ดีแทคแจงบทความ ‘มติชน’ ย้ำขอเยียวยาเพื่อคุ้มครองลูกค้า

เมื่อวันที่ 11 กันยายน นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือชี้แจงว่า เนื่องด้วยหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 11 กันยายน 2561 คอลัมน์ “เดินหน้าชน” ได้นำเสนอข้อมูลข่าวของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ผิดจากข้อเท็จจริงทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อกรณีมาตรการคุ้มครองลูกค้าที่ดีแทคยื่นขอความคุ้มครองต่อ กสทช.เพื่อลูกค้าดีแทคอย่างเป็นธรรม
บริษัทขอชี้แจงข้อมูลในคอลัมน์ “เดินหน้าชน” ที่กล่าวหาซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิด โดยขอชี้แจงและขอให้รายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้

1.ข้อพาดพิงที่ระบุว่าดีแทคเข้าสู่มาตรการเยียวยา เพื่อจะได้ใช้คลื่นฟรีต่อไป และเป็นการเอาเปรียบรัฐและผู้ประกอบการรายอื่นๆ นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิดจากข้อเท็จจริงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากตามประกาศเยียวยา กำหนดให้ดีแทคให้บริการแทนรัฐโดยต้องส่งรายได้ทั้งหมดจากการให้บริการให้ กสทช. เพื่อนำส่งให้รัฐเป็นรายได้ของประเทศต่อไป โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เท่าที่ กสทช.ให้ความเห็นชอบเท่านั้นและต้องไม่น้อยกว่า 30% ของรายได้ ดีแทคไม่สามารถมีกำไรจากการให้บริการในช่วงเยียวยา ทั้งนี้ ดีแทคได้ประเมินว่าจะมีรายได้ส่งเข้ารัฐประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน และไม่ได้เป็นการใช้คลื่นฟรีตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด

2.ที่ผ่านมา ลูกค้าจากผู้ให้บริการรายอื่น กล่าวคือ ทรูและเอไอเอส ได้รับมาตรการเยียวยารายละ 26 เดือนและ 9 เดือนตามลำดับ โดย กสทช.ยังไม่สามารถติดตามให้ผู้ให้บริการนำส่งรายได้บริการในช่วงเยียวยาได้ทั้งหมด เช่นกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800 MHz ของทรูมูฟ จำนวน 3,381.95 ล้านบาท และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ในเครือเอไอเอส) จำนวน 869.51 ล้านบาท พร้อมทั้งยังสรุปค่าใช้โครงข่ายของ บมจ.กสท โทรคมนาคม ยังไม่ได้ แต่กรณีดีแทคได้ตกลงค่าใช้จ่ายโครงข่ายช่วงเยียวยากับ บมจ.กสท โทรคมนาคม และพร้อมทำตามประกาศ กสทช. โดยดีแทคระบุในแผนคุ้มครองลูกค้าซึ่งยื่นถึง กสทช.ตั้งแต่ 7 มิถุนายน ซึ่งเป็นแผนคุ้มครองลูกค้าที่ดีแทคยื่นต่อ กสทช.ร่วมกันกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม

3.ดีแทคขอเรียนว่าผู้ประกอบการรายอื่นก็เคยได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายฉบับดังกล่าวมาแล้วในอดีตเมื่อสัมปทานของผู้ประกอบการมือถือรายนั้นสิ้นสุดลง โดยยังไม่มีผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ในคลื่นที่หมดสัมปทาน ส่วนมติ กสทช.ที่มีผลให้ผู้ใช้บริการของดีแทคไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้ แต่ให้ความคุ้มครองแก่การหมดสัมปทานของผู้รับสัมปทานรายอื่นนั้น ดีแทคได้นำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาและคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการตามที่กฎหมายบัญญัติ

Advertisement

4.ดีแทคได้ให้บริการคลื่น 850 MHz สำหรับการประมูลที่จะจัดขึ้นคือคลื่นความถี่ 900 MHz เป็นคนละคลื่นกัน ถึงแม้ดีแทคจะประมูลได้มา ยังต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนอุปกรณ์จาก 850 MHz เป็น 900 MHz โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 24 เดือน ลูกค้าดีแทคยังกระทบต่อการใช้สัญญาคลื่น 850 MHz จึงยังจะต้องคุ้มครองลูกค้าในช่วงโอนย้ายช่วงสิ้นสุดสัมปทาน

5.การยื่นขอเยียวยานั้น มิได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของดีแทค แต่เพื่อลูกค้าของดีแทคไม่ให้ซิมดับเนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมาดีแทคได้พยายามโอนย้ายลูกค้าจากคลื่นหมดสัมปทานออกไปอย่างเต็มที่แล้วแต่ก็ยังไม่หมด และการคุ้มครองไม่ให้ซิมดับเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการคือ ดีแทค และ กสทช.

6.ในการประมูลคลื่น 900 MHz ที่ กสทช.กำหนดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2561 ได้มีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชนะการประมูลมีหน้าที่ในการแก้ปัญหาคลื่นความถี่รบกวนแต่เพียงผู้เดียว และยังให้อำนาจ กสทช.ในการเปลี่ยนแปลงย่านความถี่ในภายหลังได้อีกด้วย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ และเป็นความเสี่ยงในการดำเนินงานอย่างมากต่อผู้ชนะการประมูล ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าประมูล ไม่เพียงแต่ดีแทคเท่านั้น

Advertisement

เนื่องจากบทความดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรของดีแทคและได้รับความเสียหาย ดังนั้น บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จึงขอชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้ทางท่านพิจารณาลงแก้ไขรายงานข่าวที่คลาดเคลื่อน และเป็นข้อมูลประกอบข่าวอื่นๆ ตามสมควร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image