อดีตผอ.องค์การการค้าโลก ชี้อนาคตไทยแนวโน้มเศรษฐกิจดี ว่างงานต่ำเมื่อเทียบกับยุโรป ห่วงปมกระจายรายได้ไม่ทั่วถึง

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 29 สิงหาคม ที่บัณฑิตวิทยาลัย สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสยาม มีการบรรยายพิเศษ หัวข้อ  “The Future of Thailand”  โดย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การค้าโลก (WTO) บรรยากาศมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก

ดร.ศุภชัย กล่าวว่า ประเทศไทยในระหว่างทางอีก 10 ปีข้างหน้า อาจมีการเปลี่ยนมุมมองของประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีวิสัยทัศน์ต่างกัน ขึ้นอยู่กับประชาชนคนไทยว่าจะมีความคิดปรับตัวอย่างไร รวมถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศด้วย ในอนาคตต้องมองว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ทุกคนทราบว่าไทยมีอนาคตไกล ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเดาว่าอนาคตเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเมือง มีผลต่อนักลงทุนต่างชาติที่จะลงทุนในไทยโดยกำลังจับตามองอนาคตของไทยอยู่ แต่เราก็มีผลสำรวจหลายอย่างที่จะคาดการณ์ว่าแนวโน้มประเทศไทยว่าเศรษฐกิจจะเป็นไปในทางบวก

“เราเองพยายามเปิดเผยข้อมูลว่าเรามีอนาคตก้าวไกล ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้นำของเราว่าหากมีวิสัยทัศน์ถูกต้องก็จะนำพาไปในทางที่ถูก และสามารถบอกถึงความจริงในประเทศได้ถูกต้องต่อประชาชนและนักลงทุนต่างชาติ การลงทุนระหว่างประเทศ เป็นกุญแจสำคัญในการที่จะบอกว่าประเทศจะเป็นอย่างไรในอนาคต ซึ่งขึ้นอยู่กับการลงทุน เพราะเงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศ เป็นเรื่องสำคัญมากต่อประเทศในอนาคต ใน 10 ปีที่ผ่านมาในอาเซียน ไทยเป็นประเทศที่ล้าสมัยมาก่อนในแง่ของการค้าระหว่างประเทศ เพราะยากลำบากต่อการลงทุน เนื่องจากเรามีต้นทุนสูงในด้านแรงงาน คนจึงย้ายไปลาวหรือเวียดนามแทน จะเห็นได้ว่าการลงทุนระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียลดลง ส่วนเวียดนามสูงขึ้น โดยเวียดนามสามารถเปลี่ยนแปลงระบบการรับลงทุนจากต่างประเทศ แต่ไทยก็พยายามพัฒนาที่จะให้มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังติดปัญหาด้านการเมือง” ดร.ศุภชัยกล่าว

Advertisement

ดร.ศุภชัย กล่าวอีกว่า หลังวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ไทยพยายามเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีให้สูงขึ้น ซึ่งก็ทำได้สำเร็จโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ และเรายังก้าวกระโดดจากวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์อีกด้วย นอกจากนี้ก็สามารถประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีเพื่อลงทุน นี่คือการลงทุนที่สำคัญในไทย เราต้องเติบโตประมาณ 5-6% ซึ่งพอๆกับบราซิลและตุรกี เพราะไทยต้องการจีดีพีสูง 5% เพื่อกระจายรายได้ให้ทุกคนมีรายได้มากขึ้น เพิ่มรายได้ในทุกระดับแม้กระทั่งผู้มีรายได้ต่ำ ไปจนถึงภาคธุรกิจ คาดว่า 30% ของจีดีพีต้องโตในลักษณะของรายได้ ทั้งนี้ รัฐบาลพยายามสนับสนุนให้มีการลงทุนในประเทศสูงขึ้นในลักษณะการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยด้วยการเพิ่มระบบขนส่งมวลชน และสนับสนุนเกษตรกร แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขเศรษฐกิจที่โตขึ้นบางครั้งอาจไม่ได้มาจากประชากรรากหญ้าหรือเอสเอ็มอีทั่วไป แต่กลับอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ ซึ่งอนาคตไทยขึ้นอยู่กับกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่ม ยังไม่สามารถกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนทั่วไปได้  หากจะมองไทยในอนาคตก็ต้องมองถึงในอดีตด้วย ในอดีตเราได้รับผลกระทบอย่างมากจากเมื่อ 25ปีก่อน ในเรื่องวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจเลวร้ายมาก ความเจริญเติบโต และการลงทุนในประเทศต่ำสุด เรื่องในอดีตถือเป็นบทเรียนของประเทศไทยที่จะฟื้นตัวขึ้นมา

“สำหรับไทยการลงทุนจากต่างประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นและมีโอกาสลงทุนสูงขึ้น นอกจากนี้ 40% ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยจะมีการเติบโตต่อไปในอนาคต แม้ว่าเป็นเรื่องยาก และมีคนกลุ่มนี้เยอะ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตประเทศยายามเพิ่มรายได้ของผู้มีรายได้น้อย ให้คนกลุ่มนี้เหลือน้อยกว่า 10% ของประชากรรวมโดยทั้งหมด และเราเป็นประเทศที่ทำได้ดีในเรื่องนี้ มีตัวเลขเป็นที่น่าพอใจในอาเซียน รวมถึงมีการลดอัตราการว่างงานและภาวะเงินเฟ้อได้ดี เพื่อให้ประชาชนอยู่ได้อย่างมีความสุข เรามีอัตราการว่างงานต่ำมาก เมื่อเทียบกับยุโรปซึ่งยังมีปัญหามาก เพราะอัตราว่างงานสูงถึง 10% นอกจากนี้การพัฒนาการศึกษาให้สูงขึ้นเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับประเทศไทย เพราะประชาชนที่มีการศึกษาดี สามารถใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศได้ เช่น ระบบคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ต่างๆ ความรู้นี้เป็นแกนสำคัญในการผลักดันประเทศชาติเศรษฐกิจในอนาคตได้” ดร.ศุภชัยกล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังการบรรยาย ดร.ศุภชัยได้นำหนังสือ “เศรษฐศาสตร์ในชีวิตจริง” ที่เขียนขึ้นด้วยตนเองมามอบให้กับผู้เข้าร่วมฟังการบรรยาย พร้อมแจกลายเซ็นและถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับผู้ที่ได้รับหนังสือ ก่อนจะถ่ายภาพร่วมกับผู้จัดงานเป็นที่ระลึกอีกครั้ง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image