เปิดแผนบริหารจัดการน้ำ ตามสไตล์ชลประทาน 4.0 ยุค ทองเปลว กองจันทร์

การวางแผนจัดการน้ำของระบบชลประทานที่นอกจากจะต้องหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในแต่ละพื้นที่แล้ว ยังมีหน้าที่จัดการในการอุปโภคบริโภคด้วย ซึ่งเมื่อบ้านเมืองขยายตัว วิถีชีวิตเปลี่ยน ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่ ”ความต้องการน้ำ”Ž จึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ภารกิจของ ”กรมชลประทาน”Ž หน่วยงานภายใต้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงต้องจัดหาน้ำให้เพียงพอกับความต้องการ มติชนŽ ได้สัมภาษณ์ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ทัพหน้าการบริหารจัดการน้ำ วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับหลายภาคส่วน เพื่อให้พร้อมรับมือหากเกิดปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง

 

๐ทำยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี ล้อยุทธศาสตร์ชาติ

Advertisement

จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ให้จัดทํายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดยให้ส่วนราชการศึกษากรอบและแนวทางการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ ให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน และมีหน้าที่ดําเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาตินั้น กรมชลจึงได้จัดทํายุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ และสอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และยุทธศาสตร์สําคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค 2.การจัดหาน้ำเพื่อการผลิตสำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรม 3.การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย 4.การควบคุมคุณภาพน้ำ 5.การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และ 6.การบริหารจัดการตามแผนยุทธศาสตร์ในภาวะปกติและในภาวะวิกฤต

โดยกำหนดกรอบระยะเวลาดําเนินการเป็น 4 ช่วง โดยในระยะ 5 ปีแรก พ.ศ.2560-2564 ได้ตั้งเป้าหมายสู่การเป็น องค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2579Ž ด้วยการกําหนด Road Map เป้าหมายการดําเนินงานแต่ละช่วงเป็นเข็มทิศนําทาง เพื่อมุ่งสู่ความสําเร็จที่ส่งต่อไปสู่การพัฒนาระดับประเทศให้บรรลุเป้าหมาย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนŽ ในที่สุด

๐ตั้งทีมรับมือการบริหารจัดการน้ำ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยาการน้ำครั้งที่ 2/2561 ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ที่ประชุมได้หารือการเตรียมความพร้อมในการรับมือปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝน ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่าปริมาณฝนในปีนี้จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 10%

โดยฤดูฝนของไทยได้เริ่มแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2561 แต่ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนจะน้อยลงและไม่สม่ำเสมอ และคาดว่าในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนจะมีพายุเข้ามาประมาณ 1-2 ลูก และคาดว่าประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม ขณะที่ภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะยังคงมีฝนตกต่อไปอีกถึงเดือนธันวาคม

จากการคาดการณ์ดังกล่าว ทำให้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมชลประทานประสานงานกับผู้ที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่เพื่อประชุมหารือร่วมกัน ซึ่งที่ประชุมได้เน้นย้ำ 4 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.การแบ่งพื้นที่ในการรับผิดชอบที่ชัดเจน ทั้งในเขตพื้นที่กรมชลประทาน และนอกเขตชลประทาน ทั้งนี้ ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน กรมชลประทานจะต้องช่วยเหลือและสนับสนุนในเรื่องใดบ้าง 2.กำหนด

ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน 3.จัดสรรเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และรถขุด โดยจะต้องจัดสรรเครื่องมือให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่ หรือภูมิภาคนั้นๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างสูงสุด และเพื่อช่วยสนับสนุนในการดำเนินการในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน และ 4.หากต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่นอกเหนือไปจากข้อมูลทั้งหมดจะต้องหาวิธีการรับมือ

โดยแผนการรับมือที่ได้ดำเนินการไว้ในขณะนี้ คือ 1.วางแผนการใช้น้ำ หรือการระบายน้ำจากเขื่อน โดยต้องมีการจัดสรรให้มีความเหมาะสมกับความต้องการ รวมถึงต้องมีความเหมาะสมกับในแต่ละพื้นที่ 2.การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่การเกษตร โดยในพื้นที่ลุ่ม ให้เกษตรกรได้มีการเพาะปลูกไปก่อน เพื่อที่จะให้ทันเก็บเกี่ยวก่อนช่วงน้ำหลาก เช่น อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และในพื้นที่ลุ่มด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่มีพื้นที่ทั้งหมดอยู่ประมาณ 1.5 ล้านไร่

