‘เจน นำชัยศิริ’ ประธานส.อ.ท.ป้ายแดง ส่องศก.-ตัวช่วยปลุกชีพ

‘เจน นำชัยศิริ’ ประธานส.อ.ท.ป้ายแดง ส่องศก.-ตัวช่วยปลุกชีพ

โดย ปิยะวรรณ ผลเจริญ

 

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถือว่าเป็นหน่วยงานหลักเอกชนของประเทศไทย มีบทบาทอย่างยิ่งในการร่วมพัฒนาและแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ล่าสุดมีการจัดประชุมคณะกรรมการสภาฯเพื่อเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ วาระปี 2559-2561

Advertisement

ผลปรากฏว่า นายเจน นำชัยศิริ ได้รับเลือกให้รับตำแหน่งแทนนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ที่ครบวาระลง

ประธาน ส.อ.ท.ป้ายแดงคนที่ 16 นี้ ทำงานให้กับ ส.อ.ท.มานาน ถูกจัดวางให้ขึ้นตำแหน่งประธานต่อจากนายสุพันธุ์ ผลการเลือกตั้งแบบไม่พลิกโผ “มติชน” มีโอกาสสัมภาษณ์ถึงการทำงานในวาระการดำรงตำแหน่ง ตลอด 2 ปีนับจากนี้

เป้าหมายการทำงานหลังจากนี้

Advertisement

การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมมาจากหลายส่วน ผลิตสินค้ามีต้นทุนแข่งขันได้ เป็นที่ต้องการของตลาด มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสินค้าตลาด ไม่อยู่นิ่ง ตลาดเปลี่ยนเร็ว ต้องปรับตัวตลอดเวลาให้ดีขึ้น ส.อ.ท.ต้องส่งข้อมูล สื่อสารไปยังผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก ต้องหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีไปช่วยคนที่ต้องการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ผ่านมานายสุพันธุ์ริเริ่มช่วยเหลือเอสเอ็มอี อาทิ สินเชื่อ องค์ความรู้ เราต้องทำต่อ ทำให้เอสเอ็มอีมีลู่ทางลงทุน มีวิธีการลดความเสี่ยง เพราะมีภูมิคุ้มกันเรื่องความเสี่ยงไม่มาก มีน้อยกว่าบริษัทใหญ่ ที่ผ่านมามีปัญหาอยู่บ้าง คือสินเชื่อเอสเอ็มอีแสนล้านของรัฐบาลพบว่าไม่ตรงจุด หลักเกณฑ์ วงเงิน ไม่เอื้อต่อการกระจายสินเชื่อที่เพียงพอ ครั้งแรกตั้งวงเงินต่อรายไม่เกิน 50 ล้านบาทถือว่าสูงมาก จนตอนหลังลดเหลือรายละไม่เกิน 10 ล้าน พบว่าดีขึ้น และวงเงินใหม่เข้ามาคือ 5 หมื่นล้านบาท เพราะได้รายละ 10 ล้านบาท อย่างน้อยก็ 5,000 ราย กระจายได้มากขึ้น

แนวทางการดูแลเอสเอ็มอีจะเพิ่มสมาชิก เพื่อสร้างเครือข่ายเข้มแข็งภายใต้ ส.อ.ท.

ตอนนี้มีสมาชิกเอสเอ็มอีคิดเป็น 90% ประมาณ 8,000 รายแล้ว จากเอสเอ็มอีทั่วประเทศมีหลักแสน ถามว่าครอบคลุมหรือไม่ ต้องบอกว่าเอสเอ็มอีใน ส.อ.ท.ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามา ส่วนอื่นยังไม่เข้ามาอาจมองว่ามีเรื่องอื่นที่ต้องดูแล จึงอาจไม่เข้าใจหน้าที่การเป็นสมาชิก ส.อ.ท. ไม่เห็นประโยชน์การเป็นสมาชิก แต่จริงๆ แล้วถ้าเป็นสมาชิกจะสะท้อนข้อความหรือความเห็นมาจากเอสเอ็มอีตัวจริง เป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตามการมีสมาชิกมากๆ ก็จะมีภาระหนักขึ้น ต้องมีจุดยืนความเห็นร่วม ตรงนี้บางครั้งเอสเอ็มอีเห็นแย้งกันอยู่ เพราะมีหลายกลุ่ม การสร้างเครือข่ายมองว่าไม่น่าจะจำเป็น เพราะปัจจุบันให้ความสำคัญอยู่แล้ว ส.อ.ท.ถูกมองว่าไม่รับฟังเสียงเอสเอ็มอี ยืนยันได้เลยว่าไม่จริง เพราะเรารับฟังทุกเสียง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่หรือบริษัทเล็ก

