จับตาเกณฑ์คุม ‘ไอซีโอ-บิทคอยน์’ ป้องกันเสี่ยงจริง…หรือได้แค่เตือน?

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีกำลังเข้ามามีบทบาทในทุกๆ อุตสาหกรรม โดยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณาและธนาคารพาณิชย์กันไปบ้างแล้ว ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ชัดขึ้นด้วย แม้ว่าอาจจะมีข้อติดขัดทางกฎหมายอยู่บ้างก็ตาม อย่างไรก็ตามหากมองรูปแบบการทำธุรกิจพบว่ามีการระดมทุนรูปแบบใหม่เกิดขึ้นในลักษณะ การระดมทุนด้วยเหรียญดิจิทัล (Initial Coin Offering) หรือ ไอซีโอ ด้วย

ระดมทุนเงินดิจิทัลคืออะไร

ซึ่งก่อนที่จะไปพูดถึงไอซีโอและบิทคอยน์ หนึ่งในสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการระดมทุนรูปแบบเดิมที่เราเห็นกันมาตลอด คือ การระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป (ไอพีโอ) เป็นการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการขยายธุรกิจ แต่การระดมทุนแบบไอซีโอเจ้าของโครงการจะเสนอการระดมทุนให้กับผู้ลงทุนทั่วไป โดยใช้ สกุลเงินดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี่) ซึ่งอาจจะเป็นเงินสกุลใหม่เลย หรือใช้เป็นคริปโตเคอเรนซี่ เช่น บิทคอยน์ก็ได้ และผู้ลงทุนจะได้รับ เหรียญ (โทเค็น) เป็นการตอบแทน ซึ่งผู้ออกโทเค็นต้องเผยแพร่ข้อมูลผลประโยชน์จากการใช้โทเค็นในโครงการ หรือออกไวท์เปเปอร์เพื่อให้นักลงทุนทำความเข้าใจและศึกษาก่อน

ทั้งนี้ เงื่อนไขของการระดมทุนไอซีโอที่สำคัญ คือ 1.ต้องเป็นธุรกิจที่ใช้ตัวกลางในการเก็บข้อมูล (บล็อกเชน) ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลคล้ายๆ ห่วงโซ่ แต่ไม่ต้องอาศัยคนกลางทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล จึงมักจะพบในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะสตาร์ตอัพ 2.มีการออกโทเค็นเป็นผลตอบแทนให้กับนักลงทุน และ 3.ใช้คริปโตเคอเรนซี่และแม้ว่าไอซีโอจะช่วยอำนวยความสะดวกให้มากขึ้นแต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก โอกาสที่โครงการจะเจ๊งมีสูงเพราะไม่สามารถการันตีความสำเร็จของโครงการได้ ขณะเดียวกันยังไม่มีกฎหมายรองรับคริปโตเคอเรนซี่โดยเฉพาะบิทคอยน์

Advertisement

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องใหม่ แต่ถ้าสังเกตจะเห็นว่าแพลตฟอร์มไม่ได้แตกต่างจากเดิม เงินซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้ถูกเปลี่ยนจากเงินสกุลตราต่างประเทศ หรือเงินที่กฎหมายให้การรองรับ เช่น เงินบาท เงินดอลลาร์ เงินยูโร เงินเยนมาเป็น “คริปโตเคอเรนซี่” แทน เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) อิเทอเรียม (Ethereum) ริปเปิล (Ripple) คาร์ดาโน (Cardano)

ซึ่งล่าสุดราคาบิทคอยน์วิ่งอยู่ที่ประมาณ 9,242 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ถ้าเปรียบเทียบกับภาพ 3 เดือนที่ผ่านมา (พฤศจิกายน 2560-มกราคม 2561) ราคายังมีความผันผวนสูงโดยในเดือนธันวาคมราคาบิทคอยน์ทำสถิติสูงสุด (นิวไฮ) อยู่ที่ประมาณ 19,000 ดอลลาร์สหรัฐ

