‘อีอีซี’ปฏิเสธปล่อยเช่าที่ราชพัสดุ 4 พันไร่ ยันเป็นอำนาจตัดสินใจกรมธนารักษ์-กองทัพเรือ

นายคณิศ แสงสุพรรณ

รายงานข่าวจากกรมธนารักษ์แจงว่า ที่ราชพัสดุประมาณ 4 พันไร่ ที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา  ซึ่งเป็น 1 ใน 7 แปลง ที่กรมธนารักษ์ได้สำรวจและส่งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่ง สกพอ.ได้พิจารณา และแจ้งความประสงค์ขอใช้ที่ราชพัสดุ ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแล้ว จำนวน 2 แปลง ประกอบด้วย ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ รย.333 อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เนื้อที่ประมาณ 6,500  ไร่ ซึ่งกำหนดเป็นเขตส่งเสริม เมืองการบินภาคตะวันออก บริเวณสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา จังหวัดระยอง และที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชบ.347 อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ทั้งแปลงประมาณ 759 ไร่ 2 งาน 17 ตารางวา  ซึ่งกำหนดเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือเขต EECd และเขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

ส่วนที่ราชพัสดุบริเวณ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา  ยังไม่ได้กำหนดเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และยังอยู่ในความครอบครองของกองทัพเรือ การพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวเพื่อจัดตั้งเมืองใหม่  สามารถดำเนินการได้หรือไม่ หาก สกพอ.พิจารณาแล้วเห็นว่า มีความจำเป็นจะต้องใช้ที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว สกพอ.ต้องได้รับความยินยอมจากกองทัพเรือ ผู้ครอบครองใช้ประโยชน์เดิม และจึงเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กำหนดเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษก่อน กรมธนารักษ์จึงจะสามารถส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้ สกพอ.พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

สำหรับที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ฉช. 611–614  ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 4,277 ไร่  15 ตารางวา อยู่ในความครอบครองของกองทัพเรือ โดยใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือโยธะกา เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ส่วนที่เหลือกองทัพเรือได้นำไปจัดให้ราษฎรเช่าเพื่ออยู่อาศัยและ ประกอบการเกษตร โดยกรมธนารักษ์ได้มอบอำนาจให้กองทัพเรือ เป็นผู้ดำเนินการจัดให้เช่าและเรียกเก็บค่าเช่าให้เป็นไปตามระเบียบ กระทรวงการคลังกำหนด

ต่อมาประกาศบังคับใช้กฎกระทรวงว่าด้วย หลักเกณฑ์ และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหา ประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พุทธศักราช  2545 โดยกำหนดให้การจัดให้เช่า ที่ราชพัสดุในจังหวัดอื่น ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด กองทัพเรือจึงได้ส่งมอบรายชื่อผู้เช่าให้จังหวัดฉะเชิงเทราดำเนินการจัดให้เช่าตั้งแต่ปี 2546 โดยมีเงื่อนไขให้ต่ออายุสัญญาเช่าครั้งละ 1 ปี และต้องได้รับความยินยอมจากกองทัพเรือก่อน

Advertisement

ปี  2557 กองทัพเรือแจ้งว่ามีแผนการใช้ประโยชน์ ที่ราชพัสดุบริเวณที่จัดให้ราษฎรเช่า เพื่อใช้เป็นที่ตั้งกองบังคับการ หมวดเรือที่ 2 กองเรือลำน้ำกองเรือยุทธการ และที่ตั้งสถานีวิทยุหาทิศ (DF) จึงขอให้ยกเลิกสัญญาเช่า ซึ่งจังหวัดฉะเชิงเทราได้ยกเลิกสัญญา เช่ากับผู้เช่าจำนวน 145 ราย รวม 267 สัญญา เนื้อที่ประมาณ 3,201 ไร่ 1 งาน 17.34 ตางรางวา  ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  2558 เป็นต้นมา

ในเรื่องดังกล่าว นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า กรณีที่ ซี.พี.จะไปเช่าพื้นที่เพื่อจัดตั้งเมืองใหม่นั้น ในส่วนของ อีอีซี คงไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมธนารักษ์ และกองทัพเรือ เป็นผู้พิจารณา หากเห็นชอบเอกชนก็ต้องส่งเรื่องไปยังคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานว่าเป็นไปตามเกณฑ์การจัดตั้งเมืองใหม่ที่อยู่ระหว่างการจัดทำอยู่เวลานี้หรือไม่ ประกอบกับ ทาง ซี.พี.ก็ยังไม่ได้มีการเข้ามาหารือกับทางอีอีซีแต่อย่างไร แต่ทั้งนี้พื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองทัพเรืออยู่ในขณะนี้ มองว่าคงไม่สามารถจะยกพื้นที่ให้เอกชนรายใดเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ง่ายๆ เพราะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยทำการเกษตรกรรมมานาน ซึ่งอีอีซีคงไม่เข้าไปยุ่ง

นอกจากนี้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่เขียนไว้ว่า การใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุ ทางอีอีซี ต้องการแค่พื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษแล้วที่จะมาทำเป็นเมืองใหม่ อย่างเช่น เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีไอ) และเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ส่วนพื้นที่ราชพัสดุอื่นๆ อีอีซีจะไม่นำมาใช้ในการจัดตั้งเมืองใหม่ในส่วนที่ภาครัฐดำเนินการ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image