สกู๊ปหน้า 1 : โรงสีข้าวแห่ปิด สารพันปัญหารุม

จากปัญหาสภาพคล่องโรงสีที่ปิดตัวกันเป็นจำนวนมาก ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวม และผลจากคำสั่งรัฐบาลที่ให้มีการดำเนินคดีกับโรงที่มีส่วนร่วมในการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวถึง 882 คดี ที่ส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจของกลุ่มโรงสีข้าวทั่วประเทศ

พิจิตรŽ เป็นจังหวัดหนึ่งที่โรงสีหลายแห่งเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวในอดีต เป็นข้าวที่ร่วมโครงการกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) สังกัดกระทรวงพาณิชย์ และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีโรงสีที่ถูกดำเนินคดีร่วมการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวมากถึง 61 แห่ง รวม 61 คดี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ทำให้โรงสีที่ถูกดำเนินคดีถูกยึดเงินค้ำประกัน

จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลเป็นลูกโซ่ตามมา เพราะธนาคารที่ปล่อยเงินกู้แพคกิ้งเครดิตให้กับโรงสี ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงลดวงเงินแพคกิ้งเครดิตทำให้โรงสีขาดสภาพคล่อง เงินทุนหมุนเวียนเหือดแห้ง

มิหนำซ้ำโรงสียังติดปัญหาพ่วงกับคลังกลางที่ฝากข้าวในโครงการรับจำนำถูกแช่แข็งไม่คืนหนังสือค้ำประกัน “LGŽ” ประกอบกับ ราคาข้าวตกต่ำเหลือเพียงตันละ 5,000-6,000 บาท โรงสีรับซื้อแล้วขายขาดทุนทำให้สถานการณ์ย่ำแย่

Advertisement

ด้วยสารพันปัญหาต่างๆ ทำให้โรงสีข้าวทยอยปิดตัวมากถึง 40-50%

มิ่งขวัญ พุกเปี่ยม ประธานชมรมโรงสีข้าว จังหวัดพิจิตร ให้ข้อมูลว่า จังหวัดพิจิตร ถือได้ว่าเป็นดินแดนปลูกข้าวชั้นดีที่มีปริมาณข้าวออกสู่ตลาดมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี มีโรงสีที่เป็นสมาชิกในชมรมโรงสี 34 โรง ในยุคที่เคยเฟื่องฟู

จากนั้นก็มีโรงสีทยอยปิดกิจการไปหลายแห่ง เหลืออยู่เพียง 29 แห่ง เมื่อเจอกับวิกฤตต่างๆ ซ้ำลงไปอีก โรงสีที่เป็นสมาชิกชมรมโรงสีข้าวพิจิตรจาก 29 แห่ง วันนี้เหลือแค่ 8 แห่งเท่านั้น

Advertisement

เมื่อโรงสีหยุดกิจการก็ต้องเลิกจ้างคนงาน และแหล่งที่จะรับซื้อข้าวจากชาวนาก็เหลือน้อยลง

ช่วงฤดูกาลที่ผ่านมา สมาชิกในชมรมโรงสีข้าวพิจิตรทั้ง 29 แห่ง เปิดรับซื้อข้าวนาปีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 โดยเปิดรับซื้อข้าวเกี่ยวสด 25% ตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดรับซื้อข้าวเกี่ยวสดมาในราคาตันละ 6,400-6,500 บาท ถ้าคิดเป็นข้าวแห้งความชื้น 15% จะตกอยู่ที่ราคาตันละ 7,500 บาท ซื้อข้าวเปลือกไว้เพื่อหวังว่าจะแปรรูปเป็นข้าวสารขายให้กับผู้ส่งออก

“แต่ปรากฏว่าจากวันนั้นถึงวันนี้ราคาข้าวมีแต่ทรงกับทรุดสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารขายก็มีแต่ขาดทุน จึงเป็นเหตุให้โรงสีหลายแห่งหยุดรับซื้อข้าวจากชาวนาและหยุดสีข้าว เนื่องจากขาดสภาพคล่องไม่มีเงินหมุนเวียน ประกอบกับสีข้าวขายแล้วไม่ได้ราคา นับเป็นปัญหาวิกฤตของวงการค้าข้าวอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อนŽ” ประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดพิจิตรแจกแจงถึงวิกฤตโรงสี

ด้าน วิรัตน์ ลิ่มทองสมใจ กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงสีสิงโตทองไรซ์อินเตอร์เทรด จำกัด เสริมว่า โรงสีของผมเปิดรับซื้อข้าวนาปี-นาปรัง จากชาวนาในเขต อ.เมืองพิจิตร อ.โพธิ์ประทับช้าง และพื้นที่ใกล้เคียงมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 ซื้อข้าวเปลือกจากชาวนามาอบให้แห้งแล้วเก็บเข้าโกดังไปแล้วประมาณ 5 หมื่นตัน

ช่วงที่รับซื้อนั้น ราคาข้าวเปลือกเกี่ยวสดอยู่ที่ตันละ 6,600 บาท บวกลบนิดหน่อย แต่ถ้าคิดเป็นข้าวแห้งความชื้น 15% ชาวนาจะได้ราคาตันละ 7,800 บาท และได้สีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารขายไปแล้ว 2 หมื่นตัน ยังคงเหลือข้าวเปลือกอยู่ในสต๊อกกว่า 3 หมื่นตัน และต้องเก็บยาวมาเกือบ 3 เดือนแล้ว เหตุเพราะขายไม่ออก ราคาข้าวเปลือกวันนี้รับซื้อข้าวสดแค่ตันละ 6,400 บาท ข้าวแห้งตันละ 7,500 บาท สรุปว่าวันนี้ขาดทุนเห็นๆ
ตันละ 300 บาท ยังไม่คิดค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าบริหารจัดการ