แจงทดแทนระบบเดิมไม่ได้

Advertisement

เรื่องนี้ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด อธิบายให้ฟังว่า ประโยชน์ของสกุลเงินดิจิทัลใหม่นี้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว สามารถพัฒนาประสิทธิภาพทางการเงินได้ แต่ปัญหาขณะนี้คือ ยังไม่มีใครทราบเรื่องการประเมินมูลค่าของบิทคอยน์อย่างแท้จริง ทำให้มีการเก็งกำไรเกิดขึ้น และปัจจุบันมีคริปโตเคอเรนซี่ประมาณ 1,500 สกุล เพราะฉะนั้นคนที่ทำไอซีโอจะต้องมาออกเงินสกุลใหม่ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเป็นดอลลาร์หรือเป็นบิทคอยน์ ส่วนแนวโน้มของบริษัทจดทะเบียนที่จะระดมทุนด้วยไอซีโอ ต้องทำความเข้าใจว่าไอซีโอไม่ได้มีไว้ทดแทนการทำไอพีโอ หรือทดแทนการระดมทุนแบบดั้งเดิม เนื่องจากวัตถุประสงค์ของไอซีโอ คือ ให้บริษัทที่มีโครงการทำธุรกิจบนระบบอินเตอร์เน็ตสามารถสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นบริการที่จะเกิดขึ้นหรือธุรกิจที่จะเกิดขึ้นต้องเป็นธุรกิจออนไลน์เท่านั้น ไม่ใช่ว่าอยากจะสร้างโรงเหล็กโรงใหม่ก็ออกไอซีโอ แล้วเอาเงินที่ว่ามาแลกเป็นเหรียญแล้วสร้างโรงเหล็กนั้นไม่ใช่

นายไพบูลย์ระบุว่า กลไกของบล็อกเชนทำงานด้วยตัวของมันเอง โดยจะยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายๆ ว่าอย่างในเมืองนอกเขาจะสร้างบ่อนพนันกาสิโนบนอินเตอร์เน็ต แทนที่จะไปมาเก๊า ก็มาล็อกอินกับโครงการนี้แทน นี่จึงเป็นธุรกิจที่เหมาะสมกับการระดมทุนแบบไอซีโอ เพราะมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า 1.เอาเงินไปทำอะไร ไปสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเป็นบ่อนพนันกาสิโน เล่นได้ทุกรูปแบบ 2.ใช้เหรียญที่จะออกมาใช้พนันเลย เมื่อได้กำไร และสามารถนำเงินไปขายออกได้หรือเรียกว่าเป็นคริปโตฯเอ็กซ์เชนจ์

“บิทคอยน์จะมาแทนที่เงินสกุลที่เราใช้กันในปัจจุบันได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ที่การยอมรับและต้องให้คนเข้าใจมันก่อน วันนี้ทุกคนเข้าใจไม่ลึกซึ้งพอ เข้าใจแค่ว่าบิทคอยน์เป็นเหรียญ ซึ่งกลไกจริงๆ เป็นคอนเซ็ปต์ที่ดี สามารถทำให้การชำระสินค้า การโอนเงินสะดวกกว่าระบบปัจจุบัน และแน่นอนว่าหากคนใช้เริ่มมากขึ้นไปถึงจุดที่สมมุติให้เป็นสกุลเงินโลก เช่น ใช้กัน 6,000 ล้านคน ก็แน่นอนว่าราคาไม่หวือหวาเท่าวันนี้ เปรียบเทียบกับหุ้นใหญ่อย่าง ปตท. ปรับขึ้นลง 30% ไม่ได้ เพราะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ มันลากไม่ได้ ดังนั้นราคาบิทคอยน์วันนี้ก็เหมือนหุ้นขนาดเล็ก สามารถปรับขึ้นลงได้ 30% ขณะเดียวกันคนที่ซื้อขายและเข้าใจบิทคอยน์มีน้อย ราคาจึงกระชากขึ้นลงได้ง่าย” นายไพบูลย์ระบุ

‘ฟิลลิป’ยันบิทคอยน์ผันผวนสูง

หลังจากอธิบายเรื่องการทำไอซีโอและพูดถึงสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์แล้ว มาพูดถึงบริษัทที่เปิดบริการซื้อขายบิทคอยน์กันบ้าง

โดย นายปรัชญา กุลวณิชพิสิฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อธิบายให้ฟังว่า “บริษัทเปิดให้ซื้อขายบิทคอยน์ฟิวเจอร์ส ในตลาด CBOE (Chicago Board Options Exchange) และตลาด CME (Chicago Mercantile Exchange) ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีผู้ลงทุนให้ความสนใจสอบถามเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากบิทคอยน์ฟิวเจอร์สเป็นสินค้าที่มีความผันผวนสูง บริษัทมีนโยบายให้บริการและบริหารความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด โดยบริษัทไม่ได้เปิดให้บริการซื้อขายบิทคอยน์ฟิวเจอร์สแก่ลูกค้าทุกราย มีขั้นตอนการคัดเลือกลูกค้าที่สามารถรับความเสี่ยงได้ เช่น ต้องมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง พร้อมกันนี้จะประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ลูกค้า ทั้งโอกาสทำกำไรและความเสี่ยงในการลงทุน ถึงแม้การลงทุนในสัญญาฟิวเจอร์สมีความผันผวนตลอดเวลา แต่ผู้ลงทุนสามารถเก็งกำไรได้ทั้งสภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง”

