เฝ้าระวัง 8 เขื่อน กรมชลประทานรับมืออุทกภัย ยันปีนี้ไม่ร้ายแรงเท่าปี 54 แน่นอน

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เข้าร่วมงานแถลงข่าว การบริหารจัดการแบบบูรณาการ…แก้วิกฤติน้ำท่วมในห้วงฤดูฝน ปี 2561 โดยมี นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล

ดร.ทองเปลว กล่าวถึง การบริหารจัดการน้ำและการเตรียมการรับมืออุทกภัย ปี 2561 โดยในส่วนของการเตรียมความพร้อมนั้น ประกอบด้วย 1. ตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนทั้งขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 437 แห่ง 2. ตรวจสอบอาคารควบคุมน้ำป้องกันน้ำท่วม จำนวน 1,806 แห่ง อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน 3. เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ พร้อมปฏิบัติการในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดอุทกภัย 4. กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ 5. คาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง 6. วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย

ส่วนการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานได้วางแผนการดำเนินงาน ดังนี้ 1. วางแผนการเพาะปลูกพืชในฤดูฝน 2. ปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มเจ้าพระยา 13 ทุ่ง 1.5 ล้านไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก 3. ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์และการสั่งการ โดยศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) และศูนย์เครือข่าย (SWOC 1 – 17) 4. บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก (Rule Curve) 5. ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ 6. ใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทานบริหารจัดการน้ำ 7. จัดจราจรน้ำในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี 8. แจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำปัจจุบันขณะนี้มี 8 เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ได้แก่ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนลำปาว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนปราณบุรี

โดยมี 2 เขื่อนที่ปริมาณน้ำเกินกว่า 100% ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน 103% และเขื่อนแก่งกระจาน 103 % ซึ่งสทนช.ได้กำกับ ติดตาม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำให้อยู่ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม รวมถึงเตรียมการช่วยเหลือพื้นที่ท้ายน้ำ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลางบูรณาการทุกหน่วยงานแจ้งเตือนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในระดับพื้นที่

สถานการณ์อุทกภัย แม่น้ำโขงที่เพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว จากปริมาณฝนตกหนักที่ประเทศลาว ส่งผลให้ระดับน้ำที่แม่น้ำโขงตั้งแต่ จ.อุบลราชธานี จ.นครพนม จ.มุกดาหาร สูงกว่าตลิ่งตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่จากการติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงปัจจุบันพบว่าระดับน้ำโขงเริ่มลดลงตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ระดับน้ำแม่น้ำแม่น้ำเพชรบุรีที่ อ.เมือง มีแนวโน้มลดลง ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 69 ซม. เนื่องจากมีการตัดยอดน้ำเข้าระบบชลประทานมากขึ้น ประกอบกับมีน้ำที่ไหลจากเขื่อนแก่งกระจานผ่านทางระบายน้ำล้นแนวโน้มลดลง ขณะนี้สูงประมาณ 54 ซม.จากเมื่อวานนี้ 60 ซม. ส่วนสภาพน้ำในอ่าง เขื่อนแก่งกระจานแนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง แต่จากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ อาจมีฝนตกมากขึ้นส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์รวมถึงเร่งระบายน้ำต่อเนื่องให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม

Advertisement

ทั้งนี้ มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่งและดินโคลนถล่มเป็นพิเศษ 8 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สกลนคร มุกดาหาร ภาคตะวันออกปราจีนบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี ซึ่งกรมชลประทานได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่ดังกล่าวติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงโดยเร็วต่อไป ยืนยันว่าการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่วางเอาไว้ ในปีนี้สถานการณ์น้ำจะไม่ร้ายแรงเท่าปี 2554 อย่างแน่นอน ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำงานของกรมชลประทานและหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image