“ปัญหาของโรงสีและธุรกิจค้าข้าวในขณะนี้เกิดจากปริมาณข้าวที่มีมาก แต่ตลาดส่งออกมีน้อย เพราะการทำตลาดเพื่อการส่งออกของเราสู้ประเทศคู่แข่งไม่ได้ ถามว่าวันนี้ยังมีคนรับซื้อข้าวสารเพื่อส่งออกหรือไม่ คำตอบคือยังมีคนต้องการรับซื้อข้าวสาร แต่ให้ราคาถูกเหลือเกิน ขายไปก็มีแต่ขาดทุนจึงเป็นเหตุให้โรงสีต้องหยุดรับซื้อข้าวจากชาวนา”Ž วิรัตน์สรุป

ขณะที่ เจนศิลป เจริญบวรศักดิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดพิจิตร ให้ข้อมูลว่า โรงสีในจังหวัดพิจิตรจากที่เคยมี 34 โรงปิดตัวลงไปเหลือแค่ 8 แห่ง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ประกอบกับโรงสีที่ซื้อข้าวจากชาวนา ไปสีแปรรูปเป็นข้าวสารเพื่อขายให้ผู้ส่งออก แต่ปรากฏว่าผู้ส่งออกกดราคารับซื้อในราคาถูก แถมยังมีบางรายซื้อข้าวไปแล้วยังจ่ายเงินล่าช้า บางครั้งก็เบี้ยว ไม่จ่ายเงินค่าข้าวโกงกันดื้อๆ

“เมื่อโรงสีปิดตัวลง ชาวนาก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะไม่มีโรงสีเปิดรับซื้อข้าว หากรับซื้อโรงสีก็จะซื้อในราคาที่ต่ำ เพราะหากซื้อแพงไปก็ขาดทุน หากสภาพโรงสียังเป็นอย่างนี้ต่อไปเกรงว่าจะมีปิดเพิ่มอีก ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งออกมาช่วยดูโรงสีอย่างเร่งด่วนŽ” ประธานหอการค้าจังหวัดพิจิตร เรียกร้องถึงรัฐบาล

บรรจง ตั้งจิตรวัฒนกุล รองนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า การปิดตัวของโรงสีข้าวจังหวัดพิจิตรเนื่องจากตั้งแต่ปลายปี 2557 ราคาข้าวปรับลงมากกว่า 25-30% ทำให้สต๊อกข้าวที่นำไปทำแพคกิ้งเครดิตกับธนาคารขาดทุนแห่งละ 50-70 ล้านบาท บางแห่งขาดทุนเป็น 100 ล้านบาท ที่โรงสีต้องแบกรับ

นอกจากนี้ ที่พิจิตร โรงสีส่วนใหญ่จะทำข้าวแบรนด์เนมหรือข้าวท้องถิ่นเป็นหลัก แต่ 4 ปีที่ผ่านมา ราคาข้าวไม่ได้ปรับสูงขึ้น การแข่งขันในเชิงการค้าข้าวที่เกี่ยวสดมาก็เป็นการแข่งขันราคาซื้อเพื่อทดแทนสต๊อกที่ทำแพคกิ้งเครดิตซึ่งขาดทุนอยู่ หวังจะได้คืนทุนหรือว่าขาดทุนน้อยลง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ไม่เพียงแต่โรงสีในจังหวัดพิจิตรจะปิดตัวลงหลายแห่ง แต่โรงสีจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือเช่น พิษณุโลกก็ปิดไปแล้วหลายโรง เหลือไม่ถึงครึ่ง หรือที่สุโขทัยปัจจุบันเหลือแค่ 2 โรงเท่านั้น กำแพงเพชร ก็จะเห็นว่าโรงสีริมถนนพหลโยธินก็ปิดไปหลายโรง บางโรงก็ลดการผลิตเหลือเพียง 20-30%

โรงสีที่อุตรดิตถ์-พะเยา-เชียงราย ก็ไม่แตกต่างกัน ปิดไปครึ่งหนึ่งเหมือนกัน เพชรบูรณ์ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่เดิมมีโรงสีหลายสิบโรง ปัจจุบันเหลือที่สีข้าวได้จริงจังแค่ 2 -3โรงเท่านั้น ส่วนโรงสีในภาคอื่นๆ ทั้งภาคกลางและภาคอีสานก็หยุดไปเกือบครึ่ง บางจังหวัดปิดไปมากกว่าครึ่ง

“โรงสีทั่วประเทศที่ปิดกิจการไปครึ่งหนึ่ง เท่ากับว่ากำลังผลิตข้าวสารของโรงสีที่ตกปีละ 120-130 ล้านตัน ก็คงจะมีกำลังผลิตลดไปครึ่งหนึ่ง เหลือประมาณ 60 กว่าล้านเท่านั้น ผลที่จะตามมาคือการดูดซับข้าวเปลือกจากชาวนามาเข้าโรงสีจะลดลง เมื่อข้าวเปลือกมีมากเกินกว่าที่โรงสีจะรับซื้อ ราคาก็คงจะลดลงตามกลไกตลาดŽ” รองนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยสรุป

เป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลต้องพิจารณาว่าจะเข้าไปช่วยเหลือโรงสีได้มากน้อยแค่ไหน เพราะผลไม่ใช่เกิดแค่โรงสี แต่จะกระทบไปถึงชาวนาด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image