขึ้น โดยหากซื้อขายกับประเทศที่ค่าเงินแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐมากกว่าไทยอาจจะสามารถขยับราคาได้บ้าง ส่วนประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ จะค่อนข้างลำบากในการต่อรอง เพราะประเทศเหล่านี้ซื้อสินค้าไทยแพงขึ้นและถือว่าแพงขึ้นกว่าปกติ จากแรงกดดัน 2 ด้าน คือจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่วนหนึ่ง และสกุลของคู่ค้าเองที่อ่อนลงทำให้ส่วนต่างค่าเงินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ส่งออกต้องพยายามป้องกันความเสี่ยงของธุรกิจแม้จะมีต้นทุน

ทั้งนี้ สรท.เตรียมจะทำข้อเสนอไปที่ ธปท.เพิ่มเติม จากที่ ธปท.ได้ดำเนินการเรื่องการใช้เงินบาทในการซื้อขายสินค้าโดยตรง ซึ่ง สรท. ก็เห็นด้วยและอยากให้ผู้ส่งออกหันมาใช้มากขึ้น ปัจจุบันมีอยู่ 3 ประเทศที่สามารถใช้เงินบาทแลกเปลี่ยนกับสกุลนั้นได้โดยตรง ไม่ต้องไปโค้ดราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐก่อน และอยากให้ ธปท.ขยายความร่วมมือกับประเทศอื่นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนที่สัดส่วนการส่งออกของไทยไปอาเซียนสัดส่วนรวมกว่า 20% ซึ่งการซื้อขายบาท-ริงกิต บาท-รูเปีย สามารถดำเนินการได้แล้ว ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการเจรจาบาท-เยน

วิศิษฐ์กล่าวอีกว่า หากพิจารณาธุรกิจส่งออก กลุ่มที่สามารถนำเข้าสินค้าต้นทุนและวัตถุดิบเข้ามาเพื่อประกอบก่อนส่งออกไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเป็นการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแบบธรรมชาติ (Natural Hedge) เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่า เมื่อแปลงรายได้มาเป็นเงินบาทได้กำไรลดลง แต่ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าวัตถุดิบได้ถูกลงเช่นกันทำให้รายได้และรายได้มีความสมดุล ส่วนกลุ่มที่น่าห่วง คือ กลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ 100% และกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศจำนวนมาก ไม่มีตัวช่วยการนำเข้ามาลดต้นทุนการผลิต ได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า ต้นทุนการปรับค่าแรงขึ้นด้วย

ไม่เฉพาะความกังวลของภาคเอกชนเท่านั้น ล่าสุด วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ออกมาระบุว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ส่งผลให้เงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาครวมทั้งเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ธปท.จึงจะยกระดับการดูแลและเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพร้อมทบทวนมาตรการเพิ่มเติมหากเห็นว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินผิดปกติ เพราะกังวลว่าหากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องอาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้

จึงไม่แปลกว่าทำไมขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคเศรษฐกิจจึงร้อนใจกันอย่างมาก เพราะการแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วงต่อภาคเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่ง!

และท้ายที่สุดแล้ว ธปท.จะมีมาตรการที่ชัดเจนออกมาอย่างไร กำกับดูแลหรือไม่ ทุกฝ่ายคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เพราะ ธปท.เองจะเป็นผู้ชี้ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะรุ่งหรือร่วง!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image