“ธนชาต” ถวายผ้าพระกฐินพระราชทานวัดป้อมวิเชียรโชติการามสมุทรสาคร

รายงานข่าวจากธนาคารธนชาต แจ้งว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ได้นำคณะผู้บริหาร พนักงาน พันธมิตร และลูกค้าของกลุ่มธนชาต อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ถวาย ณ วัดป้อมวิเชียรโชติการาม (พระอารามหลวง) ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยมีผู้มีจิตศรัทธาและประชาชนร่วมงานจำนวนมาก และมียอดเงินร่วมทำบุญทั้งสิ้น 15,773,182.40 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจะนำไปทำนุบำรุงพระอาราม และทางวัดจะมอบเงินเพื่อสมทบทุนสร้างศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสมุทรสาครด้วย จำนวน 3 ล้านบาท นอกจานี้ ธนาคารธนชาต จัดมอบทุนการศึกษาให้กับโรงเรียนในพื้นที่ 4 แห่ง แห่งละ 20,000 บาท

นายเกรียงไกร ภูริวิทย์วัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มธนชาตอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวงในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 12 วัตถุประสงค์เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระอารามหลวง ปูชนียสถานไว้ให้คงอยู่คู่สังคมไทย และตอบแทนสังคม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปณิธานความดีที่ธนชาตดำเนินควบคู่กับการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด โดยปีนี้ได้นำผ้าพระกฐินพระราชทานถวายพระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดป้อมวิเชียรโชติการาม โดยได้เชิญชวนลูกค้าและผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญผ่านกล่องรับบริจาค ที่ธนาคารธนชาต ทุกสาขา โอนผ่านบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารธนชาต เลขที่บัญชี ?325-6-77889-9? ชื่อบัญชี “กฐินพระราชทานกลุ่มธนชาต ประจำปี 2561” โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมการโอน รวมทั้งเชิญชวนให้ทำบุญผ่านช่องทาง e-Donation บนโมบาย แบงกิ้ง แอพพลิเคชั่นของทุกธนาคาร ด้วยการสแกน QR code ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว อีกทั้งไม่ต้องขอเอกสารจากหน่วยรับบริจาค แต่ระบบจะยิงข้อมูลใบอนุโมทนาไปให้กรมสรรพากรโดยตรงเพื่อใช้เป็นหลักฐานลดหย่อนภาษีประจำปีได้ทันทีด้วย

ทั้งนี้วัดป้อมวิเชียรโชติการาม เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรีชนิดสามัญ ชาวบ้านมักเรียกว่า “วัดท้ายป้อม” หรือ “วัดบ้านป้อม” สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ติดกับป้อมวิเชียรโชฎก เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดสมุทรสาครอีกวัดหนึ่ง แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในปีใด เพียงแต่สันนิษฐานกันว่า น่าจะสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ประมาณ พ.ศ. 2323 และผูกพัทธสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2330 และได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงเมื่อ พ.ศ. 2539 โดยบริเวณที่ตั้งของวัดเป็นที่อยู่ของชุมชนชาวรามัญ ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในประเทศไทย โดยที่ชาวรามัญเป็นผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นชุมชนแล้ว จึงได้สร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image