ไขปม “ม.44” ตั้ง กกพ.ชุดใหม่

กระแสข่าวการปรับโครงสร้างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ด้านพลังงาน จำนวน 7 คน ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งขึ้นมา มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กันยายน ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคำสั่งเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้กรรมการตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 95/2557 พ้นจากตำแหน่ง และการแต่งตั้งคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับพ้นจากตําแหน่ง และแต่งตั้งประธานและกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทน

ประกอบด้วย 1.นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ เป็นประธานกรรมการ กกพ. เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานแห่งชาติ (สนพ.) และอดีตผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) 2.นายสุธรรม อยู่ในธรรม เป็นกรรมการ กกพ. เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นอดีตผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงาน และรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3.นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ เป็นกรรมการ กกพ. เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 4.นายพีระพงศ์ อัจฉริยชีวิน เป็นกรรมการ กกพ. เคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

Advertisement

5.นายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ เป็นกรรมการ กกพ. เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) 6.นายสหัส ประทักษ์นุกูล เป็นกรรมการ กกพ. เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) และ 7.นางอรรชกา สีบุญเรือง เป็นกรรมการ เคยดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม และ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สำหรับคณะกรรมการชุดเดิม ประกอบด้วย 1.นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการได้หมดวาระไปเพราะมีอายุครบ 70 ปี 2.นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการ 3.นางดวงมณี โกมารทัต กรรมการ 4.นางปัจฉิมาธนสันติ กรรมการ 5.นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ กรรมการ 6.นางวิไลพร ลิ่วเกษมศานต์ กรรมการ และ 7.นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสร้างความชัดเจนว่า คสช.ต้องการ 7 อรหันต์ชุดใหม่มาทำหน้าที่กำกับกิจการพลังงานเพื่อสนองนโยบายรัฐที่เข้าขามากกว่า

Advertisement

ก่อนหน้านี้ช่วงเดือนกรกฎาคม มีข่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรียก กกพ.ชุดของนายพรเทพ เข้าหารือเพื่อเคลียร์บทบาทตัวเองที่อยู่ในวาระถึง 4 ปีแล้ว หลังจาก คสช.แต่งตั้ง แต่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน 2550 กำหนดว่าเมื่อครบ 3 ปีแรกให้จับสลากออก 3 คน เพื่อหมุนเวียนรายใหม่เข้ามาทำงาน

ข้อกฎหมายที่ถูกยกขึ้นมาปัดกวาด กกพ.ชุดของนายพรเทพ มีกระแสข่าวว่ามาจากการทำงานไม่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ต้องการผลักดันโรงไฟฟ้าขยะ

แต่ กกพ.มองว่าขั้นตอนการผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะมูลฝอยชุมชนหรืออาร์ดีเอฟของไทยยังไม่มีความพร้อมมากพอ

รวมทั้งความขัดแย้งกับบริษัทผลิตไฟฟ้า กกพ.ไม่อนุมัติให้เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติเหลว จนถึงขั้นฝ่ายเอกชนฟ้องต่อศาลปกครองกลางช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีปมความล่าช้าในการอนุมัติงบศึกษาการตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้จำนวน 50 ล้านบาท ทำให้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่พอใจอย่างมาก

เรื่องนี้สร้างความงุนงงให้กับ กกพ.ชุดนายพรเทพ โดยชี้แจงว่า ช่วงดำรงตำแหน่งครบ 3 ปี ได้สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ได้รับคำตอบว่า ข้อกำหนดเรื่องลาออกกำหนดไว้สำหรับ กกพ.ชุดแรกเท่านั้น ไม่ใช่ชุดของ คสช. และยังเข้าใจว่าเมื่อ คสช.ตั้งมาหากไม่ต้องการให้ทำงานต่อก็ควรใช้อำนาจ คสช.ในการปรับเปลี่ยนกรรมการ แต่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานกลับให้ กกพ.ไปเคลียร์กันภายในว่าใครจะลาออก

ช่วงแรกมีกระแสข่าวว่ากรรมการ กกพ. 7 คน ปัจจุบันเหลือ 6 คน เนื่องจากนายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการได้หมดวาระไปเพราะมีอายุครบ 70 ปี เมื่อปลายปี 2560

จำนวนนี้มีเป้าหมายที่รัฐบาลอยากให้ลาออก แต่สถานการณ์ภายในก็มีความปั่นป่วนว่าใครจะเสียสละ หรือจะใช้วิธีจับสลาก

ต่อมา มีกระแสข่าวว่าจะมีกรรมการ 2 คนลาออก เพราะอายุเข้าใกล้ 70 ปีมากที่สุด คือ นางดวงมณี โกมารทัต และนางวิไลพร ลิ่วเกษมศานต์

กระทั่งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา กรรมการ กกพ.ที่สมัครใจลาออกมีจำนวน 2 ราย คือ นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ และนางดวงมณี โกมารทัต

ช่วงที่บรรยากาศภายใน กกพ.ยังฝุ่นตลบ ก็เกิดกรณีบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี เข้าซื้อกิจการผลิตไฟฟ้าของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) จนถูกหลายฝ่ายคัดค้าน ยื่นเรื่องไป กกพ.ให้พิจารณา

รวมทั้ง นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แสดงความไม่เห็นด้วยกรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีแผนการให้บริษัทลูก คือ จีพีเอสซี เข้าซื้อกิจการผลิตไฟฟ้าของโกลว์ รวมทั้งประเด็นที่ ปตท.กำลังขยายธุรกิจค้ากาแฟอเมซอน

กกพ.ระบุว่าจะได้สรุปเรื่องนี้ภายในวันที่ 27 กันยายน หรือหากไม่เสร็จก็สามารถยื่นไปอีก 15 วัน

แต่สุดท้าย กกพ.ชุดของนายพรเทพก็ถูกเด้งไป ส่งไม้ต่อให้ กกพ.ใหม่ชุดของนายเสมอใจเข้ามาทำงานแทน

น่าติดตามการทำงานของ กกพ.ชุดใหม่ว่าจะสนองนโยบายรัฐบาลแค่ไหน

แต่ที่แน่ๆ มีภารกิจร้อนรอเคลียร์ คือปมจีพีเอสซีซื้อโกลว์ น่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด รอ กกพ.ชุดใหม่มาตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image