‘ยาง’…โจทย์ใหญ่รบ.คลำทางแก้ แค่ลดไม่พอ…แปรรูปใส่เทคโนฯโตยั่งยืน

ยางพาราคือหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ที่มาพร้อมกับปัญหาราคาตกต่ำที่คาราคาซังมานาน สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรชาวสวนยางหลายล้านคน จนเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างหยั่งรากฝังลึก ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ คำอธิบายของผู้ที่เกี่ยวข้องคือ ปัญหาราคายางเกี่ยวเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ดีมานด์ของโลกในการใช้ยางลดลง อีกทั้งยางถือเป็นสินค้าเกษตรที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันค่อนข้างมาก เนื่องจากการผลิตยางสังเคราะห์ต้องใช้พอลิเมอร์ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญจากการกลั่นน้ำมัน ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลง โรงงานอุตสาหกรรมจะหันไปใช้พอลิเมอร์ที่กลั่นได้จากน้ำมันมากขึ้น ทำให้ความต้องการในการใช้ยางลดลงจนฉุดราคายางให้ต่ำลงได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุมของไทย ส่งผลให้สถานการณ์ราคายางตั้งอยู่บนพื้นฐานความไม่แน่นอน ทั้งนี้ สิ่งที่แน่นอนคือ ชาวสวนยางไม่มีอำนาจในการต่อรองได้เลย

๐นโยบายภาครัฐผิดพลาดไม่เห็นผล
จากภาวะราคายางที่ตกต่ำ แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นผลต่อเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่การบริหารจัดการสวนยางและผลผลิต การตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการวางนโยบายยางที่ผิดพลาด ก็เป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวในการผลักดันราคายางเช่นกัน เห็นได้ว่าช่วงหนึ่งที่ยางมีราคาสูง ภาครัฐได้เน้นการเพิ่มพื้นที่ปลูกยางเพื่อเพิ่มผลผลิต จากเดิมที่ยางมีพื้นที่ปลูกเฉพาะภาคใต้และภาคตะวันออกเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้กระจายตัวไปทั่วประเทศ ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ จนผลผลิตงอกเงยล้นตลาด ฉุดราคาดิ่งลงเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ในความพยายามแก้ปัญหาราคายาง รัฐบาลได้เสนอหลายโครงการที่พยายามลดปริมาณการผลิตยางลง อาทิ การลดพื้นที่ปลูก การชะลอกรีด เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลาย หรือแม้แต่ให้ชาวสวนยางหันไปประกอบอาชีพอื่นหรือหาอาชีพเสริม อย่างไรก็ตาม จากมาตรการดังกล่าวเกิดคำถามขึ้นมากมายว่าชาวสวนยางต้องลดปริมาณการผลิตลงขนาดไหน ถึงจะส่งผลอย่างชัดเจนต่อราคายางที่จะปรับขึ้นในตลาดโลก หรือแม้กระทั่งให้เริ่มต้นอาชีพใหม่ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทำได้เพียงข้ามคืน

Advertisement

๐ยางพาราสินค้าเศรษฐกิจการเมือง
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้ง ในยุครัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานด้านยาง โดยควบรวม 3 หน่วยงานเดิมคือ องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และสถาบันวิจัยยาง มารวมอยู่ภายใต้รัฐวิสาหกิจเดียวกันคือ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อให้การดำเนินงานเป็นเอกภาพครบวงจร โดยมี ธีธัช สุขสะอาด นั่งแท่นเป็นผู้ว่าการ กยท. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 โดยเจ้าตัวประกาศในวันเดียวกันว่า พร้อมจะนำนาวา กยท. ลำใหญ่ลำนี้ ไปให้ถึงเป้าหมาย

ในห้วงเวลา 2 ปี ที่ธีธัชคลุกคลีบริหารนโยบายยางนั้น กลับมีข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใสมากมาย แคลงใจว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางกลุ่มหรือไม่ อาทิ การร่วมลงทุนกับบริษัทค้ายางยักษ์ใหญ่ที่ถูกขนานนามว่า 5 เสือ การจัดตั้งเอกชนให้มาบริหารจัดการเงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง (เซส) การประมูลปุ๋ยที่เข้าข่ายการฮั้วประมูล และความข้องใจที่ไม่ได้รับคำตอบจากกรณีที่ปุ๋ยประมูลมีราคาสูงกว่าปุ๋ยในท้องตลาด ประกอบกับราคายางที่แทบไม่ขยับ จนทำให้ชาวสวนยางต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องหลายครั้ง

