‘สมคิด-อุตตม’ พาทัวร์ 2 จว.อีอีซี ‘จีน’ สนใจรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นำคณะผู้บริหารระดับสูงจากรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนจีนกว่า 500 คน นำโดยนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน เพื่อลงพื้นที่ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ศึกษาดูงานเขตอีอีซี

โดยกิจกรรมหลักในช่วงเช้า เป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างไทยกับจีน 10 ฉบับ ที่พีชไทยแลนด์ ศูนย์ประชุมพีช รอยัลคลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งการลงนามดังกล่าว แบ่งเป็นร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ระหว่างเอกชนไทยกับเอกชนจีน และรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน อาทิ กลุ่มเทคโนโลยี อุตสาหกรรมเทคโนโลยี และกลุ่มขับเคลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่ในอีอีซี เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การสร้างสมาร์ทซิตี้ ซึ่งภายในงานได้มีการจัดตั้งบูธสินค้าของไทย อาทิ มะพร้าวแปรรูป และทุเรียน ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักลงทุนจีนเป็นอย่างมาก ส่วนกิจกรรมในช่วงบ่าย เป็นการพาคณะนักลงทุนจีนดูความคืบหน้าโครงการ เช่น ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) และสถาบันวิทยสิริเมธี

นายอุตตมกล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐและผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนชั้นนำของจีน เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ นำโดยนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 6 และร่วมสัมมนา “Thailand-China Business Forum 2018 : Strategic Partnership through the Belt and Road Initiative and the EEC” และเปิดโอกาสให้นักธุรกิจไทยได้พบกับนักธุรกิจจีน จับคู่สร้างเครือข่ายทางธุรกิจกับผู้ประกอบการธุรกิจรายใหม่ในประเทศไทย

“การเดินทางมาเยือนของภาครัฐ และภาคเอกชนของจีนครั้งนี้เหมือนเป็นการมาให้กำลังใจที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาอีอีซีให้สำเร็จให้ได้ เพื่อจะได้มีโอกาสต้อนรับคณะนักธุรกิจจากจีนและชาติอื่นๆ ในฐานะหุ้นส่วนสำคัญของอีอีซี ในวันข้างหน้าที่ไม่ไกลเกินรอ โดยโครงการอีอีซีจะเป็นแพลตฟอร์มของการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจชุดใหม่ ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อสร้างขีดความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง เพื่อสร้างนวัตกรรม พร้อมทั้งพัฒนาคน ซึ่งตรงกับเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของจีน”  นายอุตตมกล่าว

Advertisement

นายอุตตมกล่าวว่า การพาลงพื้นที่อีอีซี นักลงทุนจีนต้องการเห็นความคืบหน้าของโครงสร้างพื้นฐานที่ไทยกำลังขับเคลื่อน ซึ่งจะเป็นการสะท้อนว่าโครงการอีอีซีเดินหน้าจริง โดยเฉพาะโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ที่นักลงทุนจีนเสนอมาว่าต้องการลงพื้นที่เพื่อดูความคืบหน้า รวมถึงโครงการเคเบิลใต้น้ำ เพื่อสร้างซุปเปอร์ไฮเวย์ด้านข้อมูลระหว่างไทย-ฮ่องกง-จีน

นายคณิศกล่าวว่า โครงการอีอีซีมีความคืบหน้าอยู่หลายด้านโดยเฉพาะเรื่องของความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เป็นโครงสร้างที่ยิ่งใหญ่ ที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ โดยพลังของความสำเร็จอยู่ที่ความร่วมมือในเอเชีย โดยเฉพาะจีนกับอาเซียน การที่อาเซียนจะแข็งแกร่ง คือ CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) หรือ ACMECS ต้องแข็งแกร่งก่อน ซึ่งให้ความสำคัญกับเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ จากคุนหมิง ผ่านลาว มาถึงอีอีซี ซึ่งเชื่อมโยงเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก อันจะเป็นประโยชน์กับทุกประเทศ เช่น จีนใต้ลงสู่อ่าวไทยที่อีอีซี ในขณะที่ลาวใช้อีอีซีเป็นทางออกทะเลอยู่แล้ว และกัมพูชาใช้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือหลักในการส่งออก

นายคณิศกล่าวว่า ยังมีความเชื่อมโยงทางรางและทางอากาศ ซึ่งคือ จีน-ลาว-ไทย โดยสรุป อีอีซีจึงไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อ 3 จังหวัดเท่านั้น แต่ถูกกำหนดให้เป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงเข้าสู่การพัฒนา CLMVT และโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน วันนี้จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญที่เราได้เห็นว่าทั้งภาครัฐและเอกชนของจีนให้ความสำคัญ และเล็งเห็นถึงศักยภาพอีอีซี จึงเดินทางมาศึกษาดูงานและริเริ่มความร่วมมือระหว่างกันในการลงนามบันทึกความเข้าใจ ปักธงในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ร่วมกัน

Advertisement

นายคณิศกล่าวว่า จีนให้ความสนใจในโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินมากที่สุด ขณะนี้บริษัทจีน 7 แห่ง ซื้อซองเพื่อเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน โดยภายในเดือนกันยายนจะออกทีโออาร์ และเตรียมเปิดประมูลในช่วงปลายปีนี้ ส่วนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นมหานครการบิน ภาคตะวันออกวงเงินลงทุน 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น อยู่ระหว่างเชิญชวนนักลงทุน คาดว่าไม่เกินเดือนตุลาคมนี้ชัดเจน โดยมั่นใจว่าภายใน 6 เดือนนี้จะเห็นความชัดเจนจากเม็ดเงินลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาอย่างแน่นอน

“รัฐบาลได้วางแผนให้อีอีซีเป็นจุดเชื่อมโยงซีแอลเอ็มวี หากอีอีซีและซีแอลเอ็มวีแข็งแกร่ง โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางก็จะมีความแข็งแกร่งเช่นกัน โดยกลุ่มซีแอลเอ็มวีที จะเป็นตัวเชื่อมเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญในแนวอิสเวสคอเรลดอร์ และนอร์ทเวสคอเรลดอร์ ซึ่งเส้นทางนอร์ทเซาท์คอเรลดอร์ จะเชื่อมตั้งแต่เมืองคุนหมิงจีนตอนใต้ มายังเมืองบ่อหาน เวียงจันทน์ของ สปป.ลาว เข้ามายังไทยที่หนองคาย ขอนแก่น และมาที่อีอีซี ส่วนเส้นทางอิสเวสคอเรลดอร์ จะเริ่มตั้งแต่ จ.ทวายของเมียนมา เข้าไทยที่กาญจนบุรี กรุงเทพฯ อีอีซีสระแก้ว พนมเปญ โฮจิมินห์ อีอีซีจะเป็นท่าเรือที่สำคัญในการระบายสินค้าของจีนตอนใต้ ลาว และกัมพูชา ขณะนี้สินค้าจากลาวส่งผ่านมาที่ท่าเรือ อีอีซี 100% และสินค้าจากกัมพูชา 80% ก็ผ่านท่าเรืออีอีซี ก็จะทำให้เขตเศรษฐกิจตลอดเส้นทางของ 3 ประเทศเติบโตได้อย่างรวดเร็ว”  นายคณิศกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image