การบินไทยอ่วม! ผลประกอบการไตรมาส 3 ขาดทุน 3,686 ล้านบ.

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรื่องผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินไตรมาส 3/2561 ว่า บริษัทยังคงดำเนินงานตามกลยุทธ์หลัก 5 กลยุทธ์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจปี 2561 ได้แก่ 1. การสร้างกำไรจากการเพิ่มรายได้ควบคุมต้นทุน และนำรูปแบบธุรกิจของสายการบินต้นทุนต่ำมาประยุกต์ใช้ 2.การปรับปรุงหน่วยธุรกิจให้เป็นศูนย์กำไร (โปรฟิต เซ็นเตอร์) ที่เติบโต แสวงหาโอกาสทางธุรกิจและบริหารจัดการสินทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 3.การปรับปรุงการบริการครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสม 4.การนำดิจิตอล แอพพลิเคชั่นมาเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความสามารถในการแข่งขัน และ 5.การพัฒนาการบริหารงานบุคคลโดยเน้นโครงสร้างองค์กร วัฒนธรรมองค์กร ภาวะผู้นำและการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถ

โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาประสิทธิภาพในการหารายได้ โดยเพิ่มรายได้จากผู้โดยสารผ่านระบบ Revenue Management System เพิ่มรายได้จากโครงการหารายได้เสริมนอกเหนือจากรายได้หลักผ่านช่องทางออนไลน์ การพัฒนาการดำเนินงานกับสายการบินไทยสมายล์ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ร่วมลงนามกับทางกองทัพเรือ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อประกอบกิจการบนพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจน โครงการร่วมวิจัยและพัฒนาเครื่องยนต์ Trent XWB แห่งแรกของโลกร่วมกับบริษัท โรลส์รอยซ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือรูปแบบใหม่ครั้งแรกของโลกระหว่างการบินไทยกับบริษัท โรลส์รอยซ์ในการวิจัยและพัฒนาเครื่องยนต์ที่เกิดขึ้นนอกสหราชอาณาจักร โครงการนี้เป็นแผนปฏิบัติการกลยุทธ์ปี 2561-2562 เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทในอนาคตและยังเป็นการร่วมกันพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงในอุตสาหกรรมการบินสู่ประเทศไทย

ทั้งนี้บริษัทมีแผนจัดหาเครื่องบินปี 2562-2567 ซึ่งเป็นการจัดหาเพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าที่มีอายุใช้งานมากกว่า 20 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนและปรับปรุงแผนการจัดหา เครื่องบินใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดและการใช้งานจริง ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริษัทให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป ำ และดำเนินการขายเครื่องบินที่ปลดระวางแล้ว ได้แก่ แอร์บัส เอ330-300 จำนวน 1 ลำ

โดยในไตรมาส 3 บริษัทและบริษัทย่อยมีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ในการดำเนินงานจำนวน 103 ลำ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 4 ลำ โดยในไตรมาสนี้มีการปลดระหว่างเครื่งบินแบบโบอิ้ง 737-400 จำนวน 2 ลำ มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินเท่ากับ 12.1 ชั่วโมง เท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 2% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 1% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 77.5% ต่ำกว่าปีก่อน และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 6 ล้านคนใกล้เคียงกับปีก่อน

Advertisement

การดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงาน 3,934 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไร 300 ล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นโดยมีค่าใช้จ่ายรวมที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 5,259 ล้านบาท หรือ 11.3% จากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 3,499 ล้านบาท หรือ 29.4% จากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นถึง 41% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น 1,862 ล้านบาทหรือ 5.5% สาเหตุหลักเกิดจากค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน และค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่เพิ่มขึ้น ในขณะที่มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 1,025 ล้านบาท หรือ 2.2% จากรายได้ค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินเพิ่มขึ้น 304 บาทล้านบาท หรือ 0.8% จากปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น รายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณีย์ภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 561 ล้านบาท หรือ 10.9% และรายได้จากการให้บริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 360 ล้านบาท หรือ 12.3%

เพราะฉะนั้นทำให้ในไตรมาส 3/2561 บริษัทและบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิ 3,686 ล้านบาท ขาดทุนมากกว่าปีก่อน 1,872 ล้านบาท หรือ 103.2% โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 3,701 ล้านบาทคิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 1.70 บาท ขาดทุนมากกว่าปีก่อน 0.86 บาทหรือ 102.4%

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image