เฉลียงไอเดีย : ณพงศ์ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ ทายาทรุ่น 3 กลุ่มไทยสมุทร รับไม้ต่อปั้นแบรนด์ ‘โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้’ ไม่แข่งรายใหญ่…ไปทีละก้าวโตแบบยั่งยืน

ณพงศ์ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์

กลุ่มไทยสมุทรของครอบครัวอัสสกุล ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 70 ปี มีธุรกิจหลักที่เอ่ยชื่อต้องเป็นที่รู้จัก บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ โอเชี่ยนไลฟ์ และยังมีธุรกิจอุตสาหกรรมในนาม บริษัท โอเชี่ยนกลาส จำกัด (มหาชน) ผลิตภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มจากแก้ว ภายใต้แบรนด์โอเชี่ยน

และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อีกหนึ่งไลน์ธุรกิจภายใต้ บริษัท โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ จำกัด เริ่มดำเนินการบุกเบิกโดย กฤษณ์ อัสสกุล ที่สะสมแลนด์แบงก์ไว้ทั่วประเทศก่อนจะก่อตั้งบริษัท เพื่อส่งไม้ต่อรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นลูก ทายาทรุ่น 2 นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ที่ผันตัวดูแลธุรกิจประกันชีวิต รั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิตฯ ส่งมอบธุรกิจอสังหาให้ ณพงศ์ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ ทายาทรุ่น 3 ดำเนินการขับเคลื่อนต่อยอดธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น

คุณณพงศ์รักษาการกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจ RESIDENTIAL BUSINESS บริษัท โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ จำกัด สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขา Civil Engineering Carnegie Mellon University, Pittsburgh, USA เข้ามาทำงานสานต่อธุรกิจครอบครัวกว่า 12 ปี เริ่มทำงานจากระดับวิศวกรผู้ดูแลโครงการและควบคุมการก่อสร้าง ก่อนจะขึ้นสู่ตำแหน่งด้านการบริหาร โดยใช้หลักการบริหารงานที่ได้แรงบันดาลใจสำคัญจาก วัลลภา อัสสกุล ผู้เป็นแม่ และ ตันติ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ ผู้เป็นพ่อ โดยใส่ใจทุกรายละเอียดในการบริหารงาน

จุดเริ่มต้นการเข้ามาทำธุรกิจอสังหาของครอบครัว คุณณพงศ์เล่าว่า “หลังเรียนจบจากอเมริกากลับมาเมืองไทย ยังร้อนวิชา ได้เข้าไปทำงานโครงการสนามบินสุวรรณภูมิกับบริษัท อิตาเลียนไทย ทำอยู่ได้ราว 2 ปี รุ่นพี่ที่ทำงานด้วยกันชวนมาสมัครงานบริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้าง โดยไม่ทราบว่าบริษัทที่ปรึกษาดังกล่าวเป็นที่ปรึกษาของโครงการของโอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ จึงได้พบกับคุณน้า (นุสรา) ในระหว่างการทำงาน คุณน้าเลยขอให้มาช่วยครอบครัว มาทำงานที่โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ เริ่มงานจากตำแหน่งวิศวกร ได้ฝึกการทำงานและเรียนรู้งานจากคุณนุสรา” คุณณพงศ์เล่า

Advertisement

สำหรับโอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ ถ้าเทียบกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ คุณณพงศ์บอกว่า “พูดได้เลยว่าเราไม่เหมือนใคร เพราะบิ๊กเนมในวงการอสังหา ทุกคนจะเน้นว่าจะทำอะไรเป็นหลัก เช่น เก่งด้านบ้านหรู เก่งด้านทาวน์เฮาส์ เก่งด้านคอนโดมิเนียม มาช่วงหลังๆ ที่เริ่มเห็นการมิกซ์แอนด์แมตช์มากขึ้น ขณะที่โอเชี่ยนมีความหลากหลายมาตั้งแต่ต้น”

อาณาจักรของโอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ ครอบคลุมโครงการเพื่อเช่าและโรงแรม โดยโครงการที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ โอเชี่ยน มารีน่า ยอชต์คลับ พัทยา ท่าจอดเรือยอชต์ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน โรงแรมเมอเวนพิค อัสสรา รีสอร์ท แอนด์ สปา หัวหิน อาคารสำนักงาน โอเชี่ยน ทาวเวอร์ 1 บนถนนรัชดาภิเษก และโอเชี่ยน ทาวเวอร์ 2 บนถนนอโศกมนตรี รวมทั้งโครงการเพื่อขาย อาทิ ซาน มารีโน่ คอนโดมิเนียม จอมเทียน-พัทยา โอเชี่ยน พอร์โตฟีโน่ คอนโดมิเนียม จอมเทียน-พัทยา โอทู คอนโดมิเนียม เพลินจิต-กรุงเทพฯ โอเชี่ยน เกท-สุพรรณบุรี ทาวน์โฮมและอาคารพาณิชย์ โอเชี่ยน เรสซิเดนซ์-ขอนแก่น คอนโดมิเนียมแบบโลว์ไรส์ 8 ชั้น โอเชี่ยน ทาวน์-ภูเก็ต โครงการทาวน์โฮม เป็นต้น ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากโครงการเพื่อเช่าและโรงแรมอยู่ที่ 70% อีก 30% เป็นรายได้จากการขาย

ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ ที่มีการพัฒนาโครงการต่างๆ ออกมา ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 คุณณพงศ์ได้พยายามปรับปรุงโครงการ โดยเฉพาะโครงการให้เช่าและโรงแรมของโอเชี่ยนให้สามารถแข่งขันได้ โดยได้มีการลงทุนเกือบ 100 ล้านบาทเพื่อขยายท่าจอดเรือยอชต์ ฟากโรงแรมมีการจ้างเชนในระดับอินเตอร์เนชั่นแนลเข้ามาบริหารเพื่อให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และการบริหารอย่างมืออาชีพไว้เป็นแบบอย่างจากเดิมที่บริหารเองทำให้มีปัญหาด้านการบริหารจัดการบุคลากรบ้าง ส่วนอาคารสำนักงานได้มีการปรับปรุงนำเทคโนโลยีเข้าใช้ในอาคาร รวมทั้งดึงร้านค้าที่เป็นแมคเน็ตอย่างสตาร์บัคเข้ามาอยู่ในอาคารด้วย ทำให้อัตราการใช้บริการในส่วนโครงการให้เช่าและโรงแรมอยู่ในระดับสูงกว่า 90%

Advertisement

ก้าวย่างต่อไปของโอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ ในยุคของคุณณพงศ์ มองว่าโอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้เป็นธุรกิจของครอบครัว ไม่ได้ตั้งเป้าหมายจะขยายตัวแบบหวือหวา หรือต้องเข้าไปแข่งขันกับผู้ประกอบการอสังหารายใหญ่ในตลาด แต่ตั้งเป้าจะสร้างพอร์ตรายได้การขายให้เพิ่มขึ้น สร้างการจดจำแบรนด์ โดยแต่ละโครงการจะชื่อโอเชี่ยนประกอบ เช่น โอเชี่ยน เรสซิเด้นท์ ขอนแก่น โอเชี่ยนทาวน์ ภูเก็ต เป็นต้น จากปัจจุบันที่มีรายได้จากการเช่าอยู่ตัวแล้ว ซึ่งรายได้จากการเช่าในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้นไม่เร็วมากนัก โดยอัตราการใช้บริการท่าจอดเรือยอชต์และโรงแรมเพิ่มขึ้นราวปีละ 5-10% เช่นเดียวกับค่าเช่าอาคารสำนักงานที่เพิ่มขึ้น 5-10% ต่อปี ดังนั้น หากมีรายได้จากการขายเข้ามาเสริมจะทำให้สามารถรับรู้รายได้เพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ มีประสบการณ์การพัฒนาโครงการทั้งแนวราบและโครงการคอนโดมิเนียมอยู่แล้ว หากมีการรับรู้รายได้จากการขายเข้ามา คุณณพงศ์คาดว่าจะทำให้สัดส่วนรายได้จากโครงการเพื่อเช่าและโรงแรม และสัดส่วนรายได้จากการขายขยับขึ้นมาเท่าๆ กันที่ 50% ได้ภายใน 3 ปี และจะมีการเปิดโครงการเพื่อขายใหม่ราว 1-2 โครงการต่อปี ขึ้นกับที่ดินที่นำมาพัฒนาว่ามีศักยภาพอย่างไร เหมาะกับตลาดไหน มีการศึกษาและทำความเข้าใจกับความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ จะเห็นว่าโอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้มีการพัฒนาโครงการในต่างจังหวัดหลายโครงการ ทั้งขอนแก่น ภูเก็ต ต่างจากผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ชะลอการขยายโครงการในต่างจังหวัด เพราะเครือกลุ่มไทยสมุทรมีแลนด์แบงก์อยู่แล้วทั่วประเทศ เป็นโอกาสที่โอเชี่ยนจะสามารถนำแลนด์แบงก์ที่มีศักยภาพเหล่านี้มาพัฒนาโครงการได้ และสนใจจะพัฒนาท่าจอดเรือยอชต์แห่งใหม่ภายใน 3-5 ปีนี้ หากมีที่ดินเหมาะสมที่มองไว้คือทำเลทางภาคใต้ รวมถึงพัฒนาโครงการเพื่อเช่าด้วย

“อยากให้ โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ เป็นที่รู้จักและมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้หวังไปแข่งขันกับรายใหญ่ในตลาด แต่หวังการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งรายได้จากการขายและเช่า-โรงแรม โดยคาดว่าจะมีรายได้ขยายตัวปีละ 5-10% และมีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ราว 500 กว่าล้านบาท” คุณณพงศ์กล่าวทิ้งท้าย ได้ใจความว่าขอทำธุรกิจแบบค่อยๆ โต

จุฑามาศ ศรีสวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image