เปิดคู่มือทำงานละเอียดยิบ ‘กฤษฎา’ ส่งไลน์ถึง ‘บิ๊กเกษตร’ สั่งลุยนโยบาย ‘ปลูกข้าวโพดหลังนา’

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ชี้แจงขั้นตอนการปฏิบัติงานตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ถึงปลัด กษ. ผู้บริหาร กษ.ทุกหน่วย รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ กษ.ส่วนภูมิภาค และส่วนกลางที่มีที่ตั้งในส่วนภูมิภาคทุกหน่วย รวมนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) และนายอำเภอทุกจังหวัด ทราบเพื่อการประสานงานว่า กษ.ได้ริเริ่มปฏิรูปการบริหารจัดการภาคการเกษตรของไทย ด้วยการวางแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศ (Agriculture Production Plan) เพื่อสนองนโยบายการตลาดนำการผลิตของรัฐบาลโดยเริ่มจากการจัดทำโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูการทำนา 2561 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป

หลักการ : โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนเพื่อการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ปี 2561
1.เกษตรกรต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับราคาและเงื่อนไขการรับซื้อผลผลิตรวมทั้งปริมาณความต้องการผลผลิตของตลาดก่อนตัดสินใจลงมือทำการเพาะปลูก
2.รัฐต้องจัดให้มีมาตรการลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพของเกษตรกรด้วย เช่น การหาตลาดหรือผู้รับซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้าด้วยราคาที่เป็นธรรม, การประกันรายได้ขั้นต่ำของเกษตรกรหรือการรับรองราคารับซื้อผลผลิตของภาคเอกชน, การทำประกันภัยพืชผล และการสนับสนุนความรู้และเงินทุนหรือปัจจัยในการผลิตแก่เกษตรกร
3.มาตรการจูงใจเกษตรกร 4 มาตรการ เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
– รัฐสนับสนุนสินเชื่อเป็นค่าปัจจัยการผลิตและการเตรียมดินผ่าน ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี ของวงเงินไร่ละ 2,000 บาท (ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย)
– รัฐประสานเอกชนให้มารับซื้อข้าวโพดอาหารสัตว์ตามคุณภาพในราคาไม่น้อยกว่าราคาขั้นต่ำที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
– รัฐสนับสนุนเบี้ยประกันภัย 65 บาทต่อไร่ เมื่อได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติจะได้รับชดเชยไร่ละ 1,500 บาท
– รัฐกำหนดนโยบายให้สินเชื่อสถาบันเกษตรกร เพื่อเสริมสภาพคล่องในการรวบรวมและรับซื้อผลผลิตข้าวโพดผ่าน ธ.ก.ส.ในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี

องค์กรขับเคลื่อนโครงการ :
1.ระดับอำเภอ/พื้นที่ : กำหนดให้มีคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการระดับอำเภอ ประกอบด้วย นายอำเภอเป็นประธาน/พัฒนาการอำเภอ/ผู้แทนหน่วยงาน กษ.ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ดำเนินการระดับอำเภอทุกหน่วย/เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ประจำพื้นที่/ประธาน ศพก.ประจำพื้นที่/เกษตรอำเภอทำหน้าที่เลขานุการคณะทำงานอำเภอ
2.ระดับจังหวัด : กำหนดให้มีคณะกรรมการเร่งรัดการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาในระดับจังหวัด ให้ใช้องค์ประกอบของ อ.พ.ก.เป็น คกก.แต่มอบหมายให้เกษตรจังหวัดเป็นผู้นำเสนอข้อมูลรายละเอียด/รายงานความก้าวหน้า/ปัญหาอุปสรรค/ข้อเสนอแนะให้ที่ประชุม คกก.ระดับจังหวัดพิจารณาในฐานะผู้จัดการโครงการระดับจังหวัด
3.ระดับกระทรวงเกษตร : กำหนดให้มี คกก.อำนวยการโครงการ ประกอบด้วย ปลัด กษ./รอง ปล.กษ.ที่ได้รับมอบหมาย ผช.ปล.กษ./ผต.กษ./กรมส่งเสริมสหกรณ์/กรมชลประทาน/กรมพัฒนาที่ดิน/กรมปศุสัตว์/สศก./ส.ป.ก. และกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเลขาฯ

ขั้นตอนการดำเนินงาน :
1.ขอให้คณะทำงานระดับอำเภอออกประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและเชิญชวนเกษตรกร/ชาวนาในพื้นที่ให้ปรับเปลี่ยนจากการทำนาปรังมาปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ตามความเหมาะสมของคุณภาพดิน (Zoning by Agri-Map) ทั้งในเขต/นอกเขตชลประทาน โดยให้เกษตรอำเภอนำเรื่องการเชิญชวนปลูกพืชอื่นๆ แทนการทำนาปรัง เข้าประชุมชี้แจงที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ภายในเดือนตุลาคม 2561

2.มอบหมายให้ชี้แจงเกษตรกรในพื้นที่ทราบด้วยว่าเกษตรกร/ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจะได้สิทธิในการกู้เงินจาก ธ.ก.ส.มาเป็นเงินทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในอัตราร้อยละ 0.01 มีสิทธิกู้ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ และรัฐบาลทำประกันภัยพืชผลเพื่อลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติเพิ่มเติมจากเงินชดเชย สาธารณภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังอีกไร่ 1,500 บาท โดยรัฐบาลออกค่าเบี้ยประกันให้ไร่ละ 65 บาท
3.มอบหมายให้คณะทำงานอำเภอประสานเกษตรจังหวัดให้จัดเจ้าหน้าที่และตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการส่งคณะวิทยากรจัดการอบรมให้ความรู้ในการปลูกข้าวโพด การลดต้นทุนและการรักษาแปลงให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ

