เจาะละเอียด! เผยนาทีกล่อมผู้โดยสารเฟิร์สต์คลาส ก่อนยอมถอยให้นักบิน

กรณีที่มีผู้โดยสารร้องเรียนความล่าช้าของเที่ยวบินที่ ทีจี 971 เส้นทาง ซูริก-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 โดยจดหมายดังกล่าวระบุว่า เที่ยวบิน TG971 (ZRH-BKK) ซึ่งมีกำหนดการบินออกจากนครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เวลา 13.30 น. แต่ล่าช้ากว่ากำหนด โดยเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินได้เชิญผู้โดยสารที่จองตั๋วมาให้เปลี่ยนที่นั่ง เนื่องจากพบว่ามีคณะนักบินที่ต้องการเดินทางกลับ 4 คน และต้องการที่นั่งดังกล่าว และหากไม่เปลี่ยนก็จะไม่ยอมบิน จนทำให้ผู้โดยสารที่จองตั๋วมาต้องยอมเปลี่ยนที่นั่งเพื่อให้เที่ยวบินเดินทางต่อไปได้นั้น

ความคืบหน้าล่าสุดวันที่ 19 ตุลาคม  แหล่งข่าวคนใกล้ชิดนายศักดิ์ดา พันธ์กล้า อดีตรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นายศักดิ์ดาและภรรยามีกำหนดเดินทางไปเที่ยวพักผ่อนที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยจองกรุ๊ปทัวร์และพบว่าที่นั่งโดยสารเป็นแบบอีโคโนมี่ หรือแบบธรรมดา แต่นายศักดิ์ดาเห็นว่านี่เป็นการพาภรรยาไปเที่ยวต่างประเทศไกลด้วยกันสองคนจึงขอซื้อตั๋วเอง ซึ่งเครื่องบินโดยสารที่การบินไทยแจ้งไว้ตอนแรกเพื่อเดินทางขาไปและกลับคือ โบอิ้ง 777 มีที่นั่งดีที่สุดคือ บิซิเนส ไม่มีเฟิร์สต์คลาส เป็นที่นั่งระดับดีกว่า ซึ่งตามแผนของนายศักดิ์ดาต้องการจองเฟิร์สต์คลาส เมื่อพบว่ามีแต่บิซิเนสจึงจองตั๋วดังกล่าว แต่พบว่าขาไปมีเพียงอีโคโนมี่เจ้าตัวก็ยอมซื้อ และซื้อขากลับเป็นบิซิเนส

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลากลับพบว่าการบินไทยขอเปลี่ยนเครื่องบินเป็นโบอิ้ง 747 ซึ่งมีเฟิร์สต์คลาส ทางเจ้าหน้าที่การบินไทยจึงออกตั๋วให้มีการอัพเกรดตั๋วบิซิเนสเป็นเฟิร์สต์คลาสให้กับผู้โดยสารกว่า 10 คน ซึ่งรวมนายศักดิ์ดาด้วย มีการออกบอร์ดดิ้งพาสให้เรียบร้อย และระหว่างที่ผู้โดยสารรอขึ้นเครื่องเป็นเวลานาน พบว่าไม่มีการแจ้งสาเหตุการล่าช้า จนกระทั่งดีเลย์ไปประมาณชั่วโมงครึ่ง ทางเจ้าหน้าที่ได้เชิญนายศักดิ์ดาและภรรยาเข้าพูดคุยเพื่อขอให้กลับมานั่งบิซิเนส เพราะนักบิน 4 คนที่ร่วมเดินทางด้วยไม่ยอม ต้องการนั่งเฟิร์สต์คลาส

“เจ้าหน้าที่ยังแจ้งขออภัยนายศักดิ์ดาและภรรยา พร้อมระบุว่าได้สอบถามผู้โดยสารที่เหลือแล้วแต่ไม่มีใครยอม หากทั้งคู่ไม่ยอมก็จำเป็นต้องเลื่อนการบินออกไป และเจ้าหน้าที่ต้องไปหาเช่าโรงแรมเพื่อให้ผู้โดยสารหลายร้อยชีวิตที่รอเดินทางไปพักผ่อนที่โรงแรมก่อน และให้สำนักงานใหญ่เป็นผู้ตัดสินใจ โดยยอมรับนักบินของการบินไทยค่อนข้างมีอำนาจ เมื่อนายศักดิ์ดาเห็นว่าหากไม่ปฏิบัติตามจะทำให้ผู้โดยสารจำนวนมากเดือดร้อนจึงยอมสลับที่นั่งให้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินและบนเครื่องต่างให้ข้อมูลพฤติกรรมของนักการบินตรงกัน” แหล่งข่าวระบุ

Advertisement

แหล่งข่าวใกล้ชิดกล่าวอีกว่า เรื่องดังกล่าวนายศักดิ์ดาและภรรยาเห็นว่าไม่ควรเกิดขึ้นอีก เพราะมองว่าพฤติกรรมของนักบินเข้าข่ายทำลายองค์กร แทนที่จะเป็นผู้ให้ทั้งที่รับเงินเดือนจากบริษัท แต่ผู้โดยสารเสียเงินตัวเอง จึงมีการโทรไปที่คอลเซ็นเตอร์เพื่อร้องเรียน แต่ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้ทำหนังสือ นายศักดิ์ดาจึงทำหนังสือส่งทางอีเมล์ของการบินไทย ก่อนที่จะมีประเด็นข่าวออกมา ซึ่งการที่การบินไทยแจ้งว่าจะมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงนั้น นายศักดิ์ดารู้สึกขอบคุณ แต่ก็กังวลว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นการตั้งกรรมการขึ้นมาดับกระแสเท่านั้น สุดท้ายอาจไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิด

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image