ความคืบหน้า พ.ร.บ.สภาฯ อยู่ระหว่างปรับแก้

อยากให้เสร็จในสมัยผมเลย จะเดินหน้าและขอรับฟังความเห็นจากสมาชิกให้เห็นตรงกัน ตกผลึกว่าโครงสร้างสภาฯ กฎระเบียบต่างๆ จะเดินหน้าไปทางไหน ที่ผ่านมาพยายามทำ แต่ความเห็นไม่ค่อยตรงกัน อาทิ ตัวแทนกลุ่ม ตัวแทนจังหวัด กฎระเบียบวิธีการเลือกตั้ง เรื่องจำนวนกรรมการสภาที่ตอนนี้บวมขึ้นไปกว่า 350 คน โมเดลที่ดูไว้ เช่น คณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือเคดันเรน ดูโครงสร้าง แต่ต้องอยู่ที่การตีความ พ.ร.บ.ด้วย เพราะอย่างตัวแทนจังหวัดไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนนัก เพียงระบุว่าต้องมีตัวแทนเข้ามาอยู่ในกรรมการ ต้องดูว่าจำนวนกรรมการเยอะไปหรือไม่ แต่อีกด้าน สมาชิกเพิ่มขึ้นด้วย เพราะมีการรวมกลุ่ม ตั้งกลุ่มเพิ่มขึ้น อย่างสภาจังหวัดตอนนี้ขาด 2 จังหวัด คือบึงกาฬกับแม่ฮ่องสอน บึงกาฬคืบหน้ามากเพราะผู้ประกอบการหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดไว้แล้ว ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมปัจจุบันมี 45 กลุ่ม และตอนนี้น่าจะครบแล้ว ยกเว้นอุตสาหกรรมอนาคต อุตสาหกรรมต้องมีความหลากหลาย เพราะความต้องการตลาดมีหลากหลาย ความต้องการของผู้บริโภคมีเข้ามาเรื่อยๆ

นโยบายต่อกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาจังหวัด

พยายามทำให้มีการร่วมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ตอนนี้มี 11 คลัสเตอร์ บางคลัสเตอร์แอคทีฟ แต่บางคลัสเตอร์ไม่แอคทีฟ ต้องผลักดันให้ทุกคลัสเตอร์มีกิจกรรม มีทิศทางชัดเจน คลัสเตอร์ของ ส.อ.ท.ส่วนหนึ่งตรงกับคลัสเตอร์ของรัฐ ทำให้เกิดการทำงานร่วมกับรัฐที่มีนโยบายคลัสเตอร์ออกมา อาทิ คลัสเตอร์ยานยนต์ ส่วนคลัสเตอร์ไม่ตรง จะใช้แนวทางตัวเองในการผลักดัน

การส่งออกยังเป็นกำลังหลักในการสร้างรายได้ประเทศ

คิดว่ายังเป็นอยู่ โดยส่งออกจะมีทั้งส่งออกสินค้าและส่งออกบริการ ส่งออกบริการมีสัดส่วนมากขึ้น ส่วนส่งออกสินค้ามองว่าควรเน้นประเทศเพื่อนบ้าน อาจส่งออกชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบเพื่อไปผลิตประเทศเพื่อนบ้าน ประเด็นการออกไปลงทุนตั้งโรงงานนี้ ส.อ.ท.จะต้องคุยกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เพื่อขอให้ปรับปรุง พ.ร.บ.บีโอไอเพื่อส่งเสริมเรื่องนี้ หรือถ้าไม่แก้กฎหมาย ก็ตั้งหน่วยงานขึ้นมาทำเฉพาะ มี 2 ทางเลือก ส่วนประเด็นสิทธิประโยชน์ต่างๆ กฎเกณฑ์เรื่องภาษี ต้องคุยกับกระทรวงการคลัง ควรเป็นเครื่องมือของรัฐในการสร้างพฤติกรรมที่ไทยต้องการ ต้องถามรัฐว่าการออกไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน เป็นพฤติกรรมที่ไทยต้องการหรือไม่ ถ้าต้องการ ต้องสร้างความเข้มแข็งแล้วทำไมไม่ทำให้กฎระเบียบเอื้อ จะดูแค่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีอย่างเดียวไม่ได้ เพราะไม่ได้สะท้อนการเติบโตด้านเศรษฐกิจของไทยทั้งหมด เพราะความเติบโตส่วนหนึ่งไปอยู่นอกประเทศ ดังนั้นถ้ามองบริบท มองเห็นแนวทางของประเทศชัดเจน เรื่องสิทธิประโยชน์ การสร้างแรงจูงใจให้ไทยไปลงทุนต่างประเทศ ต้องชัดเจน