โดยในขณะนี้ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก มีการเพาะปลูกเต็มพื้นที่ 100% และด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีการเพาะปลูกอยู่ราว 62%

ส่วนแผนการบรรเทาอุทกภัย กรมชลประทานมีการเตรียมการโดยการนำการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยามาทำการประเมินพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอุทกภัยว่ามีพื้นที่ใดบ้าง ทั้งนี้ พื้นที่ในเขตชลประทานไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากมีเครื่องมือครบครัน อีกทั้งมีคลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ และระบบสูบน้ำออกจากพื้นที่

๐ตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำก้าวสู่กรมชลประทาน4.0

จากการที่รัฐบาลมุ่งเป้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming ให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กรมจึงมีความมุ่งหวังที่จะก้าวสู่กรมชลประทาน 4.0 ด้วยการตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center : SWOC) เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการ ประมวล วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ การติดตามและพยากรณ์สถานการณ์น้ำ การจัดสรรน้ำ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์และการเฝ้าระวังการเตือนภัย โดยได้มีระบบการติดตามและน้ำเสนอข้อมูลที่รวดเร็วครบถ้วนทุกมติ สามารถสนับสนุนการตัดสินใจผู้บริหารประเทศได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ทันเหตุการณ์ และเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศคลังข้อมูลกรมชลประทาน

โดยศูนย์ดังกล่าวมีภารกิจในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลน้ำฝน-น้ำท่า น้ำชลประทาน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปริมาณน้ำผ่านอาคารชลประทาน โดยใช้ข้อมูลจากคลังข้อมูลกรมชลประทาน และวิเคราะห์สถานการณ์ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อจัดทำเป็นรายงานเสนอผู้บริหารกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาวะปกติและภาวะวิกฤต โดยปฏิบัติการใน 6 เรื่อง ประกอบด้วย 1.เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศคลังข้อมูลกรมชลประทาน 2.เป็นศูนย์กลางสำหรับติดตาม รวบรวม วิเคราะห์ บริหารจัดการน้ำ และการคาดการณ์สถานการณ์น้ำ 3.สนับสนุนข้อมูลสถานการณ์น้ำประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำในสภาวะวิกฤตต่างๆ เสนอต่อผู้บริหารกรมชลประทาน ผู้บริหารประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ 4.เป็นศูนย์กลางบัญชาการบริหารจัดการน้ำ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก 5.เป็นศูนย์การปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำ และ 6.เป็นศูนย์กลางบูรณาการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ

๐เฝ้าระวังและเตือนภัยรับมือสถานการณ์น้ำ

การปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะในฤดูน้ำหลากจะทำการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนภัยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้ำไปแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เพื่อรับมือ ป้องกัน หรืออพยพต่อไป โดยมีขบวนงานการปฏิบัติงาน 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1.ติดตามข้อมูลสภาพปริมาณน้ำฝน น้ำท่าและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 2.วิเคราะห์ พยากรณ์น้ำท่า เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในลำน้ำสายหลักและอ่างเก็บน้ำจากแบบจำลองคณิตศาสตร์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ 3.ประเมินสถานการณ์พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้ง 4.วางแผน เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรและเครื่องมือสำหรับเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารในการสั่งการให้หน่วยปฏิบัติลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้น และ 5.ประเมินความเสียหายและวางแนวทางการฟื้นฟู

โดยในปีนี้ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะได้จำลองสถานการณ์น้ำในปี 2561 โดยแบ่งออกเป็น 5 กรณี ประกอบด้วย 1.กรณีเป็นฝนเฉลี่ย 2.กรณีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย 10% 3.กรณีน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 10% 4.กรณีปริมาณฝนเทียบเคียงกับฝนในปี 2528 โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นผู้คาดการณ์ และ 5.เทียบเคียงกับปริมาณฝนในปี 2557 จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ช่วงเดือนสิงหาคมปีนี้ จะมีพายุบวกเข้ามาเพิ่ม ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อ 12 จังหวัด ประกอบด้วย จ.อุบลราชธานี จ.เลย จ.หนองคาย จ.เพชรบูรณ์ จ.น่าน จ.อุตรดิตถ์ จ.แพร่ จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร และ จ.นครสวรรค์ โดยทั้ง 12 จังหวัดจะได้รับข้อมูลจากกรมชลประทาน เพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือ ทั้งนี้ จำเป็นจะต้องมีการทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อให้ทุกกระบวนการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลกระทบที่ตามมาน้อยที่สุด