ด้านบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือเจวีซี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือเจมาร์ทก็เตรียมจะเปิดระดมทุนไอซีโอเป็นรายแรกของไทย โดยเปิดขายโทเค็นในชื่อ “เจฟินคอยน์” ซึ่งบริษัทแจ้งว่าจะออกไวท์เปเปอร์และเปิดจองซื้อในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้หลังจากนั้นจะเริ่มขายเหรียญอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มีนาคม โดยวัตถุประสงค์ของการออกไอซีโอครั้งนี้เพื่อนำเงินไปใช้พัฒนาระบบสินเชื่อแบบดิจิทัล โดยมีมูลค่าการระดมทุน 660 ล้านบาท จำนวนเจฟินคอยน์รวม 300 ล้านเหรียญ ระดมทุนโดยไอซีโอ 100 ล้านเหรียญ ในราคาหน่วยละ 6.6 บาท

ซึ่งก็เป็น 2 สถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น ขณะที่บริษัท ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็เตรียมที่จะออกไอซีโอภายในปีนี้ แต่ยังติดปัญหาเรื่องแนวทางการกำกับดูแลไอซีโอและบิทคอยน์ที่ยังไม่ชัดเจน

ตลท.จับตาระดมทุนใกล้ชิด

ฝั่ง นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลหรือมอนิเตอร์การระดมทุน บอกว่า ตลท.อยู่ระหว่างการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเจมาร์ทว่าการเปิดเผยข้อมูลในไวท์เปเปอร์เป็นข้อมูลฉบับสมบูรณ์หรือไฟนัลแล้วหรือไม่ หรือเป็นเพียงดราฟต์ที่สามารถเปลี่ยนข้อมูลได้อีก และสำหรับมาตรการของ ตลท.จะดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ การเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจน โดยเฉพาะข้อมูลที่มีผลกับฐานะการเงินและมูลค่าของบริษัท เนื่องจากเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่อยู่ในความดูแล

ด้าน นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. ระบุว่า ขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียนสนใจเข้ามาขอข้อมูลเรื่องไอซีโอเพิ่มเติมอีก 1 ราย หลังจากก่อนหน้านี้เจมาร์ทเตรียมจะเปิดระดมทุนไอซีโอ อย่างไรก็ตามในส่วนผู้สนใจลงทุนต้องอ่านไวท์เปเปอร์ให้ครบถ้วน เพราะถือเป็นข้อตกลงร่วมกันกับบริษัทโดยตรง ซึ่งผู้ซื้อต้องทำความเข้าใจว่าโทเค็นที่ซื้อไปทำอะไรได้บ้างมีข้อกำหนดอย่างไร มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เพราะบริษัทมีโอกาสที่จะดำเนินการตามที่ชี้แจงไว้ไม่สำเร็จได้ ส่วนมาตรการดูแลของ ตลท. คือ การให้คำแนะนำเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม หากเห็นว่ายังไม่ครบถ้วน ส่วนการบันทึกข้อมูลการระดมทุนไอซีโอจะอยู่ในงบดุลเป็นภาระผูกพันต่อผู้ถือหน่วย ไม่นับเป็นหนี้ และไม่กระทบต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท

ก.ล.ต.จ่อประกาศเกณฑ์ไอซีโอ

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้สัมภาษณ์ว่า มาตรการกำกับดูแลการระดมทุนในรูปแบบไอซีโอกับบิทคอยน์ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลประเภทหนึ่ง เป็นนโยบายที่ต้องไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้การหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระหว่าง ก.ล.ต. กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เห็นเป็นภาพเดียวกัน โดยขณะนี้ทาง ก.ล.ต.ได้ปิดรับฟังความเห็นเกณฑ์ไอซีโอแล้ว อยู่ระหว่างการหารือในคณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต. เพื่อปรับปรุงและแก้ไขหลักเกณฑ์ให้เหมาะสม และเสนอไปทางกระทรวงการคลังเป็นลำดับต่อไป โดยคาดว่าหากแล้วเสร็จสามารถประกาศใช้เกณฑ์ไอซีโอได้ภายในไตรมาส 1 นี้