แต่ปัญหาที่ต้องแก้ไขคือ รัฐเก็บภาษีนักลงทุนจากรายได้กลับมาไทย เดิมมีคนเข้าใจไม่ถูกต้อง คือเข้าใจว่าการออกไปลงทุนต่างประเทศต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน แต่ไม่ใช่ เพราะประเด็นคือเมื่อไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน เขาให้บีโอไอเราอยู่แล้ว ไม่เก็บภาษี 5 ปี 10 ปี เท่ากับเงินได้ของเราถูกยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อนำกลับมาไทยต้องเสียภาษี ตรงนี้รัฐบาลควรยกเลิก หรือไม่ก็ลดครึ่งหนึ่ง ทำให้แตกต่าง มีข้อได้ประโยชน์ หรือเงินนำไปลงทุนต่างประเทศมีความเสี่ยงก็เอามาเป็นค่าใช้จ่ายภาษีของบริษัทต้องเสียในประเทศ ลดภาระภาษีลง เป็นต้น ดังนั้นคงต้องคุยเรื่องนี้เชิงลึกมากขึ้น

โลคอลอินเวสเมนต์ (การลงทุนในท้องถิ่น) จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดจนการบริโภคภายใน

ส่วนนี้แรงผลักดันของภาครัฐมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ถามว่าตอนนี้ให้เอกชนลงทุนเยอะๆ ก็ต้องดูตลาดด้วย (ยิ้ม) เพราะถ้าพูดถึงธุรกิจ หากมองเห็นกำไร นักลงทุนจะลงทุนเอง แต่ยังไม่ตัดสินใจ อาจมีปัจจัยความเสี่ยงอยู่ เรื่องตลาดมีความสำคัญ เพราะถ้าขยายกำลังผลิตแต่สินค้าขายไม่ได้ เป็นเรื่องเลยนะ อยู่ที่ว่าเรามองเห็นสินค้าของเราขายได้หรือไม่เปล่า มีกำไรหรือเปล่า ทิศทางการผลิตสินค้าต้องดูตลาด ต้องผลิตสินค้าตรงความต้องการตลาด สอดคล้องกับอุตสาหกรม 4.0 จะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมไทย ไม่เดินตามแนวทางที่นำไปสู่ความถดถอย

ตลาดใหม่ที่เอกชนควรต้องเจาะ

ไปทุกที่ แต่ตลาดใหม่จะเน้นคือแอฟริกา เป็นประเทศที่รวย แม้ประชากรจน เพราะมีทรัพยากรเยอะมาก รวยมาก ทิ้งไม่ได้ ถ้ารัฐบาลเอาทรัพยากรขึ้นมาใช้เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะดีมาก เพราะที่ผ่านมาประโยชน์กระจุกตัว เราต้องยึดหัวหาด ตอนนี้จีนเข้าไปบุกตลาดแอฟริกาเยอะแล้ว

