ประมูลงานรัฐอืด สะดุดที่ใคร!?

เหลืออีกไม่กี่วันจะถึงเวลาปิดปีงบประมาณ 2561 เมื่อดูผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาล เคยเป็นพระเอกในการดูแลเศรษฐกิจกลับต่ำกว่าเป้าหมายมาก

ตัวเลขล่าสุดตุลาคม 2560 ถึง 14 กันยายน 2561 งบลงทุนบรรจุไว้ในแผนงบประมาณ 6.59 แสนล้านบาท ถูกเบิกจ่ายจริงเพียง 52.02% หรือได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ประมาณ 85% และในจำนวนนี้มีการก่อหนี้ผูกพันหรือทำสัญญาลงทุนกับเอกชนแล้ว วงเงิน 4.57 แสนล้านบาท คิดเป็น 69.29% ของงบลงทุนรวม

ดังนั้น คาดว่าจนถึงสิ้นปีงบประมาณการเบิกจ่ายงบลงทุน ยังต่ำกว่าเป้าหมายถึง 20-30%

การเบิกจ่ายงบประมาณต่ำกว่าเป้า สาเหตุหนึ่งเกิดจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ทำให้หน่วยงานรัฐกังวลในการเบิกจ่ายงบกลัวผิดกฎหมาย

Advertisement

เพราะกฎหมายดังกล่าวเปิดให้มีการอุทธรณ์ประมูลโครงการรัฐได้ ต่างจากกฎหมายเก่าไม่มีส่วนนี้

เจตนาของกฎหมายเรื่องการอุทธรณ์ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

แต่มีเอกชนบางรายใช้ช่องกฎหมายดังกล่าวด้วยเจตนาไม่สุจริต เช่น ผู้แพ้ประมูลยื่นอุทธรณ์ ทำให้งานต้องล่าช้าออกไป ใช้เวลาในการพิจารณานานกว่า 2 เดือนจึงแล้วเสร็จ

Advertisement

เรื่องนี้ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ระบุว่าจากรายงานพบว่าหลังจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เปิดให้มีการอุทธรณ์ ส่งผลให้ล่าสุดมีการอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกว่า 1,000 เรื่อง เอกชนบางรายใช้ช่องกฎหมายนี้ด้วยเจตนาไม่ดี คือ อุทธรณ์หมด ทำให้รัฐเสียหายเดินหน้าโครงการต่อไม่ได้ เบิกจ่ายก็ไม่ได้

ดังนั้น จึงสั่งการไปยังกรมบัญชีกลางไปศึกษาบทลงโทษ สำหรับคนไม่สุจริต มีข้อเสนอ เช่น ตัดสิทธิประมูลงานภาครัฐของผู้ที่อุทธรณ์ หรือให้ผู้อุทธรณ์ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยอาจออกเป็นกฎหมายลูก ขณะนี้มีการออกกฎหมายลูกรองรับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว 80% เหลืออีกนิดหน่อยที่จะต้องทำให้หมด

การอุทธรณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐใช้เวลายาวนานกว่ากฎหมายเก่า ทำให้ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนล่าสุดต่ำกว่าเป้าหมายพอสมควร แต่ถ้าเทียบกับการเบิกจ่ายในปีที่ผ่านมาการเบิกจ่ายปีนี้ยังสูงกว่า

ภาคเอกชนอย่าง อธิป พีชานนท์ ประธานสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเปิดให้เอกชนสามารถยื่นอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้

เรื่องสำคัญคือ ต้องไม่ทำให้การดำเนินงานของโครงการที่ควรจะเดินหน้าต้องหยุดชะงักลง จากปัจจุบันเมื่อมีการอุทธรณ์จะไม่สามารถดำเนินงานได้ ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของศาลและกว่าศาลจะตัดสินใช้ระยะเวลานาน ทำให้เป็นการเสียโอกาสของประเทศและประเทศก็จะไม่พัฒนา

อธิปยังมองว่า การยื่นอุทธรณ์สามารถทำได้ แต่ควรเป็นในลักษณะการตรวจสอบย้อนหลัง (Post Audit) ว่ากระบวนการที่ดำเนินงานมาทั้งหมดมีความถูกต้อง แต่หากพบความผิดปกติ หรือความไม่โปร่งใส ผู้กระทำผิดจะต้องชดเชยทั้งความเสียหายของโครงการและต้องรับผิดทางอาญาด้วย