ท้ายที่สุด เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงเข้ากลางเรือ กยท. ผละกัปตันธีธัชหลุดจากบังเหียน เมื่อรัฐบาลถึงจุดที่ต้องผ่อนคลายสถานการณ์ม็อบยางพารา โดย พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจลงดาบธีธัช โยกย้ายให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแทน

Advertisement

ในอดีต “ข้าว” เคยได้ชื่อว่าเป็นพืชการเมือง ที่นักการเมืองต้องให้ความสำคัญในการพยุงราคา เพราะถือเป็นฐานเสียงสำคัญในการเลือกตั้ง แต่ปัจจุบันปัญหาราคาข้าวตกต่ำไม่ได้โดนโฟกัสเพราะมีระบบประกันราคา กลายเป็นยางพาราที่ในอดีตเคยมีราคาสูงมากแต่ตกต่ำลงอย่างหนักจนเหลือเพียง 3 โล 100 บาทก็เคยมาแล้ว และดูเหมือนราคาตกต่ำยังไม่ได้รับการแก้ไขได้สำเร็จ กลายเป็นพืชยุทธศาสตร์ที่ผสมผสานทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ ปัญหาราคายางยังเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลในทุกยุคเรื่อยมาจนถึงรัฐบาลนี้ยังไม่เห็นทิศทางราคาจะขยับไปไหน กระทั่งนายกฯ ต้องออกคำสั่งพักงานผู้ว่าการ กยท. และล่าสุดบอร์ด กยท.มีมติให้ ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในฐานะผู้แทนผู้ประกอบกิจการยาง รักษาการผู้ว่าการ กยท. แทนจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ธนวรรธ์ถือว่ามีประสบการณ์ทางด้านเศรษฐกิจอยู่พอสมควร จากการเป็นนักวิชาการ นักพยากรณ์เศรษฐกิจ มาสู่การเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายยาง ที่หวังเรียกความเชื่อมั่น ความศรัทธาจากชาวสวนยางกลับคืนมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เวลาในการดำรงตำแหน่งนี้ของธนวรรธ์คงมีอย่างจำกัด และคงไม่มีเวลาให้ลองผิดลองถูกมากนัก

๐หาหมุดใหม่อุตฯแปรรูปเพิ่มมูลค่า
ธนวรรธ์ได้เปิดเผยภายหลังจากที่ได้รับตำแหน่งไม่นานว่า กำลังหาแนวทางผลักดันราคายางในประเทศให้สูงขึ้น ผ่าน 3 แนวทางหลัก คือ 1.การเพิ่มปริมาณความต้องการยางในประเทศด้วยการประสานกับหน่วยงานราชการในการนำยางไปเป็นส่วนผสมทำถนน และแปรรูปในรูปแบบต่างๆ เช่น หมอนยางพารา และชีวมวล รวมทั้งหาตลาดใหม่เพิ่มเติม 2.ต้องเร่งการหารือภายใต้กรอบข้อตกลงระหว่าง 3 ประเทศผู้ผลิตและส่งออกยาง ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพื่อลดปริมาณยางและพื้นที่ปลูกยาง โดยตั้งงบประมาณกลางปีวงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อเชิญชวนให้ชาวสวนยางที่ปลูกยางอายุ 1-25 ปีเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทน และ 3.มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้ชาวสวนยาง ทั้งการฝึกอบรมเสริมอาชีพ การให้เงินทุนหมุนเวียนและสินเชื่อ ทั้งนี้ เชื่อว่าจะมีโอกาสเห็นราคายางเกิน 50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ภายในช่วง 3 เดือนจากนี้

หากมองในภาพรวมทั้งสถานการณ์ภายในและภายนอก จะเห็นได้ว่าขณะนี้การผลักดันราคายางให้สูงขึ้นนั้นเป็นไปได้ยาก ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมัน รวมทั้งความผันผวนของค่าเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งความกังวลในการเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ก็เป็นปัจจัยหลักเชิงลบที่กดดันราคายางในตลาดโลก เนื่องจากยางนั้นถูกส่งออกไปยังจีนมากที่สุด

ทั้งนี้ จากมาตรการภายในประเทศ อาทิ การส่งเสริมให้ใช้ยางภายในประเทศมากขึ้นนั้น กลับไม่ได้ส่งผลต่อราคายางมากนัก เนื่องจากการใช้ยางในประเทศที่เพิ่มขึ้นถือว่ามีปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตยางรวมทั่วโลกประมาณ 13.2 ล้านตัน ในปี 2560 มาตรการนี้จึงแทบไม่ส่งผลให้สต๊อกยางโลกลดลง อีกทั้งความพยายามจำกัดปริมาณการส่งออกยาง ที่แม้จะส่งผลต่อการปรับตัวของราคาในระยะสั้น แต่ในทางกลับกันก็ทำให้สต๊อกยางเพิ่มขึ้นในระยะยาว ซึ่งเป็นการกดดันราคายางเช่นเดียวกัน

