ตะลุยอิตาลี-ฝรั่งเศส-จีน ส่องไฮสปีดเทรน 3 ประเทศ..ใครเจ๋งกว่า!

มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรนในหลายประเทศ ทำให้เข้าใจได้อย่างลึกซึ้งว่าการมีรถไฟความเร็วสูงสามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีขนาดไหน

เริ่มจาก ประเทศอิตาลี ซึ่งให้บริการโดย บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (Ferrovie dello Stato Italiane S.p.A.) หรือ เอฟเอส (FS) โดยบริษัทให้ข้อมูลว่า ได้เริ่มก่อสร้างไฮสปีดเทรน ตั้งแต่ปี 2520 เส้นทางโรม-ฟลอเรนซ์ ระยะทาง 232 กิโลเมตร (กม.) และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี 2558 ได้นำรถรุ่นใหม่มาให้บริการ สามารถวิ่งได้สูงสุด 300-350 กม./ชม.

ปัจจุบันเอฟเอสเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร มีรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟธรรมดา และถนน ลงทุนในต่างประเทศรวม 90 บริษัท ขนส่งผู้โดยสารรวม 750 ล้านคน/ปี บริหารเส้นทางรถไฟ 2.4 หมื่น กม. เป็นไฮสปีดเทรน 4 พัน กม. เฉพาะอิตาลีมีไฮสปีดเทรน 1.4 พัน กม.

ในอิตาลี ไฮสปีดเทรนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะช่วยลดเวลาเดินทางได้อย่างดี เช่น เส้นทางโรม-มิลาน ระยะทาง 477 กม. เดิมใช้เวลาเดินทาง 6.30 ชม. เมื่อมีไฮสปีดเทรนลดเวลาลงเหลือแค่ 2.50 ชม. เท่านั้น

Advertisement

จำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นสังเกตได้จากปี 2551 ที่ยังไม่มีไฮสปีดเทรน ผู้โดยสารรถไฟอยู่ที่ 36% และในปี 2560 มีไฮสปีดเทรนแล้ว ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 66.5% ขณะที่ตั๋วโดยสารมีให้เลือกหลากหลาย แล้วแต่ชั้นที่นั่ง เริ่มตั้งแต่ 50-150 ยูโร (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร ประมาณ 38 บาท)

การบริการผู้โดยสารแต่ละเส้นทางได้ศึกษาด้วยว่าผู้โดยสารเป็นกลุ่มเป้าหมายไหน เพื่อให้บริการได้ตรงความต้องการ เช่น เส้นทางโรม-ฟลอเรนซ์ จะเป็นนักท่องเที่ยว ส่วนโรม-มิลาน เป็นนักธุรกิจ ซึ่งจะมีผลต่อการออกแบบที่นั่งให้สอดคล้องกับตลาดด้วย

หลังจากใช้บริการเส้นทางโรม-ฟลอเรนซ์ พร้อมได้เข้าไปดูในห้องพนักงานขับรถ พบว่าหน้าจอกำหนดความเร็วสูงสุด 400 กม./ชม. แต่จำกัดความเร็วไว้ไม่เกิน 250 กม./ชม. เฉลี่ยวิ่งอยู่ที่ 246 กม./ชม. หากวิ่งเกิน 250 กม./ชม.จะมีไฟแจ้งเตือน และหากภายใน 30 วินาที คนขับไม่มีความเคลื่อนไหวในการบังคับ ความเร็วของรถจะลดลงโดยอัตโนมัติ ใช้เวลา 1.20 ชม.ก็ถึงจุดหมายปลายทาง

Advertisement

ทั้งนี้ ด้วยการวิ่งบนรางที่ใช้หินปูทางเหมือนรถไฟบ้านเรา ทำให้รถไม่นิ่งมากนัก เหวี่ยงสะบัดซ้ายขวาบ้าง แต่ในภาพรวมสะดวกสบาย รวดเร็วทันใจดี

หลังจากนั้นได้เดินทางต่อไปที่ ฝรั่งเศส ไปดู บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส หรือ แอ็สแอนเซแอ็ฟ (SNCF) หนึ่งในผู้ซื้อเอกสารการประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ปัจจุบันดำเนินธุรกิจใน 20 ประเทศทั่วโลก เดินรถไฟรวม 15,000 ขบวนต่อวัน บนเส้นทางรถไฟรวม 3 หมื่น กม.

