‘สมคิด’ ตรวจงานดีอี-เน็ตประชารัฐ สั่งเร่งมือ ปชช.ได้ใช้เน็ตดี-ถูก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (24 กันยายน) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ไปตรวจเยี่ยมกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานเน็ตประชารัฐ โดยนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกับนายสมคิดว่า โครงการเน็ตประชารัฐ ปัจจุบันกระทรวงดีอีได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ขณะที่โรงเรียน จำนวน 902 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 651 แห่ง รวม 1,553 แห่ง สำรวจจาก ร.ร./รพ.สต. ที่ยังไม่มีสายไฟเบอร์ออปติก จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2561

ทั้งนี้ การสร้างการรับรู้ในโครงการเน็ตประชารัฐ ได้ดำเนินการจัดอบรมแกนนำแล้วเสร็จ จำนวน 100,000 คน ตั้งเป้าว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้มีผู้ใช้งานจำนวน 1 ล้านคน ที่สามารถพัฒนาเกิดการใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงสนับสนุนหลักสูตรอบรมในโครงการไทยนิยมยั่งยืน จำนวน 8 ล้านคน ช่วยในการให้ความรู้การใช้งานเน็ตประชารัฐ ติดตามให้เกิดการใช้ประโยชน์ รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูล/การให้บริการ การแจ้งปัญหาการใช้เน็ตประชารัฐ และแจ้งข้อมูลทั่วไป

นางสาวอัจฉรินทร์กล่าวว่า การกำหนดพื้นที่โครงการเน็ตประชารัฐ โดยคณะทำงานพื้นที่เป้าหมาย พบว่า ปัจจุบันทั่วประเทศมีจำนวน 74,987 หมู่บ้าน โดยมีจำนวน 30,635 หมู่บ้าน หรือคิดเป็น 41% เป็นพื้นที่โซน A (พื้นที่ในเมือง) และโซน B (พื้นที่มีศักยภาพ) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ต้องสนับสนุน ส่วนอีก 44,352 หมู่บ้าน หรือคิดเป็น 59% เป็นพื้นที่โซน C (พื้นที่ห่างไกล) 40,432 หมู่บ้าน และเป็นพื้นที่โซน C+ (พื้นที่ห่างไกลมาก) 3,920 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ต้องสนับสนุน

“ภาพรวมการติดตั้งเน็ตประชารัฐ กระทรวงดีอีได้มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการกระทั่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2560 จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ส่วนจำนวน 19,652 หมู่บ้าน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ สามารถเปิดให้บริการแล้ว จำนวน 30,635 หมู่บ้าน” นางสาวอัจฉรินทร์กล่าว

Advertisement

ด้านนายสมคิดกล่าวว่า การดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐนั้น อยากให้กระทรวงดีอีเร่งขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยอยู่ภายใต้แนวคิดที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และอยู่ในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม ทั้งนี้ ระบบอินเตอร์เน็ตถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ อีกทั้งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่ประชาชนควรจะได้รับ

“ประชาชนต้องสามารถเชื่อมต่อการใช้งานจากโครงการเน็ตประชารัฐได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และในราคาถูก และจากโครงการดังกล่าวต้องก่อให้เกิดประโยชน์ อาทิ ด้านการศึกษา การสาธารณสุข เป็นต้น และเมื่อระบบอินเตอร์เน็ตเข้าไปถึง จะทำให้ประชาชน และประเทศเกิดการพัฒนาก้าวเข้าสู่ยุคแห่งเศรษฐกิจดิจิทัลได้ต่อไป” นายสมคิดกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image