การรับผิดหลายทางจะเป็นการป้องกันการกระทำผิด ขณะที่การดำเนินโครงการยังสามารถเดินหน้าได้ ส่วนกรณีการอุทธรณ์โดยไม่มีเหตุผล ผู้ยื่นอุทธรณ์ก็จะต้องถูกลงโทษด้วยเช่นกัน ป้องกันการเกิดเหตุซ้ำในกรณีโครงการอื่นหรือเกิดกรณีเป็นเรื่องผลประโยชน์ของคนบางคน แล้วนำไปใช้เพื่อการกลั่นแกล้งกัน

ประธานสมาคมอธิบายต่ออีกว่า หากประเทศมีแผนเดินหน้าโครงการต่างๆ อย่างรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง หรืองานก่อสร้างทั่วไปของภาครัฐ ถ้ามีการอุทธรณ์อย่างไม่มีเหตุผลหรือโดยไม่สุจริตใจ เป็นการอุทธรณ์ในกรณีตนเองไม่สามารถประมูลงานได้เพื่อไปขัดขาคนอื่น หรือเป็นไปในลักษณะนำมาใช้เพื่อการกลั่นแกล้งกัน ทำให้งานโครงการต่างๆ หยุดชะงักล่าช้าออกไป

ประเทศไทยโดยรวมจะเสียประโยชน์จากโครงการที่ควรเกิดขึ้น ยกตัวอย่างคดีรถดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร ระหว่างที่พิจารณาคดีรถดับเพลิงก็จอดทิ้งไว้จะนำมาใช้ประโยชน์ก็ไม่ได้ ระยะเวลาการพิจารณานานกว่า 10 ปี กว่าจะได้ข้อสรุปเวลานั้นอาจจะได้ซากรถมาแทนจะไม่ใช้ประโยชน์ได้ แต่ถ้าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ระหว่างการตรวจสอบ และเมื่อพบว่ามีความผิด ให้ผู้ดำเนินการจ่ายให้ชดเชยมาและรับความผิดทางอาญาจากการทุจริต

“บางอย่างถ้าระแวงเกินกว่าเหตุก็ไม่สามารถดำเนินการได้ อย่างงาน 100 โครงการที่เกิดขึ้น อาจจะมีโครงการที่ทำโดยสุจริต 90 โครงการ แต่มีเพียง 10 โครงการที่กระทำไม่สุจริต จะเอา 10 โครงการที่เป็นส่วนน้อยมาทำให้งานหยุดชะงักไปจนกระทบอีก 90 โครงการไม่ได้”Ž อธิปทิ้งท้าย

ขณะที่ ปสันน สวัสดิ์บุรี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทมีสัดส่วนการรับงานก่อสร้างเป็นงานโครงการของภาครัฐกว่า 80% ตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเปิดให้เอกชนสามารถยื่นอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้นั้น ถือเป็นการสร้างความเป็นธรรมและเป็นการช่วยกันตรวจสอบ

แต่ก็มองได้ 2 มุม กรณีบริษัทเห็นว่าการประมูลมีความผิดปกติหรือไม่เป็นธรรม บริษัทสามารถที่จะยื่นอุทธรณ์บริษัทอื่นที่ชนะการประมูลได้ ขณะเดียวกันหากบริษัทชนะการประมูลงาน อาจจะมีบริษัทอื่นเข้ามายื่นอุทธรณ์ได้เช่นกัน กรณีที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้เกิดความล่าช้าการดำเนินโครงการ เพราะกระบวนการยกเลิกโครงการทำได้เร็ว แต่ขั้นตอนการตรวจสอบหรือเริ่มกระทบการประมูลรอบใหม่ทำได้ช้า ที่ผ่านมาบริษัทก็มีทั้งที่ชนะประมูลแล้วถูกยื่นอุทธรณ์ หรือกรณีไปยื่นอุทธรณ์โครงการอื่น ในส่วนที่โครงการเกิดความล่าช้าขึ้นนั้น บริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบต่อการประเมินรายได้ที่จะเกิดขึ้น เพราะมีการวางแผนการรับรู้รายได้ไว้อยู่แล้ว

เรื่องนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย แต่ไร้การล้อมคอกเอาไว้หรือไม่ !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image