เชฟฯชี้รถลากจูงเทรลเลอร์ : วิ่งขนสัมภาระได้ไม่ผิดกม.

ค่ายเชฟโรเลตได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับรถลากจูงเทรลเลอร์ ระบุว่า การมีรถพ่วงอีกคันจะทำให้สามารถแบ่งเบาการบรรทุกสัมภาระบนรถยนต์ได้ การลากจูงมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการถ่ายเทน้ำหนักมากกว่าการบรรทุกสัมภาระจำนวนมากจนสูงและหนักเกินไปบนตัวรถ

อย่างที่เราพบเห็นเป็นประจำในประเทศไทย การบรรทุกสัมภาระอย่างไม่เหมาะสมไม่เพียงแต่อันตรายเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อการควบคุมรถยนต์ สิ้นเปลืองอัตราน้ำมันเนื่องจากมีการต้านทานลมที่เพิ่มขึ้น และน้ำหนักที่มากเกินไปของสัมภาระจะกดทับช่วงล่างของรถยนต์ การลากจูงจึงเป็นทางออกที่ดีในการแก้ปัญหาเหล่านี้

การลากจูงในประเทศไทยที่เราพบเห็นบ่อยครั้ง มักจะเป็นการลากจูงอุปกรณ์การกีฬาอย่างเจ็ตสกีและรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการทางธุรกิจขนาดเล็กเริ่มหันมาใช้การลากจูงเพื่อขยายธุรกิจของตนมากขึ้น

เจ้าของธุรกิจรายหนึ่งที่นำการพ่วงลากจูงมาเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบธุรกิจคือ คลาสคาเฟ่ (Class Cafe) เป็นธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มแบบสตาร์ตอัพ นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการและบริหาร โดยคลาสคาเฟ่จะนำเอาระบบการจดจำใบหน้าลูกค้ามาใช้ที่ร้านเร็วๆ นี้ คลาสคาเฟ่ได้จับมือกับเชฟโรเลต เข้าร่วมโปรแกรมเชฟวี่ พลัส โปรแกรมมอบสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าเชฟโรเลต คลาสคาเฟ่มีทั้งหมด 16 สาขาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และ 1 สาขาที่กรุงเทพฯ คลาสคาเฟ่มีเทรลเลอร์แบบ ฟู้ดทรัค (food truck) พ่วงลากจูงโดยรถกระบะเชฟโรเลตโคโลราโด รุ่นแอลทีแซด รถฟู้ดทรัคดังกล่าวให้บริการนอกสถานที่ตามงานอีเวนต์ต่างๆ อย่างการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก โมโตจีพี ที่จัดขึ้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ หรือการวิ่งมาราธอนการกุศล ภายในงานดังกล่าว คลาสคาเฟ่แจกกาแฟให้แก่นักวิ่งมาราธอนมากถึง 10,000 แก้ว

Advertisement

นายมารุต ชุ่มขุนทด ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท คลาสคอฟฟี่ จำกัด กล่าวว่า การทำโมบายล์คาเฟ่พ่วงลากจูงโดยรถกระบะโคโลราโด เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจแบบหนึ่ง ช่วยให้แบรนด์เติบโตขึ้น เพราะสามารถเดินทางไปสำรวจและทดลองทำธุรกิจร้านกาแฟโดยขายผ่านโมบายคาเฟ่ในสถานที่ต่างๆ เพื่อประเมินโอกาสและศักยภาพในตลาดนั้นในการเปิดคลาสคาเฟ่สาขาใหม่ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะในบริเวณที่ห่างไกลหรือบริเวณเนินเขาของภาคอีสาน

นายแฮรี่ สแปรงเกอร์ เจ้าของอัพบีท (UPBEAT) บริษัทแรกที่นำเทรลเลอร์สำหรับใช้กับรถยนต์โดยสารเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และเป็นบริษัทผู้ผลิตเทรลเลอร์อันดับหนึ่งในประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ผลิตชุดลาก MasterHook Tow Hitch และชุดลากหัวบอล (Ball Mount) ให้ความเห็นว่า การลากจูงถือเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย เพราะคนไทยยังไม่คุ้นเคยหรือมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎหมายการลากจูง

“ไม่ว่าคุณอยากจะลากจูงเรือเพื่อใช้ในการท่องเที่ยวพักผ่อน หรือลากจูงสินค้าของคุณไปยังตลาด การใช้เทรลเลอร์จะทำให้การลากจูงของคุณง่ายขึ้น แต่น่าเสียดายที่หลายคนในประเทศไทยไม่นิยมใช้การลากจูง เพียงเพราะพวกเขาไม่รู้ว่าสามารถทำได้ ผมคิดว่าเราควรเปลี่ยนความคิดนั้น” นายแฮรี่กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ จากพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกสำหรับประเทศไทย ผู้ขับขี่รถยนต์สามารถลากจูงได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตหากสัมภาระที่ลากจูงมีน้ำหนักน้อยกว่า 1,600 กิโลกรัม ไม่รวมน้ำหนักของสัมภาระที่บรรทุกบนรถ แต่ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องมีใบอนุญาตหากลากจูงเทรลเลอร์ที่มีน้ำหนักมากกว่า 1,600 กิโลกรัม เจ้าของรถควรนำเอกสารที่มีข้อมูลของเทรลเลอร์ติดตัวไว้ตลอดเวลา เผื่อถูกเรียกเพื่อตรวจสอบ และเมื่อขึ้นทางด่วน เจ้าของรถอาจจะต้องจ่ายเงินมากกว่าปกติเล็กน้อย นอกจากนี้ เทรลเลอร์ต้องมีทะเบียนรถแยกต่างหาก

