องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ออกแถลงการณ์ ทีมสังเกตการณ์ดาวเทียม THEOS- 2 ลาออก หลังไม่ได้รับความร่วมมือ

ภาพจาก GISTDA

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ออกแถลงการณ์ กรณีการจัดซื้อดาวเทียม THEOS- 2 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม โดยระบุว่าจากกรณีคณะผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมรวม 6 คน ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ส่งเข้าไปร่วมสังเกตการณ์การจัดซื้อจัดจ้างโครงการดาวเทียมTHEOS – 2 มูลค่า 7 พันล้านบาท ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA แจ้งขอลาออกทั้งหมด เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเจ้าของโครงการ ที่ไม่ให้ความสนใจต่อรายงานการแจ้งเตือนเกี่ยวกับปัญหาขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยพบว่ามีหลายประเด็นไม่เป็นไปตามข้อตกลงคุณธรรม

ข้อตกลงคุณธรรม เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆของรัฐ โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าสูงตั้งแต่พันล้านบาทขึ้นไป และปรากฎในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 16, 17, 18, 19, 39 (7) ก็มีบทบัญญัติรองรับให้ภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของการจัดซื้อจัดจ้าง และต้องจัดทำข้อตกลงคุณธรรม โดยให้คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต ต้องพิจารณาข้อร้องเรียนที่เห็นว่าหน่วยงานของรัฐมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทาง และ วิธีการในการดำเนินโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ

สำหรับโครงการดาวเทียมTHEOS – 2 คณะผู้สังเกตการณ์ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความ เชี่ยวชาญในเรื่องการประกวดราคานานาชาติ ( International bidding ) เป็นอย่างดี และมีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ ในระดับสากล ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงคุณธรรมดังกล่าว และจากการทำหน้าที่ ได้จัดทำรายงานแจ้งเตือน (Notification Report) จำนวน 4 ฉบับ รวม 13 หน้า เป็นระยะๆเรื่อยมา แต่ไม่ได้รับการชี้แจงที่กระจ่างชัด และการสนองตอบเท่าที่ควรจากหน่วยงานเจ้าของโครงการ จนผู้สังเกตการณ์ชุดแรก ลาออก เมื่อปี 2560 จำนวน 2 คน และล่าสุด ได้ลาออกทั้งคณะ 6 คน

ภาพจาก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Science Thailand

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ขอยืนยันว่า การทำหน้าที่ของคณะผู้สังเกตการณ์โครงการดาวเทียมTHEOS – 2 ได้กระทำโดยสุจริต ถูกต้องตามกฎหมาย ปราศจากอคติ และยังเป็นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 63 ที่ระบุว่า “รัฐต้องจัดให้มีมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งกลไกส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริต” โดยทางองค์กรฯ ได้ส่งรายงานแจ้งเตือน (Notification Report) ทั้งหมดของคณะผู้สังเกตการณ์ ไปให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กรมบัญชีกลาง และคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คปท.) ซึ่งไม่มีข้อมูลทางการค้าที่เป็นความลับห้ามเปิดเผย แต่เป็นการชี้ให้เห็นการปฏิบัติที่ ไม่เป็นไปตามการประกวดราคานานาชาติ

Advertisement

และเนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณของรัฐ ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน องค์กรฯ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการเปิดเผยและชี้แจงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างละเอียด จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในโครงการ โดยคณะผู้สังเกตการณ์พร้อมจะชี้แจงทุกขั้นตอนด้วย เพื่อเป็นการสร้างความโปร่งใส และ เป็นธรรม ช่วยลดความคลางแคลงใจจากสังคมต่อโครงการมูลค่ามหาศาลดังกล่าวด้วย อันจะนำไปสู่ความไว้วางใจของประชาชน ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานภาครัฐ และจะเป็นผลดีต่อชื่อเสียงของประเทศชาติและรัฐบาลไทย

อนึ่ง ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ทราบว่า ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะมีการดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อสาธารณชน ซึ่งทางองค์กรฯ เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี และจะรอผลการดำเนินการดังกล่าว แต่หากไม่มีการดำเนินการใดๆจากภาครัฐในกรณีนี้เลย ก็ถือได้ว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 63 ทางองค์กรฯก็จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะภาคประชาชน โดยดำเนินการตามขั้นตอนของแนวทางข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ลงนามไว้ และให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image