‘วิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์’ ชูเป้า‘เจแปน 100’ปลายปี’61 ปั้นไทย‘เกตเวย์’สู่อาเซียน

วิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์

วิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องถอดสูทลดเนคไทเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อร่วมเดินทางไปกับสื่อมวลชนค่ายต่างๆ ไปยัง “เมืองเกียวโต” และ “โอซาก้า” ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งวัตถุประสงค์การเดินทางครั้งนี้เพื่อดูสถานการณ์การตลาดของสายการบินต่างๆ ในญี่ปุ่น ขณะเดียวกันเป็นการสำรวจตลาดของบริษัทการบินไทยไปในตัว เนื่องเพราะในครึ่งปีหลัง 2561 และตลอดปี 2562 จุดยุทธศาสตร์สำคัญอันหนึ่งของการบินไทย คือการเพิ่มเที่ยวบินในประเทศญี่ปุ่นขึ้นเป็น 100 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ หรือเรียกชื่อแคมเปญว่า “Japan 100” ทั้งนี้ เพราะการเติบโตทั้งรายได้โดยรวมและกำไรต่อที่นั่ง (Yield) นั้น สูงติดท็อป 5 ของการบินไทยเลยทีเดียว ยิ่งกว่านั้น คือเป้าหมายในการปั้นประเทศไทยให้เป็น “Gateway” เพื่อรุกอินโดไชน่าและอินเดีย

“วิวัฒน์” ให้สัมภาษณ์ถึงรายละเอียดแผนงานว่า การบินไทยตั้งธงเพิ่มความถี่ในการบินจากกรุงเทพฯเข้าญี่ปุ่น เรียกว่า “Japan 100” ที่ปัจจุบันมีเที่ยวบินทั้งหมดเกือบ 80 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และปลายปีนี้ประมาณเดือนตุลาคม 2561 จะมีเพิ่มเที่ยวบินไปเมืองซัปโปโลอีก 3 เที่ยวบิน โดยเฉพาะเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นนี้จะมีความสะดวกสบายมากขึ้น กล่าวคือสามารถเดินทางกลับได้ในตอนเย็น

“ส่วนที่เมืองโอซาก้าเราบินสัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน คือวันละ 2 เที่ยวบิน แต่ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2561 จะเพิ่มอีก 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะมีเครื่องออกตอนเที่ยงคืนซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยสามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น การเพิ่มเที่ยวบินครั้งนี้ก็เพื่อตลาดคนไทยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ทุกเที่ยวที่บินไม่ได้มีเพียงคนไทยไปญี่ปุ่นเท่านั้น แต่จะมีคนญี่ปุ่นมาประเทศไทยด้วยเกือบ 50% ดังนั้น เมื่อเติมเที่ยวบินรวมแล้วอีก 7 เที่ยวบิน ทำให้ฤดูหนาวที่จะถึงนี้การบินไทยจะขึ้นเป็น 84 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งจะทำให้ทั้งสองประเทศมีการเดินทางที่สะดวกมากยิ่งขึ้น”

นอกจากการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินแล้ว สิ่งสำคัญที่ทั้งประเทศไทยและญี่ปุ่นจะมีร่วมกัน คือการจัดงานครบรอบ 30 ปีเส้นทางบินกรุงเทพฯ-นาโงย่า ซึ่งวิวัฒน์กล่าวว่า ขั้นต้นคือวันที่ 25 กันยายน 2561 จะครบรอบ 30 ปีที่เปิดเส้นทางบินไปเมืองนาโงย่า จะมีการจัดกิจกรรมพิเศษขึ้น เรียกว่า “Retro Flight” โดยไฟลต์พิเศษที่จัดขึ้นนี้จะจัดเป็นบรรยากาศย้อนยุคบนเครื่องบิน ให้ลูกเรือแต่งชุดย้อนยุคในช่วงที่เริ่มเปิดเส้นทางบินไปเมืองนาโงย่า ชุดยูนิฟอร์มดังกล่าวเป็นของปิแอร์ บัลแมงต์ และชุดไทยติดดอกกล้วยไม้ มีของที่ระลึกแจกผู้โดยสารชั้นธุรกิจและรอยัล ซิลค์ด้วย ส่วนเอื้องหลวงก็เตรียมจัดทัวร์กรุ๊ปพิเศษเตรียมรับนักท่องเที่ยวด้วยโปรแกรมอันซีนที่ไม่เคยจัดที่ไหนมาก่อน “ขอย้ำว่าตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่สำคัญ เราตั้งเป้าไว้ว่าจะไปให้ถึง 100 ไฟลต์ต่อสัปดาห์ให้ได้

Advertisement

“ญี่ปุ่นคือความแข็งแรงของการบินไทย เพราะฉะนั้นเราต้องทำที่นี่ให้แข็งแรงที่สุด แต่ความแข็งแรงนั้นก็ขึ้นอยู่กับการที่เราทำตลาดที่นี่มาอย่างยาวนานด้วย เลยทำให้เราเป็นสายการบินที่มีผู้โดยสารผสมทั้งจากไทยไปญี่ปุ่นและจากญี่ปุ่นมาไทย อย่างแอลซีซีเขามีผู้โดยสารไทย 95% คือแอร์เอเชียได้ตลาดคนไทยเท่านั้น ขณะที่เจแปนแอร์ไลน์ และเอ็นเอเอ็นส่วนใหญ่จะได้ลูกค้าญี่ปุ่น แต่การบินไทยมีทั้งสองทางและมีความนิยมมากกว่าทำให้สามารถขยายเที่ยวบิน และเส้นทางบินในญี่ปุ่นได้อย่างต่อเนื่อง