๐เขื่อนขนาดใหญ่ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่า เขื่อนขนาดใหญ่มีประมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ยกเว้นในเขื่อนขนาดกลางจำนวน 60 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนมากกว่า 80% ซึ่งถือว่าสูง จึงต้องเร่งระบายน้ำตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยปัจจุบันเหลือเขื่อนขนาดกลางเพียง 39 แห่ง ที่กำลังเร่งการระบายน้ำอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณน้ำในพื้นที่เขื่อนขนาดกลางจะเข้าสู่ภาวะปกติภายในกลางเดือนมิถุนายนนี้

นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบบานประตูน้ำตามจุดต่างๆ ให้มีความพร้อมในการเปิด-ปิด ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีสิ่งกีดขวางทางน้ำติดอยู่ อาทิ ผักตบชวาจะดำเนินการกำจัดออกพื้นที่โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบบานประตูน้ำแล้วพบว่ามีการใช้งานได้เป็นปกติ ทางกรมชลประทานจะติดป้ายประกาศเพื่อให้ประชาชนที่ผ่านไปผ่านมาได้รับทราบ และเกิดความสบายใจ อีกทั้งทางน้ำที่กรมชลประทานดูแลอยู่ได้มีการติดป้ายประกาศที่ระบุว่าคลองเส้นนี้ หรือทางน้ำเส้นนี้ ชลประทานอะไรเป็นผู้รับผิดชอบ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบชื่ออะไร สามารถติดต่อไปอย่างไร ซึ่งหากในอนาคตเกิดปัญหา ประชาชนจะสามารถแจ้งไปยังผู้รับผิดชอบได้ เพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
การวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง กรมชลประทานจะประเมินปริมาณน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ โดยอาศัยสถิติข้อมูลน้ำในอดีตมาวิเคราะห์ร่วมกับแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนดขึ้นโดยไม่ได้นำความผันแปรของสภาพอากาศโลกมาประกอบการดำเนินงานŽ

ดังนั้นเพื่อให้การวางแผนการจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ มีความสอดคล้องและใกล้เคียงกับสภาพอากาศของโลกยิ่งขึ้นกรมชลประทานจึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในการทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวทำให้สามารถประเมินปริมาณน้ำและการเพาะปลูกได้ทั้งปี คือ 2 ฤดู ฤดูแล้ง และฤดูฝน รู้ปริมาณน้ำต้นทุนที่ต้องใช้ และปริมาณน้ำต้นทุนที่เหลือของฤดูการเพาะปลูกถัดไปได้ ทำให้การบริหารน้ำต้นทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำและสามารถแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทราบเพื่อวางแผนและเตรียมการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยแบบจำลองจะทำการ
คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนจากผลการคาดการณ์ปรากฏการณ์การเกิดเอลนิโญ และลานิญาของมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย มาทำการคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนใน 4 เขื่อนหลัก แล้วน้ำปริมาณน้ำต้นทุนคาดการณ์ไปวางแผนจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่กรมชลประทานได้พัฒนาเพื่อก้าวไปสู่กรมชลประทาน 4.0

๐ความต้องการน้ำของประเทศ 1.5 แสนล้าน ลบ.ม.

