‘บาเนีย’ เปิดตัวบริการ “ระบบประมาณการบ้านอัจฉริยะ”

นางสาวอัญชนา วัลลิภากร ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนาเกี่ยวกับ Big Data ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ล่าสุดได้เปิดบริการใหม่ ได้แก่ ระบบประมาณการราคาบ้านอัจฉริยะที่เรียกว่า Bestimate และ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ในเชิงลึกจากโซเชียล มีเดีย ที่เรียกว่า Baania Pulse ที่สามารถเปลี่ยนคลังขุมทรัพย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในปัจจุบัน ทั้งใน เฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ รวมถึงการโพสต์และการแสดงความคิดเห็น ให้กลายมาเป็นข้อมูลเชิงลึกทางธุรกิจ (Business Insight) ได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีบริการในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจได้อย่างหลากหลาย ได้แก่ Baania Marketplace Service เครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่ศึกษาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคจาก Big Data ที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อค้นหาความต้องการของผู้บริโภค และนำมาเป็นแนวทางการสื่อสาร เพื่อส่ง ลูกค้าคาดหวัง (Lead) ที่มีคุณภาพให้กับทางโครงการทั้งในระดับ Call Registration และการเข้าเยี่ยมชมโครงการ โดยใช้เทคโนโลยี Artificial Intelligence : AI, Machine Learning, Lead Scoring, Recomendation System

นางสาวอัญชนา กล่าวอีกว่า หลังจากบริษัทได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.baania.com ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา ขอนแก่น ในปี 2559 และได้เปิดตัวที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 ในระยะเวลาที่ผ่านมาต้องถือว่าบริษัทมีการเติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี Big Data เข้ามาตอบโจทย์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยหลังจากการร่วมทุนรอบ Seed Fund ในปีที่ผ่านมา มีบริษัท Rain Tree .com และบริษัท 500 TukTuks ที่มองเห็นศักยภาพของบริษัทตั้งแต่เปิดตัวในภูมิภาค

“ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี หลังการร่วมทุนในรอบ Seed Fund บริษัทได้รับการร่วมทุนในรอบ Series A จาก 4 องค์กรใหญ่ ได้แก่ กรุงศรี ฟินโนเวต ในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา, AddVentures ในเครือ เอสซีจี, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ 500 TukTuks ที่ได้เพิ่มการลงทุนในรอบนี้ด้วย ทำให้บาเนียมีความแข็งแกร่งทั้งด้านเงินทุนและองค์ความรู้จากเครือข่ายพันธมิตรผู้ร่วมทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี Big Data เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และตอบโจทย์การทำธุรกิจของผู้ประกอบการได้ดียิ่งขึ้น”นางสาวอัญชนา กล่าวและว่าทั้งนี้
ปี 2560 บริษัทมียอดผู้เข้าใช้บริการจำนวน 2.1 ล้านคน จนถึงปัจจุบันยอดผู้ใช้บริการได้เพิ่มเป็นกว่า 5.1 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจนถึงสิ้นปี 2561 จะมีผู้ใช้บริการถึง 7 ล้านคน ทำให้บริษัทมีข้อมูลกว่า 3,500 ล้าน Consumer Data Point ในการนำมาวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคที่สนใจเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์

นางสาวอัญชนา กล่าวว่า ขณะเดียวกันได้ขยายพื้นที่การจัดเก็บข้อมูลโครงการอสังหาริมทรัพย์เพิ่มจากปี 2560 มีข้อมูลครอบคลุม 10 จังหวัด ภายในสิ้นปี 2561 ข้อมูลโครงการจะคลุมทั้งหมด 26 จังหวัดที่มีการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้บริษัทมีข้อมูลโครงการกว่า 14,738 โครงการ มีแบบบ้าน 32,421 แบบบ้าน จากจำนวน 2,593,680 ยูนิต พร้อมข้อมูลโครงการบ้านมือสองที่ได้รับความร่วมมือจากโบรกเกอร์อีกกว่า 140,000 ยูนิต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image