ชิต เหล่าวัฒนา เทคโนฯหุ่นยนต์ สู่‘Transform ประเทศไทย’

หนังสือพิมพ์มติชน จะจัดสัมมนาเรื่อง Transform เศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคต ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 เวลา 08.00-12.00 น. ที่ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งผู้เข้าร่วมฟังสัมมนาจะได้เข้าใจทิศทางการดำเนินงานของรัฐบาล และทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จะปาฐกถาพิเศษถึงทิศทางเศรษฐกิจไทย 2562 พร้อมกันนี้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับฟังมุมมองต่อนโยบาย Transform ประเทศไทย : คนทำธุรกิจคาดหวังอะไร

โดยหนึ่งในผู้เสวนา “ดร.ชิต เหล่าวัฒนา” ที่คนในแวดวงการศึกษาย่อมรู้จักดีในฐานะ “บิดาแห่งวิทยาการหุ่นยนต์ไทย” ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือฟีโบ้ (FIBO) ภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ด้วยดีกรีปริญญาเอกด้านวิทยาการหุ่นยนต์ ที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน สหรัฐอเมริกา ได้เปิดโอกาสให้ “มติชน” สัมภาษณ์สะท้อนมุมมองต่อจุดเปลี่ยนของประเทศไทย

⦁ นโยบาย Transform มีความสำคัญอย่างไร
หากเปรียบเทียบโลกยุคใหม่ที่ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เหมือนการออกเรือแล้วเจอพายุดิสรัปชั่น เสมือนเจอคลื่นยักษ์สึนามิ คนออกเรือก็ไม่คิดว่าจะเจอ ถือเป็นเรื่องยากที่จะห้ามปรามไม่ให้เกิดขึ้น Transform จึงเป็นเรื่องสำคัญ และนำพาไม่เกิดวิกฤตต่ออุตสาหกรรมไทย หากไม่ปรับตัว เชื่อว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยถึง 85% หากไม่นำอินโนเวชั่นมาใช้ จะต้องประสบปัญหา ในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าราคาขายของผู้ผลิตรายอื่น ในที่สุดจะถึงขั้นไม่สามารถยืนหยัดอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ ต่อไปได้

ปัญหาของประเทศตอนนี้ และเป็นความท้าทายจากนี้ คือ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ที่จะเป็นแรงสำคัญต่อการขับเคลื่อนตามเป้าหมาย ที่น่าห่วง คือ เยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของชาติ มองข้ามการศึกษาด้านวิชาชีพ เนื่องด้วยสภาพความเป็นจริงที่ผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิชาชีพ เมื่อจบมาแล้วได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ที่ผ่านมาทำให้ค่านิยมการเรียนสายอาชีพนั้นต่ำ จึงเป็นสาเหตุทำให้ประเทศขาดแคลนกำลังคนสายอาชีพ ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในภาคอุตสาหกรรมจากนี้

Advertisement

ส่วนตัวมองว่า รู้สึกว่าการศึกษาของไทยน่าจะเดินมาผิดทาง เพราะที่ผ่านมาพยายามผลักดันโดยการเปลี่ยนเด็ก ปวส.เก่งๆ มาเป็นวิศวกร ก็ยังทำไม่ได้มาตลอด แล้วสถาบันการศึกษาที่เคยเปิดสอน ปวช. ปวส. ตอนนี้เหลือไม่กี่แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าทั้ง 3 แห่ง ก็พากันยกเลิกการเรียนการสอนในระดับ ปวช. ปวส. ไปทั้งหมด แล้วหันไปให้ความสำคัญกับการเปิดสอนปริญญาตรี อีกทั้งปัจจุบันอัตราเงินเดือนของคนจบปริญญาตรี กับ ปวส.นั้นต่างกันมาก ขณะที่ในต่างประเทศผู้ที่มีฝีมือจะได้เงินเดือนมากกว่าวิศวกรเสียอีก นี่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่บ่งชี้อนาคตการศึกษาไทยในตอนนี้

คงต้องยอมรับความจริงกันแล้วว่า หลักสูตร ปวส. รวมถึงหลักสูตรในสายวิชาชีพที่ผ่านมา ไม่สามารถผลิตบัณฑิตออกมาได้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพราะจากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีกับภาคอุตสาหกรรมมาตลอด การที่จะสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาสักตัว ไม่ใช่คิดจะสร้างก็สร้างขึ้นมาตามความต้องการ แต่ต้องถามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมด้วยว่าต้องการสร้างหุ่นยนต์มาตอบโจทย์อะไรในสายงานการผลิตหรือไม่ และถึงตอนนี้ต้องยอมรับความจริงกันแล้วว่าหลักสูตร ปวส. รวมถึงหลักสูตรในสายวิชาชีพที่ผ่านมา ไม่สามารถผลิตบัณฑิตออกมาได้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงมีปัญหาหลักสองด้าน คือ ทั้งคนมาเรียนน้อย และคุณภาพของเด็กจบไปก็ไม่ดีด้วย