ในขณะที่ไทยกำลังวนเวียนอยู่กับการควานหาจุดสมดุลของดีมานด์และซัพพลาย ประเทศต่างๆ ในอาเซียนเริ่มมีกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางที่เริ่มพัฒนาไปไกล

๐แปรรูปยางให้ถึง’ปลายน้ำ’เพิ่มมูลค่า
เมื่อดูข้อมูลจะพบว่าปัจจุบันไทยผลิตยางได้ 4.6 ล้านตันต่อปี โดยใช้ภายในประเทศเพียง 600,000 ตัน แต่ส่งออกมากถึง 4 ล้านตัน ทั้งนี้ ผลผลิตที่ส่งออกจำนวนมากนี้ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในรูปแบบน้ำยางและแผ่นยางประมาณ 87% และส่งออกในรูปแบบยางแปรรูปเพียง 13% เท่านั้น เห็นถึงความไม่สมดุลระหว่างการส่งออกและการใช้ยางภายในประเทศ ซึ่งเกิดจากการที่ยางถูกมองแต่เฉพาะภาคการเกษตรเพียงเท่านั้น การดูแลในระดับนโยบายของรัฐจึงตกอยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหลัก ไทยจึงเก็บเกี่ยวได้เพียงผลิตผลขั้นพื้นฐาน ทั้งๆ ที่มูลค่าเพิ่มอยู่ที่การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางทั้งสิ้น เนื่องด้วยยางในประเทศไทยเป็นสินค้าเกษตรที่ไม่มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมรองรับมากนัก ยางจึงเป็นเพียงวัตถุดิบราคาถูกที่ส่งออกไปยังประเทศอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีการผลิตเหนือกว่า

จะเห็นว่าการที่ยางยังไม่สามารถเป็นเครื่องยนต์ที่ทรงพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ ก็เพราะอุตสาหกรรมการแปรรูปหรือเพิ่มมูลค่ายางอย่างครบวงจรในไทยยังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวมาก ส่งผลให้ประเทศขาดโอกาสจากเศรษฐกิจยางแปรรูปที่มีมูลค่าสูงกว่าการผลิตวัตถุดิบอย่างมาก การสนับสนุนแต่ภาคเกษตรกรรมอย่างเดียวในบางครั้งก็สามารถสร้างปัญหาอย่างเลวร้ายเมื่อผลผลิตพบสภาวะราคาตกต่ำ

ทางออกสำคัญที่ภาครัฐควรจะผลักดันอย่างยิ่ง คือการสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปยาง เพื่อเป็นการสร้างดีมานด์ผลผลิตยางภายในประเทศขึ้นมา ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการควบคุมสมดุลของดีมานด์และซัพพลายได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ไม่ต้องอิงความหวังทั้งหมดไว้กับโลกภายนอกที่ควบคุมได้ยาก ทั้งนี้ การแปรรูปจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร กล่าวคือ แทนที่จะขายน้ำยางหรือยางแผ่น ในราคาเพียง 40 กว่าบาทต่อ กก. ก็นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก่อนส่งออกขาย ซึ่งอาจเพิ่มมูลค่าได้เป็น 5-10 เท่า อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับแรงงานภายในประเทศ และยกระดับการพัฒนาประเทศได้อีกขั้น อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยต้องการผลักดันตัวเองให้ไปถึงจุดนั้น หลายหน่วยงานต้องบูรณาการเพื่อวางรากฐานในหลายเรื่อง

