อดีต รมช.เกษตรฯ ค้านหัวชนฝา แก้ กม.อ้อย ชี้ ทำลายสามัคคีชาวไร่

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม นายธีระชัย แสนแก้ว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ และทีมยุทธศาสตร์ภาคการเกษตรของพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อ้อยและน้ำตาล ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขของสภานิติับัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ว่า ขอคัดค้านการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ทุกวิถีทาง เนื่องจากภาครัฐกำลังทำลายความสามัคคีในกลุ่มชาวไร่อ้อยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมไปกับทำลายระบบแบ่งปันรายได้ที่ยกระดับความเป็นอยู่ของชาวไร่อ้อยมาร่วม 35 ปีเต็ม

นายธีระชัยกล่าวว่า เรื่องสำคัญในประเด็นดังกล่าวคือ ในอดีต พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลเปิดโอกาสให้ชาวไร่อ้อย โรงงานอ้อย และส่วนราชการร่วมกันส่งตัวแทนเข้ามากำหนดราคา พร้อมกับแบ่งปันรายได้จากการขายอ้อย ผ่านการประเมินราคาล่วงหน้า ซึ่งตัวแทนแต่ละฝ่ายจะจัดสรรผลประโยชน์ให้เกษตรกร และพ่อค้าสามารถดำรงอาชีพได้อย่างมีความสุข ตัวแทนของชาวไร่อ้อย คือ สถาบันชาวไร่อ้อย มีคุณสมบัติที่สำคัญ ประกอบไปด้วย ต้องมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 600 คน ต้องส่งอ้อยให้โรงงานไม่น้อยกว่า 55% ของกำลังหีบโรงงาน แต่กฎหมายที่อยู่ในขั้นตอนการแก้ไขได้ยกเลิกคุณสมบัติดังกล่าวทิ้ง ส่งผลให้ใครก็สามารถตั้งสถาบันชาวไร่อ้อยได้ ซึ่งไม่มีการรับประกันเลยว่าสถาบันที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ เป็นตัวแทนของชาวไร่อ้อย หรือเป็นตัวแทนกลุ่มไหนกันแน่ และที่น่ากังวลยิ่งกว่า หากสถาบันใหม่ซึ่งอาจไม่ใช่ตัวแทนชาวไร่อ้อยที่แท้จริงได้เข้าไปประชุมกับผู้แทนโรงงานและภาครัฐเพื่อกำหนดราคาอ้อย พวกเขาจะทำหน้าที่โดยคำนึงถึงปากท้องของเกษตรกรชาวไร่อ้อยหรือไม่

นายธีระชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังกำหนดปรับปรุงรายได้จากผลพลอยได้ของการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย แต่ไม่มีการระบุหรือจำแนกย่อยลงไปว่ารายได้ที่จะเข้าระบบดังกล่าวมีอะไรบ้างที่เป็นผลพลอยได้ แต่ให้อำนาจคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ไปหารือร่วมกัน ซึ่งชาวไร่เห็นว่าควรจะระบุให้ชัดเจน ส่วนประเด็นอื่นๆ ทางชาวไร่ก็ไม่ได้คัดค้านอะไร

“พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย 2527 ที่ใช้มา ตนเห็นด้วยที่จะมีการแก้ไข แต่ควรแก้ไขเป็นบางมาตราเพื่อให้ทันสมัยขึ้น เพราะอ้อยสามารถนำไปทำอย่างอื่นได้หลายอย่างเช่น เอทานอล ไฟฟ้า และบายโปรดักต่างๆ มิใช่ทำได้แค่น้ำตาลอย่างเดียว” นายธีระชัยกล่าว

Advertisement

นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในอดีตราคาอ้อยถูกกำหนดโดยกลไกภายในประเทศ แต่ปัจจุบัน มีการใช้มาตรา 44 เพื่อกำหนดราคาอ้อยลอยตัวตามตลาดโลก ซึ่งทำให้ราคาอ้อยมีแต่ทรงกับทรุด ยังดีที่กฎหมายอ้อยและน้ำตาลกำหนดให้ใช้ระบบตกลงรายได้ระหว่างเกษตรกร โรงงาน และภาครัฐ จึงทำให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ดังนั้น จึงไม่สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ไปกระทบกับระบบแบ่งปันรายได้ที่กำลังดำเนินอยู่ และตนหวังว่าที่สุดแล้ว ภาครัฐจะเห็นใจประชาชนที่เป็นเกษตรกร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image