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้

ถ้าดูตามเศรษฐกิจโลก เรายังไม่ค่อยดี เพราะจีนเองขยายตัวไม่ดีนัก และจีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของเรา และเป็นที่ประเทศอาเซียนมุ่งเข้าไปขายสินค้า อาทิ เวียดนาม กัมพูชา และอนาคตอาจมีพม่า ไทยเองถ้าเราปรับด้วยการเจาะตลาดชัดเจนและกำลังซื้อ ปัจจุบันจีนมีความต้องการสินค้าคุณภาพ และมีกลุ่มกำลังซื้อสูง แม้เศรษฐกิจจะโตลดลงแต่ก็อยู่ระดับสูง คือ 6% อย่างนักท่องเที่ยวมาไทยพร้อมจับจ่ายกับสินค้ามีคุณภาพ ดังนั้นหากเราเจาะตลาดบนของจีน แค่ 10% ก็มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคน ต้องดูตรงนี้ ส่วนประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจเพิ่งเข้ามา ไม่อยากแสดงความเห็น แต่เบื้องต้นก็มองระดับเดียวกับคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. คือส่งออก 0-2% จีดีพี 3% กลุ่มอุตสาหกรรมเข้มแข็งและมีการส่งออกเติบโตคือ ยานยนต์

ยอดขอส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรกเติบโต แต่เอกชนกลับขอสิทธิประโยชน์เรื่องการปรับปรุงเครื่องจักรน้อย

ขอลงทุนมากขึ้นเป็นเรื่องดี แต่ต้องช่วยเอกชนในการแก้ปัญหาอุปสรรค อาทิ ปัญหาเรื่องข้อมูล สถานที่ โครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ ส่วนการขอลงทุนปรับปรุงเครื่องจักร สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรมทำอยู่ คอยกระตุ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการเองประหยัดพลังงาน โดยเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน แต่ปัจจุบันโดนเพ่งเล็งเรื่องการใช้เงิน โครงการเกิดขึ้นก่อนทหารเข้ามาบริหารประเทศ โดนวิจารณ์เรื่องการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ เข้าไปทำในพื้นที่ทหาร สาเหตุใช้พื้นที่ทหาร เพราะพื้นที่ปกติทำไม่ได้ ถูกต้าน หาที่ดินจำนวนมากไม่ได้ ไปต่างจังหวัดก็โดนวิจารณ์ว่าการติดโซลาร์ ทำให้อากาศร้อน ฝนไม่ตกเพราะต้นไม้น้อยลง ขณะนี้เรื่องพลังงานประเทศพบว่า หากโรงไฟฟ้าถ่านหินสร้างไม่ได้ การแข่งขันของประเทศจะลดลงแน่นอน เพราะก๊าซธรรมชาติกำลังจะหมดในช่วง 5 ปี 10 ข้างหน้า ตอนนี้ไฟฟ้า 60% ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ และ 2 ใน 3 ของ 60% มาจากอ่าวไทย อีก 1ใน 3 มาจากพม่า เท่ากับว่า 40% ของการใช้ไฟฟ้าในประเทศมาจากอ่าวไทย ต้องหาเชื้อเพลิงอื่นทดแทน

ปัญหาแล้งเกิดขึ้นทุกปี

ต้องวางแผนรับมือ ปัจจุบันมีโมเดลรับมือแล้งในภาคตะวันออกที่ดีมาก มีอ่างที่เชื่อมต่อกัน สามารถผ่องถ่ายน้ำให้แก่กัน โมเดลนี้ความสำเร็จคือการให้ข้อมูล คิดร่วมกันว่าอะไรคือจุดแข็งจุดอ่อนของพื้นที่ ปัจจุบันโมเดลนี้สามารถกระจายไปภาคอื่นทั่วประเทศ ทั้งอีสาน ใต้ กลาง ทั้งหมดหากหาคำตอบยั่งยืนจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้น้ำ โดยมีภาคตะวันออกเป็นโมเดลหลัก ส่วนงบประมาณแทบไม่ใช้เลย แต่จากนี้หากมีโครงการออกมาต้องใช้เงินแน่ แต่จะทำให้โครงการรัฐชัดเจนขึ้น รัฐเองเคยมีโครงการน้ำหลายแสนล้านบาท แต่ถูกทักท้วง ดังนั้นหากเป็นวอร์รูมจะมีทุกฝ่ายร่วมกันคิด ทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน

บทบาทตัวเองในรัฐบาลปัจจุบัน

ก็ไม่มีอะไร ผมวางบทบาทแบบนี้ตลอด ต้องทำงานได้ทุกฝ่าย สิ่งที่พูดต้องอิงความจริง ให้ความเห็นเชิงสร้างสรรค์ ไม่กล่าวโทษใคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image