“ที่ผ่านมาการขยายทุกครั้งก็ประสบความสำเร็จ สัปดาห์ละ 84 เที่ยวบินเท่ากับวันหนึ่งมากกว่า 10 เที่ยวบิน ถือเป็นจำนวนเที่ยวบินที่มากกว่าไปภูเก็ตและเชียงใหม่เสียอีก”

ถามถึงรายได้ว่าเพิ่มขึ้นอย่างไร “วิวัฒน์”กล่าวว่า แน่นอนรายได้ที่ญี่ปุ่นก็แข็งแกร่งตาม แข็งแกร่งในทุกจุดที่บิน ไม่ว่าโตเกียว เกียวโต โอซาก้า นาโงย่า ฟูกูโอกะ และซัปโปโล มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยตลอด เป็นการเติบโตแบบดับเบิลดิจิต อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าจุดหลักแรกจะไปที่ “เจแปน 100” ก่อน เพราะเชื่อว่าความสะดวกสบายที่ต่างกันมีผลมาก

Advertisement

“เพราะผู้โดยสารออกเดินทางกลางคืน ไปถึงเช้า แล้วยังต้องกลับเช้าอีก เขาก็ไม่ชอบ เราเลยเสริมเส้นทางบินที่บินในช่วงบ่ายและช่วงเย็น ผู้โดยสารจะได้มีเวลามากขึ้น ได้เที่ยวมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นการเติมเต็มให้เส้นทางญี่ปุ่นมีความน่าสนใจมากขึ้น

“แต่ที่จริงผมอยากแถมว่าไม่ใช่ที่ญี่ปุ่นที่เดียว การบินไทยกำลังเสริมความแข็งแรงในแปซิฟิกริงทั้งหมด ปีนี้แผนของเราคือจะเพิ่มเที่ยวบินที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีอีก 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพราะฉะนั้น เราจะมีบินตรงถึง 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ หรือที่ฮ่องกงจะเพิ่มบินตรงเข้าไปอีก แล้วใช้ไทยสมายล์เสริมเข้าไป หรือที่ไทเปก็เช่นกัน นอกจากเพิ่มเที่ยวบินอีก 1 เที่ยวบินตอนกลางวันแล้ว ยังมีการเปิดใช้ไทยสมายล์เข้าเกาชูอีก 7 เที่ยวต่อสัปดาห์

“เป็นการสะท้อนอย่างชัดเจนว่าการบินไทยวางน้ำหนักที่สำคัญที่แปซิฟิกริงมาโดยตลอด เราเชื่อว่าภูมิภาคนี้มีการเดินทางอย่างหนาแน่น ไม่เฉพาะประเทศไทยแต่ลงไปถึงอาเซียนและอินเดียทั้งหมด ซึ่งสามารถใช้ประเทศไทยเป็น Gateway รุกเข้าไปในประเทศต่างๆ ทั้งหมดในแถบนี้”

สำหรับประเทศจีนที่มีปัญหามาจากเรื่องเรือล่มที่ จ.ภูเก็ต ทำให้นักท่องเที่ยวจากจีนลดน้อยลงไป และกระทบกับการบินไทยด้วยนั้น “วิวัฒน์” กล่าวว่า มีแผนที่จะฟื้นฟูเส้นทางบินทั้งเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินเข้าไปอีก แต่การจะเพิ่มเส้นทางบินแน่นอนว่ายังมีสิ่งที่ติดขัดอยู่ คือเมืองจีนใหญ่ๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา ตอนนี้สล็อตที่สนามบินของเขาเกือบจะหมดแล้ว หรือถ้าได้ก็เป็นสล็อตที่ไม่ค่อยดี เลยทำให้การขยายในตลาดจีนไม่ง่าย และที่มาซ้ำเติมคือเหตุการณ์เรือล่มที่ จ.ภูเก็ต มีผลกระทบมากพอสมควรกับการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะที่ภูเก็ต

“ตอนนี้เราพยายามแก้ไขโดยการทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวฯ ก็ช่วยมาก ที่ได้ไปพูดคุยกับหน่วยงานเจ้าหน้าที่ของจีน เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยดูแลเขา นอกจากนี้ เราจะนำตัวแทนและสื่อในจีนมาเยี่ยม จ.ภูเก็ต และประเทศไทย เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าประเทศไทยยังดีเหมือนเดิม และดีกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามุ่งไปที่วันชาติจีน คือเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะเป็นหนึ่งการเดินทางที่สำคัญจากประเทศจีน

“เชื่อเหลือเกินว่าถ้าเราทำและทางจีนมั่นใจ เราอยากเห็นนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเดินทางเข้าประเทศไทยอีกครั้ง และอีกวิธีหนึ่งที่พยายามเสริม คือแทนที่ประเทศไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางก็เอามาเป็นเกตเวย์เข้าสู่อาเซียน เและจุดอื่นๆ ที่เป็นเน็ตเวิร์กของการบินไทย เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะโปรโมตให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาที่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นจุดหมายปลายทางหรือทางผ่าน”

“เวลานี้เราให้ไทยสมายล์ไปช่วยบินสองเส้นทาง คือ ฉงชิงและฉางชา แล้วไทยสมายล์ไปต่อเติมเน็ตเวิร์กได้เอง คือเมืองเจิ้งโจว เมืองนี้กำลังได้รับความนิยม เพราะเป็นเมืองอุตสาหกรรมและท่องเที่ยว สรุปล่าสุดการบินไทยและไทยสมายล์บินเข้าจีนไป 8 จุดบิน”

สกุณา ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image