๐ดึงอุตฯตปท.ช่วยสร้างองค์ความรู้
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการทุ่มเทให้กับการศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้น เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่เรียกว่า “ปลายน้ำ” อย่างสร้างสรรค์ หรือผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายจากการแปรรูปยาง ซึ่งขณะนี้โดยส่วนใหญ่ไทยยังส่งยางออกขายในรูปแบบ “ต้นน้ำ” อยู่ และควรส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปยาง ด้วยการเชิญชวนอุตสาหกรรมจากต่างประเทศที่มีองค์ความรู้เพียบพร้อมให้มาลงทุนในไทยอย่างจริงจัง อาทิ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็เป็นการเปิดกว้างให้มีการลงทุนสร้างฐานการผลิต ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หมอนยาง แผ่นกันลื่น ยางบล็อกปูพื้น ถุงมือยาง เครื่องมือแพทย์ รองเท้า กระเป๋า พื้นสนามฟุตบอล ฯลฯ หรือทางรัฐบาลไทยอาจใช้โอกาสนี้ชักชวนผู้ประกอบการผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ให้มาตั้งฐานการผลิตใหญ่ในไทยก็น่าสนใจไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางในไทยเริ่มมีความเคลื่อนไหว เมื่อ “คอนติเนนทอล ไทร์ส” บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านชิ้นส่วนยานยนต์จากเยอรมัน ทุ่มทุนกว่า 250 ล้านยูโร (ประมาณ 10,000 ล้านบาท) สร้างโรงงานผลิตยางรถยนต์แห่งใหม่ที่จังหวัดระยอง โดยนิโคไล เซตเซอร์ คณะกรรมการบริหารและผู้บริหารสูงสุดฝ่ายยางรถยนต์ เปิดเผยว่า บริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยที่สอดคล้องกับแผนการขยายกิจการผลิตยางของคอนติเนนทอล ไทร์ส จึงตัดสินใจลงทุน เพื่อสร้างโรงงานผลิตยางแห่งใหม่ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับยางจากประเทศเยอรมนี มาผสมผสานกับความสามารถทางการผลิตของท้องถิ่นไทย จะช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่า ยางที่ผ่านกระบวนการผลิตจะมีคุณภาพสูง ซึ่งรัฐบาลไทยและองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านการลงทุนได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีตลอดกระบวนการตัดสินใจ จากนี้ไปบริษัทจะมุ่งมั่นในการร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อให้บรรลุความสำเร็จในระยะยาว ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเดินสายการผลิตได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2562

๐เร่งวิจัยศึกษาสินค้ายางสร้างสรรค์
นอกจากนี้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ได้เริ่มศึกษาวิจัยพัฒนายางให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. ได้เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในผลิตภัณฑ์จากยางหลายประเภท อาทิ ถุงมือผ้าเคลือบยางเพื่อป้องกันการบาดเฉือน ซึ่งสามารถนำไปใช้งานทางด้านเกษตรกรรม ประมง ก่อสร้าง และอุตสาหกรรม โดยน้ำยางจะช่วยเพิ่มความทนทานให้แก่ถุงมือ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้จะช่วยเพิ่มมูลค่ายางได้มากกว่า 10 เท่า อีกทั้ง ผลิตภัณฑ์เครื่องขึ้นรูปแผ่นเสริมรองเท้าเฉพาะบุคคล เพื่อใช้ในการทำแผ่นเสริมรองเท้าให้เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีลักษณะเท้าไม่มาตรฐานหรือกลุ่มนักกีฬา ก็สามารถช่วยส่งเสริมให้เกิดมูลค่าเพิ่มของน้ำยางข้นได้ถึง 10 เท่าเช่นเดียวกัน รวมถึงมีต้นทุนการผลิตเครื่องดังกล่าวถูกกว่าท้องตลาดถึง 75% ทดแทนการนำเข้าที่มีราคาหลายแสนบาท อีกผลิตภัณฑ์คือ แผ่นยางปูพื้น เพื่อใช้ฝึกกายภาพบำบัดสำหรับการหัดเดินของผู้ป่วยและการฝึกพัฒนาการเด็กเล็ก ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยางได้ถึง 2-4 เท่า ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่ายางแล้ว ยังเป็นการลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอีกด้วย

คงจะมองเห็นถึงโอกาสได้บ้างว่าความยั่งยืนของอาชีพชาวสวนยางไทยนั้น ควรมุ่งเน้นไปที่การแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับยาง ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคต ไม่ว่าพื้นที่ใดจะสามารถปลูกต้นยางได้ เนื่องด้วยเทคโนโลยีที่กำลังก้าวหน้าไม่หยุดหย่อน เมื่อนั้นการแข่งขันจะขยับไปอยู่ในจุดที่ว่าใครสามารถคิดค้นการเพิ่มมูลค่ายางได้อย่างสร้างสรรค์มากกว่ากัน หรือหากมองในระยะสั้นกว่านั้น การเริ่มขยายการแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางในประเทศให้ได้มากขึ้น ก็จะสามารถต่อยอดไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์เพื่อผลิตจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะช่วยผลักดันราคายางให้สูงขึ้น ต่อลมหายใจให้ชาวสวนยาง จนสุดท้ายได้กลับมาสูดหายใจได้เต็มปอดอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image