กสทช. เร่งจัดสรรคลื่นความถี่รับ 5G เชื่อความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลง 

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ (ซอยรางน้ำ) บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดสัมมนา 5G เทคโนโลยีพลิกโลก: ทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริงในไทย

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) สายงานกิจการโทรคมนาคม ว่า ขณะนี้ กสทช. อยู่ระหว่างการดำเนินการ เพื่อรองรับ 5G อย่างเต็มที่ โดย 3 ปัจจัยที่จะทำให้เกิด 5G สอดคล้องกับที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ระบุคือ 1.การจัดสรร หรือการกำหนดคลื่นความถี่ (Spectrum) ที่จะนำคลื่นความถี่ที่จะประมูลในอนาคตภายในปี 2020 อาทิ คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 90 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 2600เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 180 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ คลื่นความถี่ใหม่สำหรับ 5G ที่มีความน่าสนใจ คือ คลื่นความถี่ย่าน 3.5 กิกะเฮิรตซ์ จำนวนสูงสุด 200 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 26 และ 28 กิกะเฮิรตซ์ จำนวนสูงสุด 3 กิกะเฮิรตซ์ 2.โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และ 3.การเชื่อมโยงข้อมูล (Connectivity)

นายก่อกิจ กล่าวว่า ระยะเวลาในการดำเนินการ น่าจะสอดรับได้ทันทวงที เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่ทั่วโลกได้กำหนดไว้ ว่า 5G จะเกิดขึ้น ในปี 2020 หรือ ปี 2563 และเมื่อถึงเวลานั้นทุกอย่างก็จะลงตัวยิ่งขึ้น

“ในโลกของเทคโนโลยี ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กสทช.ได้เริ่มดำเนินการ และขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ กสทช. จะต้องคำนึงถึงความปลิดภัยสำหรับการใช้งาน และมาตรฐานของคลื่นความถี่ด้วย” นายก่อกิจ กล่าว

Advertisement

นายก่อกิจ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในเรื่องของเทคโนโลยีจะค่อยๆ หายไป ทั้งจากการดำเนินการจากเน็ตประชารัฐที่ ทาง กสทช.ดำเนินการ หรือจากที่กระทรวงดีอีได้ดำเนินการ ที่ต้องการให้บริการอินเตอร์เน็ตฟรีสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย อีกทั้ง เพื่อเป็นการลดช่องว่างด้านรายได้ ได้อีกทางหนึ่ง

“การแข่งขันนั้น นอกเหนือจากการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการ การแข่งขันจะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ๆ และตัวดาวเทียมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้เห็นว่า ผู้ประกอบการรายใหม่ อาจจะไม่ได้มาจากในประเทศ แต่จะมาจากนอกประเทศ และสามารถสร้างการแข่งขันที่ดีขึ้นกว่านี้ ทั้งนี้ ด้านแผนในการจัดสรรคลื่นความถี่ เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีความจำเป็นจะต้องใช้คลื่นความถี่ แต่เนื่องจากในลักษณะของไทยมีตัวกฎหมายที่เป็นชั้นเท่าๆ กัน จึงทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่ ในแต่ละย่านจำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลา” นายก่อกิจ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image