บริษัทได้เริ่มให้บริการรถไฟความเร็วสูงปี 2524 เดิมใช้ความเร็ว 260 กม./ชม. จนปัจจุบันพัฒนามาอยู่ที่ 320 กม./ชม. ระยะทางรวม 2,824 กม. มีทั้งหมด 230 สถานี ปัจจุบันทำธุรกิจในยุโรปรวม 8 ประเทศ เป็นผู้ดูแลรถไฟความเร็วสูงในยุโรป 50%

สำหรับผลพลอยได้ของการมีรถไฟความเร็วสูง คือเรื่องของเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังเมืองต่างๆ ภายในสถานีมีการซื้อขายสินค้า และที่สำคัญจะมีการออกไปอยู่นอกเมืองมากขึ้น

จากการทดลองใช้บริการในเส้นทางปารีส-แรงส์ ระยะทาง 140 กม. ใช้เวลา 45 นาที มีขบวนรถทั้งที่เป็นชั้นเดียวและสองชั้นให้บริการ จำกัดความเร็วไว้ไม่เกิน 320 กม./ชม. นั่งชั้นบนจะรู้สึกนิ่งกว่าชั้นล่าง เส้นทางใช้หินปูทาง แต่สร้างขึ้นมาใหม่จึงใช้ความเร็วได้สูง

สุดท้ายกลับมาในฝั่งเอเชีย คือ ประเทศจีน ดำเนินการ China Railway Construction Corporation Limited หรือ CRCC บริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงยาวที่สุดในโลก 25,000 กม. คิดเป็น 65% ของทั้งโลก มีสถานีหงเฉียว เมืองเซี่ยงไฮ้ เป็นสถานีกลางที่ใหญ่ที่สุดในจีน

CRCC เริ่มให้บริการรถไฟความเร็วสูงมาตั้งแต่ปี 2550 แต่สถานีหงเฉียวเปิดบริการปี 2553 มีผู้โดยสาร 260,000 คน/วัน ช่วงเทศกาลสำคัญจะมีผู้โดยสารถึง 500,000 คน/วัน

รถไฟความเร็วสูงของจีน แบ่งเป็น 3 รุ่น คือ รุ่นที่ 1 จะสามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 250 กม./ชม. รุ่นที่ 2 ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 350 กม./ชม. และรุ่นที่ 3 ใช้ความเร็วได้ถึง 486 กม./ชม. (อยู่ระหว่างทดลอง) ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างพัฒนาแม็กเลฟ และไฮเปอร์ลูปด้วย

ไฮสปีดเทรนของจีนเรียนรู้มาจากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี โดยนำเทคโนโลยีฝั่งเอเชียและยุโรปมาผสมผสานกันจนกลายเป็นของจีนเอง ทำให้รถไฟความเร็วสูงของจีนมีทั้งที่เป็นหินปูทางและเป็นคอนกรีต โดยความเร็วไม่เกิน 250 กม./ชม.จะใช้หินปูทาง ส่วนความเร็วตั้งแต่ 300 กม./ชม.ขึ้นไป จะเป็นทางแบบคอนกรีต

จากการทดลองนั่งจากเซี่ยงไฮ้-หางโจว ระยะทาง 160 กม. ใช้เวลา 56 นาที เฉลี่ยความเร็วสูงสุด 304 กม./ชม. นั่งไปกลับรวดเร็วดี ถึงแม้จะนิ่มถึงขั้นไม่สะเทือน เมื่อเปรียบเทียบไฮสปีดเทรนทั้ง 3 ประเทศ สิ่งที่เหมือนกัน คือความรวดเร็ว ความนิยมของประชาชนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะแตกต่างเรื่องแรงสั่นสะเทือนภายในห้องโดยสารอยู่บ้าง แต่ก็ใช้บริการได้สะดวกสบาย และปลอดภัยตลอดเส้นทาง!!

ชีวิน ขันตรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image