⦁ แล้วคิดว่าประเทศไทยจะมีทิศทางและทางออกอย่างไร
เป็นเรื่องน่ายินดี หลายปีของรัฐบาลชุดนี้ ได้ผลักดันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ที่รัฐบาลเตรียมใช้วงเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง 5 ปี รวมมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท ถือเป็นภาคต่อจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด (โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก) ที่เริ่มขึ้นในแผนพัฒนาฉบับที่ 5 ระหว่างปี 2525-2529 ตอนนั้นมีเป้าหมายต้องการดึงดูดให้บรรษัทข้ามชาติจากทั่วทุกมุมโลก หันมาสนใจและลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย ตอนนี้อีอีซีจะเข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความสะดวกสบายด้านขนส่ง โลจิสติกส์ ครอบคลุมระบบรางและถนน อย่างการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-ชลบุรี, พัทยา-มาบตาพุด, แหลมฉบัง-นครราชสีมา, ทางราง รถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง และก่อสร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา เชื่อมโยง 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา, ทางอากาศ พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ส่วนทางน้ำ พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง พัฒนาท่าเรือมาบตาพุด และแผนการลงทุนของรัฐบาลตามกรอบการลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน ตอนนี้ พ.ร.บ.อีอีซีก็มีผลบังคับใช้แล้ว การประมูลการลงทุนก็จะเกิดต่อเนื่อง ได้มีการชักจูงการลงทุนจากต่างชาติ จนเกิดรูปธรรม ทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

Advertisement

ผลจากการผลักดันเกิดโครงการอีอีซี เมื่อเต็มรูปแบบสามารถดึงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศ ให้ขยายตัวได้ต่อปีได้ 5-6% ในช่วงระยะเวลา 7 ปีจากนั้น หากนับตั้งแต่ปี 2562 ก็จะได้แค่ถึงปี 2568 หากไม่มีขับเคลื่อนอะไรอีกก็จะชะลอตัวลง จีดีพีก็จะตกต่ำลง เหมือนเมื่อเกิดขึ้นกับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ดังนั้น ก็ควรทำอย่างไรให้การลงทุน 1.5 ล้านล้าน ได้เพิ่มมูลค่าผ่านการลงทุน สร้างอินโนเวชั่น และเตรียมแรงงานให้พร้อมเพื่อรองรับตลาดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ ตามนโยบายรัฐบาล บวกกับการปรับวิถีการนำเทคโนโลยีมาใช้กับชีวิตประจำวัน มูลค่าต่อเศรษฐกิจก็อาจเพิ่มเป็น 8-10 ล้านล้านบาท

⦁ มองอนาคต หาก Transform ประเทศไทยยังล่าช้า
ถ้าจะพูดไปประเทศไทยล่าช้าต่อ Transform มาแล้ว 5 ปี เพราะประเทศไทยจะพยายามรับเทคโนโลยีหรือแข่งขันจะทำเทคโนโลยีสู้กับประเทศขนาดใหญ่ โดยไม่ได้มองเรื่องความชำนาญความพร้อมของไทย เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเทคโนโลยี แต่เรามีความสามารถและเชี่ยวชาญในการออกแบบ งานศิลปะ เรื่องติดตั้งระบบหุ่นยนต์มีฝีมือใกล้เคียงกับต่างประเทศ ดูจากการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการด้าน SI (System Integrators) ที่ทำหน้าที่ออกแบบและติดตั้งระบบ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ระบบอัตโนมัติในขณะนี้ ตอนนี้ความต้องการสูง