ความต้องการใช้น้ำรวมของทั้งประเทศในปี พ.ศ.2560 อยู่ที่ประมาณปีละ 151,750 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรสูงถึง 113,960 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 75 ของความต้องการน้ำทั้งหมด ในจํานวนนี้อยู่ในเขตที่มีแหล่งกักเก็บน้ำและระบบชลประทานอยู่แล้ว 65,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลืออีก 48,960 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก (คัดเฉพาะการปลูกฤดูฝนเท่านั้น) รองลงไปเป็นการใช้น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศประมาณ 27,090 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 18 ของความต้องการน้ำทั้งหมด) เพื่อการอุปโภค บริโภคและการท่องเที่ยวประมาณ 6,490 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 4 ของความต้องการน้ำทั้งหมด) และการอุตสาหกรรมประมาณ 4,206 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 3 ของความต้องการน้ำทั้งหมด) (จากรายงานแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เดือนพฤษภาคม 2558)

นอกจากนี้ จากความต้องการใช้น้ำรวมของทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณ 151,750 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น สามารถแบ่งออกเป็นความต้องการที่สามารถจัดการได้ทั้งสิ้นประมาณ 102,140 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกิดจากปริมาณน้ำที่สามารถเข้าถึงตามแหล่งน้ำในรูปแบบต่างๆ ได้ อาทิ แหล่งเก็บกักน้ำ อาคารพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งน้ำ/ลําน้ำธรรมชาติ และน้ำบาดาล เป็นต้น

ในขณะที่อีกกว่าประมาณ 49,610 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น เป็นความต้องการน้ำที่ยังไม่สามารถจัดการได้ ซึ่งประกอบไปด้วยการจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน และความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคบางส่วน

๐พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับอีอีซีระยะ 20 ปี

สำหรับการรองรับความต้องการใช้น้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ประกอบด้วย จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.ฉะเชิงเทรา มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกจะใช้ลักษณะเป็นอ่างพวง โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ระยอง ที่สามารถใช้น้ำเชื่อมต่อกันได้ และมีการผันน้ำข้ามลุ่มมา เช่น จาก จ.จันทบุรี มาใช้ที่ จ.ระยอง เพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่อีอีซี ในระยะ 20 ปีข้างหน้า โดยการวางแผนผันน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว มาลงอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ปีละประมาณ 128 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในพื้นที่และผันต่อไปยังสถานีสูบน้ำพานทองก่อนเข้าเส้นท่อเดิมจากคลองพระองค์ไชยานุชิตไปลงอ่างเก็บน้ำบางพระ

ขณะที่อ่างเก็บน้ำคลองสียัดออกแบบให้มีความจุ 420 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย ซึ่งมีปริมาณปีละ 285 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำจึงไม่เต็มอ่างเก็บน้ำ เป็นที่มาของแนวคิดผันน้ำส่วนเกินของอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว เนื่องจากน้ำล้นอ่างเก็บน้ำทุกปีมาเติม

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายพื้นที่ใน จ.ชลบุรี ที่ได้รับผลกระทบ กรมชลประทานจึงต้องมีการศึกษาเพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องอุทกภัย การประปาในแต่ละภูมิภาค และภาคการเกษตร ที่จะต้องมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงมีการกำหนดกรอบแนวทางขึ้นมาในเบื้องต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยรอบด้วย ที่ทางกรมชลประทานให้ความสำคัญ โดยวางแผนเพิ่มน้ำเข้าไปในพื้นที่อีก 354 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ตามแผนที่ได้วางไว้ตลอดระยะเวลา 10 ปี และ 20 ปี ประกอบด้วย

1.แผนงานปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม (เพิ่มความจุ) อ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง ประกอบด้วย หนองค้อ หนองปลาไหลบ้านบึง มาบประชัน คลองหลวง และคลองสียัด 2.แผนงานพัฒนาอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี 4 แห่ง ประกอบด้วย พะวาใหญ่ ประแกด คลองวังโตนด และคลองหางแมว 3.แผนงานเชื่อมโยงแหล่งน้ำ และผันน้ำ 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงคลองชลประทานพานทองเพื่อรองรับระบบผันน้ำจากคลองชลประทานพานทองไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ และโครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-หนองค้อ-บางพระ จ.ชลบุรี 4.แผนงานสูบน้ำกลับท้ายอ่างเก็บน้ำ 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างประแสร์ และโครงการปรับปรุงระบบสูบน้ำกลับอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และ 5.แผนการป้องกันน้ำท่วม ในพื้นที่สำคัญ 2 แห่ง คือ อ.เมือง จ.ระยอง และลุ่มน้ำท่าลาด-คลองหลวง อ.พนัสนิคม อ.พานทอง จ.ชลบุรี (พื้นที่อุตสาหกรรม)

และนี่คืองานของกรมชลยุคใหม่ 4.0

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image