นายรพีระบุว่า สำหรับการกำกับดูแลไอซีโอ แม้กระบวนการจะเปลี่ยนไปหมดเพราะเป็นการระดมทุนแบบใหม่ แต่หลักการในการกำกับดูแลไอซีโอไม่เปลี่ยน คือ 1.ต้องไม่หลอกคน 2.ต้องมีตัวตน และ 3.เปิดเผยข้อมูลในระดับหนึ่งเพื่อให้คนตัดสินใจได้ โดยเบื้องต้น ก.ล.ต.จะกำหนดรูปแบบการกำกับดูแลผ่านตัวกลาง (พอร์ทอล) ทั้งการเข้าไปตรวจไวท์เปเปอร์ และการยืนยันตัวตนเจ้าของโครงการ แต่อาจจะไม่เข้มงวดเช่นเดียวกับการกำกับดูแลหุ้นเข้าใหม่ (ไอพีโอ)

“เงินสกุลดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี่) ธปท.ไม่รองรับว่าเป็นสิ่งที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย นั่นแปลว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่ผิด แต่ไม่มีสถานะในการบังคับ และสำหรับความผันผวนของบิทคอยน์ขึ้นอยู่กับซัพพลายและดีมานด์ในตลาด ประชาชนจึงสนใจเข้าไปเก็งกำไรตัวเงิน ขณะเดียวกันบิทคอยน์เป็นความลับสุดยอดไม่เคยถูกแฮกมาก่อน และหากห้ามก็อาจจะลงใต้ดินและหาตัวผู้กระทำไม่เจอ เพราะฉะนั้นนักลงทุนที่สนใจลงทุนต้องมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงสูง แม้จะมีการตั้งคำถามว่าบิทคอยน์เป็นการฟอกเงิน หรือเป็นการเก็งกำไรโดยไม่มีเหตุผลหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องหารือกัน” นายรพีกล่าว

1เดือนสรุปแนวทางดูแลลงทุน

ขณะที่ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า คณะทำงานที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาแนวทางในการดูแลการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล จะสามารถสรุปแนวทางดังกล่าวได้ภายใน 1 เดือนนี้ โดยคณะทำงานจะดูแลว่าควรจะกำกับเงินดิจิทัลอย่างไร โดยทั้งผู้ว่าการ ธปท. กระทรวงการคลัง และ ก.ล.ต. เริ่มส่งสัญญาณว่าเงินดิจิทัล โดยเฉพาะบิทคอยน์นั้นไม่มีกฎหมายรองรับ ถึงแม้ไม่ผิดกฎหมายแต่ต้องระวัง ถ้าเกิดความเสียหายรัฐไม่สามารถไปช่วยอะไรได้

“กรณีบิทคอยน์นั้นนักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจในต่างประเทศก็บอกว่า บิทคอยน์จบด้วยความน่าเกลียด ซึ่งก็แล้วแต่ความคิดของแต่ละคน ต้องดูทิศทางต่อไป บางประเทศก็ประกาศไม่ให้ค้าขายบิทคอยน์ มันมีหลากหลาย ตอนนี้ประเทศใหญ่ประกาศไม่รับรองแล้วก็มี เช่น จีน ดังนั้นการทำเรื่องนี้จะต้องประสานกับต่างประเทศด้วย ส่วนจะมีกฎหมายออกมาควบคุมหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังพูดไม่ได้ ต้องรอคณะทำงานสรุปก่อน” นายสมชัยระบุ

สศค.แยก3กลุ่มมองบิทคอยน์

ด้าน น.ส.ศศิวิมล ถาวรพงศ์สถิตย์ นิติกรชำนาญการ สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ระบุว่า ในต่างประเทศสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ 1.ประเทศที่ให้การยอมรับผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซี่ เช่น ญี่ปุ่น ได้แก้ไขกฎหมาย Payment Services Act รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บิทคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ มีสถานะทางกฎหมายเทียบเท่าสกุลเงินทั่วไปในปัจจุบัน และสามารถใช้จ่ายได้ตามกฎหมาย หรือบางมลรัฐของสหรัฐ ถือว่าสกุลเงินดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของการส่งผ่านเงิน 2.ประเทศที่ปฏิเสธผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซี่ เช่น โคลอมเบีย เบลเยียม และ 3.ประเทศที่ยังไม่มีมาตรการใดๆ เกี่ยวกับผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซี่ เช่น บราซิล โดยจะเห็นได้ว่าในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ต่างก็มีแนวโน้มที่จะเข้ามาควบคุมดูแลกระดานซื้อขายคริปโตเคอเรนซี่ ขึ้นอยู่กับว่านำกฎหมายฉบับใดมาใช้ ซึ่งมีทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน กฎหมายระบบชำระเงิน หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการเงิน

ท้ายที่สุด บิทคอยน์ที่อยู่ในช่วงขาลง จะดีดตัวสูงขึ้นจนเป็นสกุลเงินของโลกได้หรือไม่ หรือแค่เพียงเทรนด์ชั่ววูบ ต้องจับตาใกล้ชิด!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image