ลักษณะการพัฒนาคลัสเตอร์หุ่นยนต์ มีความแตกต่างจากคลัสเตอร์อื่น เนื่องจากคลัสเตอร์หุ่นยนต์มุ่งไปที่ดีมานด์ ซึ่งเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อน จากการคำนวณตัวเลขพบว่า หากมีดีมานด์ปีละกว่าแสนล้านบาท ถ้าสามารถใช้การออกแบบและติดตั้ง จะทำให้มีเงินไหลกลับมาที่ประเทศไทยมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท หากผลักดันตรงนี้อย่างจริงจังมั่นใจอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์จะเกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างแน่นอน แต่ถ้าทำผิดทางด้วยการเริ่มจากชิ้นส่วนหุ่นยนต์ก่อนจะทำให้ไปถึงเป้าหมายช้ามาก เพราะเราไม่ได้มีความพร้อมขนาดนั้น ทั้งนี้ เราอาจจะต้องลองมามอง SI เพราะแม้ว่าจะยังไม่สามารถผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้ แต่เราสามารถเลือกออกแบบระบบอัตโนมัติโดยการใช้หุ่นยนต์ได้ และอย่างน้อยยังสามารถประหยัดเงินลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

อีกทั้งอยากให้ปรับทัศนคติ ประเทศไทยควรมองหาเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเอง ผ่านการวิเคราะห์ใน 3 ประการ คือ ดูว่าสิ่งนั้นมีความสำคัญมากหรือน้อยเพียงใด เมื่อได้รับคำตอบจะต้องนำไปวิเคราะห์ว่าสิ่งนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ และสิ่งนั้นเราสามารถควบคุมได้หรือไม่ อย่างไร อย่างประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยว และด้านทรัพยากรธรรมชาติ งานศิลปะ จึงควรที่จะผลักดันโดยการผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปให้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องมองอะไรเป็นการใหญ่ ซึ่งมันเกินตัวและไม่มีความเป็นไปได้ เหมือนถนน เราไม่จำเป็นต้องวิ่งในถนนเส้นทางใหญ่ แต่เราวิ่งในถนนเส้นเล็กแต่ก็สามารถถึงเป้าหมายได้เหมือนกัน เราไม่ต้องเป็นผู้นำสร้างสิ่งใหญ่ๆ แต่เป็นผู้ชำนาญเรื่องชิ้นส่วนหรือตัวเชื่อมเล็กๆ ที่ทุกคนต้องใช้ ขาดไม่ได้ น่าจะถูกทางกว่า

หากไม่เริ่มปรับกระบวนการทางความคิดให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่าในอีก 5 ปี ประเทศไทยจะซ้ำรอยเดิมที่ไม่สามารถที่ต่อสู้กับประเทศต่างๆ ได้ ผู้ชนะคือผู้ที่สามารถคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ขึ้นมาตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคใหม่ ที่อาจไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก แต่ใช้หุ่นยนต์เพียงไม่กี่ตัวก็สามารถทำงานได้มากกว่ามนุษย์ 5-10 เท่า


ดร.ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นลูกศิษย์เอกของปรมาจารย์ผู้ก่อตั้ง มจธ. คือ ดร.หริส สูตะบุตร และ ดร.ไพบูลย์ หังสพฤกษ์ ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่น ไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีลจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร.ชิต กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ด้วยแรงสนับสนุนจากปรมาจารย์ทั้งสองท่าน ดร.ชิตจึงก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” ได้สำเร็จ เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้นำในงานวิจัยพื้นฐานและประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูงและการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ดร.ชิต ยังรับผิดชอบโครงการ Hard Disk Cluster ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในการประสานงานนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ กับมืออาชีพจากบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์เพื่องานวิจัยและพัฒนา การอบรมบุคลากรตลอดจนการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานจนเกิดบริษัทคนไทยที่มีความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีสามารถทำธุรกิจร่วมกับบริษัทข้ามชาติได้ ในปี พ.ศ.2540 ดร.ชิตได้ร่วมกับนักวิจัยรุ่นใหม่ของประเทศจัดตั้งสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยขึ้น และรับตำแหน่งนายกสมาคมคนแรก

หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญ คือการได้ถวายงานเป็นผู้ประสานงาน โครงการน้ำ กับ King Bhumipol Professor on Water Resource Management Dr. Dennis McLaughlin จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา ล่าสุดได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการเศรษฐกิจดิจิทัลและกรรมการซุปเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เพื่อนำเสนอมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีสร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของประเทศ พร้อมๆ กันการริเริ่มจัดตั้งสมาคมผู้ออกแบบและติดตั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทย (Thai Automation and Robotics Association: TARA) และศูนย์ประสานงานความเป็นเลิศด้านวิทยาการหุ่นยนต์ (Center of Robotics Excellence: CoRE) ทำงานกับ 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย

และปัจจุบันเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนวิจัยและเป็นที่ปรึกษา (Excecutive Advisor) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image