เคล็ดลับสำหรับการลากจูง
การลากจูงเทรลเลอร์เพื่อการประกอบธุรกิจหรือการท่องเที่ยวพักผ่อนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความชำนาญ ใส่ใจในรายละเอียด มีทักษะการขับรถที่ดี และรู้จักการคำนวณน้ำหนักเพื่อการบรรทุกที่เหมาะสม เชฟโรเลตจึงขอแนะนำเคล็ดลับในการลากจูงที่ถูกต้องเหมาะสม ดังนี้

เลือกรถให้ถูกต้องเหมาะสม
เมื่อได้รับการติดตั้งด้วยตะขอลากจูงและชุดลากหัวบอลที่เหมาะสม รถกระบะโคโลราโดสามารถลากจูงเทรลเลอร์ที่มีระบบเบรกได้ 3,500 กิโลกรัม และรถอเนกประสงค์เทรลเบลเซอร์สามารถลากจูงได้ 3,000 กิโลกรัม รถกระบะโคโลราโด ไฮ คันทรี, โคโลราโด ไฮ คันทรี สตอร์ม, โคโลราโด เซนเทนเนียล อิดิชั่น, เทรลเบลเซอร์ แอลที, เทรลเบลเซอร์ แอลทีแซด และเทรลเบลเซอร์ ซี71 สามารถลากจูงได้ เพราะเทคโนโลยีที่ช่วยในการลากจูง ได้แก่

– ระบบลดอาการส่ายขณะลากจูงเทรลเลอร์ (Trailer Sway Control) จะทำงานเมื่อเทรลเลอร์มีอาการส่าย และช่วยเบรกรถและเทรลเลอร์ รวมถึงลดกำลังเครื่องยนต์เพื่อช่วยในการทรงตัว

– ระบบป้องกันการไหลของรถเมื่อขึ้นทางลาดชัน (Hill Start Assist) จะป้องกันการไหลถอยหลังของรถ โดยจะหยุดรถไว้ประมาณหนึ่งวินาทีเมื่อต้องออกตัวบนทางลาดที่มีความชันมากกว่า 5 องศา

– ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (Hill Descent Control) จะช่วยควบคุมความเร็วของรถในขณะลงทางลาดชันไม่ว่าจะอยู่ที่เกียร์เดินหน้าหรือถอยหลัง

– ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (Grade Braking) จะใช้ชุดเกียร์ในการควบคุมแรงเสียดทานภายในเครื่องยนต์ (Engine Braking) ซึ่งจะช่วยลดแรงเสียดทานจากเบรกของล้อรถและเทรลเลอร์ในขณะที่ขับลงทางลาด

ติดตั้งตะขอลากจูงให้ถูกต้อง
การเลือกตะขอลากจูงและสายไฟเชื่อมต่อที่เหมาะสม มีผลต่อการควบคุมรถยนต์ การเข้าโค้ง และการเบรก รวมถึงทำให้คุณสามารถส่งสัญญาณเตือนผู้ขับขี่คนอื่น เมื่อต้องเปลี่ยนช่องจราจรหรือเลี้ยวขณะลากจูงได้ ก่อนจะเลือกตะขอลากจูงหรือเทรลเลอร์ ควรจะเรียนรู้น้ำหนักที่รถสามารถบรรทุกหรือลากจูงได้ก่อน และปรึกษาผู้มีความเชี่ยวชาญในการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อการใช้งานที่เหมาะสม

คำนวณน้ำหนักให้ดี
อัตราการรับน้ำหนักสุทธิของรถ (Gross combined weight rating – GCWR) คือน้ำหนักรวมสูงสุดที่ได้รับอนุญาตสำหรับรถและเทรลเลอร์ รวมถึงน้ำมัน ผู้โดยสาร สัมภาระ อุปกรณ์ และชุดแต่ง น้ำหนักทั้งหมดไม่ควรเกินอัตราการรับน้ำหนักสุทธิของรถ อัตราการรับน้ำหนักสุทธิของรถสามารถดูได้จากคู่มือสำหรับรถยนต์

สำหรับการตรวจสอบว่าน้ำหนักของรถยนต์และเทรลเลอร์อยู่ในอัตราการรับน้ำหนักสุทธิของรถหรือไม่ ให้ปฏิบัติดังนี้

เริ่มต้นจากน้ำหนักรถเปล่า (Curb weight) บวกน้ำหนักของเทรลเลอร์ซึ่งบรรทุกสัมภาระและพร้อมสำหรับการเดินทาง บวกน้ำหนักของผู้โดยสารทุกคนบนรถ บวกน้ำหนักของสัมภาระทั้งหมด บวกน้ำหนักของชุดลากจูง เช่น เหล็กต่อพ่วงรถ (Drawbar), ชุดลากหัวบอล (Ball mount), บาร์คู่สำหรับรับน้ำหนัก (Load equalizer bars) หรือบาร์ค้ำลากจูง (Sway bar)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image