Advertisement

4.มอบหมายสหกรณ์จังหวัดประสานคณะทำงานอำเภอ เพื่อเชิญชวนและรวมกลุ่มสหกรณ์การเกษตรที่อยู่ในพื้นที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ โดยให้สหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชนทำหน้าที่รวบรวมเกษตรกรรายย่อยที่เป็นสมาชิกเข้าร่วมโครงการในลักษณะเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งสหกรณ์การเกษตรจะได้รับสิทธิเงินกู้จาก ธ.ก.ส.ในอัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 0.01 ในนามกลุ่มจาก ธ.ก.ส.ด้วย รวมถึงการส่งเสริมเสริมให้สหกรณ์ทำหน้าที่การบริหารจัดการผลผลิต โดยการจัดหาเมล็ดพันธุ์ให้แก่สมาชิก การบริหารจัดการเครื่องมือให้ประสานเอกชนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูก การดูแลแปลงและการจัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิต ตลอดจนการรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ โดยจะได้รับสิทธิกู้เงินจาก ธ.ก.ส.เพื่อการรวบรวมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1

5.คณะทำงานระดับจังหวัด อำนวยการในการประสานเอกชนในการรับซื้อผลผลิตโดยเฉพาะเอกชนรายย่อยในพื้นที่ การกำหนดจุดรับซื้อในระดับพื้นที่ การกำหนดราคาที่เป็นธรรมให้แก่เกษตรกร การบริหารการขับเคลื่อนอื่นๆ ในโครงการและการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ

6.คกก.อำนวยการ กษ. (ระดับกระทรวง) ประสานงาน พณ.และภาคเอกชนเพื่อเข้าไปทำสัญญารับซื้อข้าวโพดล่วงหน้ากับเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรอย่างเป็นธรรม ตามกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาเกษตรพันธสัญญาอย่างเคร่งครัดด้วย ทั้งนี้ ขอให้ระบุข้อตกลงในรายละเอียดการทำสัญญารับซื้อให้ชัดเจนในเรื่องต่างๆ ดังนี้
1) ราคารับซื้อ 2) จุดรับซื้อ 3) จำนวนและคุณภาพข้าวโพดที่จะรับซื้อรวมทั้งเงื่อนไขต่างๆ 4) ฯลฯ โดยให้แบ่งพื้นที่ออกเป็นภาค/กลุ่มจังหวัด ให้เอกชนแต่ละรายเข้าไปทำสัญญารับซื้อ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า กษ.ไม่ได้นำเอกชนรายใดรายหนึ่งมาผูกขาดหรือเอาเปรียบเกษตรกรแต่อย่างใด และประการสำคัญหากภายในเดือนตุลาคม 2561 พื้นที่ใดยังไม่มีภาคเอกชนเข้าไปทำสัญญารับซื้อข้าวโพดตามหลักการที่ได้กำหนดไว้แล้ว ให้ยกเลิกโครงการในพื้นที่นั้นๆ เพราะกระทรวงเกษตรไม่มีนโยบายให้เกษตรกรทำการเกษตรหรือประกอบอาชีพแบบสุ่มเสี่ยงอีกต่อไป

Advertisement

ทั้งนี้ ให้ ปล.กษ.มอบหมาย ผต.กษ.และ ผต.กรม ที่เกี่ยวข้องลงไปทำหน้าที่กำกับและติดตามการปฏิบัติงานตามโครงการของหน่วยงานในพื้นที่ให้ใกล้ชิดรวมทั้งให้ตั้งกองอำนวยการ ฉก.ขึ้นที่สำนักงานปลัด กษ.เพื่อติดตามเร่งรัดโครงการด้วย

7.ขอให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดในฐานะเลขานุการ อ.พ.ก.จังหวัด ประสานกับเกษตรจังหวัดเพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาของแต่ละจังหวัดไว้ด้วย แผนดังกล่าวให้ประกอบด้วยสาระสำคัญตั้งแต่การประชุมชี้แจงโครงการ/การทำงานแต่ละขั้นตอน/การประชาสัมพันธ์ ฯลฯ จนกระทั่งถึงการจำหน่ายผลผลิต โดยให้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน
8.มอบหมายเกษตรจังหวัดพร้อมทั้งเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเข้าพบ ผวจ.เพื่อชี้แจงความเป็นมาและรายละเอียดโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ปี 2561 พร้อมทั้งให้นำรายละเอียดโครงการชี้แจงในที่ประชุมกรมการจังหวัด หรือที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดในเดือนตุลาคม 2561 รวมทั้งในระดับอำเภอมอบให้เกษตรอำเภอดำเนินการเช่นเดียวกับระดับจังหวัดด้วย รวมทั้งชี้แจงในการประชุมกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านประจำเดือนตุลาคม 2561 ให้จงได้ด้วย
9.การปฏิรูปการบริหารจัดการภาคเกษตรของไทยในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดีขึ้นอย่างมั่นคง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่งคั่งและยั่งยืนตลอดไป โดยไม่ทิ้งผู้ใดไว้ข้างหลัง

หมายเหตุ : ขั้นตอนการปฏิบัติงานฉบับนี้ ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถปรับแก้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา/พื้นที่และปัจจัยแวดล้อมได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักการของโครงการอย่างเคร่งครัดเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image