รำลึกลอยตัวค่าเงินบาท ครบรอบ 21 ปี อีกบทเรียนหน้าประวัติศาสตร์ที่คนไทยยังไม่ลืม

2 กรกฎาคม 2561 นับเป็นปีที่ 21 ของการลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ที่ไม่เพียงถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย แต่ถูกบันทึกให้เป็นต้นเรื่องของการเกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย!!
ย้อนรอยเลยไปมากกว่า 21 ปีก่อน ปฐมบทที่ก่อให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือที่ทั่วโลกเรียกขานว่า “Tom Yam Kung Disease” คือข้อผิดพลาดของนโยบายการเปิดตลาดการเงินเสรี เมื่อปี 2533 และนำไปสู่การเปิดกิจการวิเทศธนกิจไทย หรือ BIBF (Bangkok International Banking Facilities) เมื่อเดือนกันยายน 2535 ซึ่งศปร. หรือชื่อเต็มว่าคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ หน่วยงานเฉพาะกิจที่รัฐบาลในสมัยนั้นจัดตั้งขึ้นสรุปการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 และจากบทวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการอีกหลายคน สรุปตรงกันว่าคือสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่โรคต้มยำกุ้ง

เพราะหลังจากรัฐบาลไทยขณะนั้นคือนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใช้นโยบายเปิดเสรีการเงินเต็มสูบ ในห้วงที่เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังบูมสุดๆจากภาคการส่งออกเติบโตอย่างมาก เปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจได้ จนเกิดการขยายตัวของระบบการเงินของประเทศและส่งผลต่อการเกิดหนี้ด้อยสภาพขึ้นมากในระบบสถาบันการเงินจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศได้โดยง่ายเพื่อปล่อยกู้ให้กับธุรกิจไทยหวังทำกำไรจากดอกเบี้ยเงินกู้

จากข้อมูลของศปร.ที่รวบรวมไว้ในปี 2540 หนี้ต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 109,276 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่มีสัดส่วนถึง 65% ของหนี้ต่างประเทศรวม

เมื่อปล่อยกู้โดยง่าย กิจการต่างๆก็เร่งลงทุนหวังให้ธุรกิจเติบโตในช่วงเวลาเศรษฐกิจประเทศกำลังเฟื่องฟู จนกลายเป็นการลงทุนเกินตัวโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อรอการพัฒนา ส่งผลให้ราคาที่ดินถีบตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากเกิดการเก็งกำไรจนกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ที่รอวันแตก

Advertisement

กระทั่งปี 2539 ที่เศรษฐกิจไม่ได้เดินไปในแนวทางเดิม เมื่อภาคการส่งออกที่เป็นที่พึ่งพิงหลักของเศรษฐกิจไทยหดตัวลงอย่างแรงจากที่เคยขยายตัวสูงในปี 2538 ถึง 24.82% กลายเป็น -1.9% ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลมาตั้งแต่ปี 2530 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 14,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลายเป็นจุดอ่อนเปิดช่องให้กองทุนการเงินจากต่างประเทศ หรือ Hedge Funds ของนายจอร์จ โซรอส เข้าโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติตัดสินใจสู้แบบทุ่มหมดหน้าตัก ใช้เงินสำรองเงินตราต่างประเทศเกือบหมดตัว

แต่ยิ่งสู้ยิ่งเจ๊ง กระทั่งรัฐบาลขณะนั้นคือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายทนง พิทยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตัดสินใจเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยจากที่ใช้ระบบคงที่ คือระบบตะกร้าเงิน (Basket of Currencies) อิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก มาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบกึ่งจัดการ (Managed Float Exchange Rate System) เมื่อ 2 กรกฎาคม 2540

ผลที่ตามมาคือภาคธุรกิจไทยล้มเป็นโดมิโน่ เพราะหนี้พอกขึ้นมาอีกเท่าตัวจากค่าเงินบาทที่เคยคงที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงสูงสุดถึง 56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือนมกราคม 2541 สถาบันการเงินมีหนี้พอกพูนถึง 2.5 ล้านล้านบาท มีสถาบันการเงินถูกระงับกิจการชั่วคราว 58 แห่ง กดดันพนักงานตกงานกันเป็นใบไม้ร่วง ระบบเศรษฐกิจไทยตกต่ำอย่างหนัก อัตราการขยายตัวหรือจีดีพีที่เคยโตสองหลัก 10.1% เมื่อปี 2539 กลายเป็นติดลบ 2.2% ในปี 2541 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่เคยขึ้นสูงสุด 1,400 กว่าจุด ทรุดฮวบลงเหลือระดับ 200 จุด ในปี 2541 และสุดท้ายต้องขอเข้าโครงการไอเอ็มเอฟเพื่อขอกู้เงิน จำนวน 1.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

Advertisement

ปิดฉากว่าที่ “เสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย” จวบจนปัจจุบันไม่มีใครเคยเอ่ยถึงอีกเลยว่า ไทยกำลังจะก้าวเป็นเสือแห่งเอเชีย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image