สัมภาษณ์พิเศษ : อุตตม สาวนายน ปั้น ‘แพลตฟอร์ม’ สู่ ‘Transform Thailand’

หนังสือพิมพ์มติชนจะจัดสัมมนาเรื่อง Transform เศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคต ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 เวลา 08.00-12.00 น.ที่ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งผู้เข้าร่วมฟังสัมมนาจะได้รับทราบทิศทางการดำเนินงานของรัฐบาล และทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี และประธานกรรมการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จะปาฐกถาพิเศษถึงทิศทางเศรษฐกิจไทย 2562 พร้อมกันนี้ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับฟังมุมมองต่อนโยบาย Transform ประเทศไทย : คนทำธุรกิจคาดหวังอะไร

เพื่อเป็นการปูพื้น “มติชน” ได้สัมภาษณ์นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ฉายภาพการ Transform เศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคต เป็นการส่งสัญญาณถึงภาคเอกชนให้ตื่นตัว รับมือความเปลี่ยนแปลงของโลก ควบคู่ไปกับภาครัฐที่พร้อมสนับสนุน

ประเทศไทยจำเป็นต้อง Transform ไปสู่ยุคใหม่

เชื่อว่าคนไทยทราบชัดเจนแล้วว่า วันนี้ประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ เป็นการปรับเปลี่ยนประเทศเพื่อไปสู่ความเจริญก้าวหน้าที่ต่อเนื่องและยั่งยืน เกิดประโยชน์กับคนไทยทุกภาคส่วน พูดง่ายๆ ว่า วันนี้เรื่องของการปรับเปลี่ยน หนีไม่พ้นเรื่องของปากท้องของประชาชน คือจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยปรับเปลี่ยน หรือ Transform ที่พูดๆ กันไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่บรรลุเป้าหมาย ยั่งยืน สร้างโอกาสใหม่ให้คนไทยในรุ่นต่อๆ ไป

วันนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับเปลี่ยนแล้ว เพราะเรามีความพร้อม โอกาสมา ต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ไม่คิดถอยหลัง นั่นหมายความว่าวันนี้ความพร้อมเรามี บ้านเมืองสงบ อันนี้สำคัญ เพราะถ้าจะคิดปรับเปลี่ยนประเทศ บ้านเมืองต้องสงบ ผู้คน ผู้ประกอบการถึงจะมีแรงมีความหวังก้าวไปข้างหน้า แต่จะทำอย่างไรก็ต้องยึดโยงทั้งระบบ เริ่มที่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศต้องพร้อม ถ้าจะยกระดับเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานหลายรูปแบบ หลักๆ เป็นระบบขนส่ง ทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ พร้อมหรือไม่ โครงสร้างที่สนับสนุนเทคโนโลยีสมัยใหม่ โครงสร้างดิจิทัลพร้อมหรือไม่ 5G ไทยต้องพร้อม ต้องกำหนดราคาให้เหมาะสม ขณะเดียวกันราคาต้องไม่แพงจนกระทบกับประชาชน วันนี้ธุรกิจเป็นธุรกิจดิจิทัล เศรษฐกิจต้องการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมหรือไม่

Advertisement

นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข เรื่องการดูแลเรื่องน้ำ ไทยพร้อมหรือไม่ วันนี้ผมเชื่อว่าเราพร้อมแล้ว ความพร้อมของไทยมี แต่ต้องทำงานต่อ

เรื่องต่อมาที่เป็นหัวใจเศรษฐกิจที่ต้องปรับคือ 1.อุตสาหกรรมทั้งผลิตและบริการ ไทยต้องมีเป้าหมายว่าจะมีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนทั้งภาคผลิต อุตสาหกรรม บริการ แบบไหน น่าจะเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตั้งแต่คนตัวเล็ก ฐานราก ชุมชน จนถึงคนตัวใหญ่ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการ ที่มีมูลค่าสูงโดยคนไทย ไม่ใช่ทำแต่ต้นทางและให้คนอื่นได้กำไรไป อันนี้มีเป้าหมายชัดเจนว่าอุตสาหกรรมไหนบ้าง ยกตัวอย่าง ถ้าของเดิมที่ต้องยกระดับ และของใหม่ๆ ล่าสุดที่ต้องยกระดับคืออะไร ตอนนี้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์จำเป็น เพราะระบบอัตโนมัติวันนี้ใช้ในอุตสาหกรรมหลายภาคส่วนแล้ว ทั้งอุตสาหกรรมและบริการ อย่างการดูแลผู้สูงวัยก็มีการนำระบบหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย

“…วันนี้ช้าไปหลายเรื่อง ถ้าไม่ทำจะมีผลกระทบมาก
คือไม่ใช่แค่ก้าวไม่ทัน แต่ปัญหาเดิมที่บอกจะแก้
จะทำให้ไทยยิ่งอ่อนล้า และล้าหลังไปอีกหลายปี…”

เรื่องคนสำคัญมาก

เรื่องที่ 2 คือ เรื่องคน สำคัญมาก คนไทยต้องตื่นรู้ว่าวันนี้เศรษฐกิจกำลังไปทางไหน ต้องคิดในกรอบก้าวข้ามสิ่งที่เราทำทุกวัน ต้องออกแรง ต้องคิดว่าการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว จะเข้าถึงความรู้ ข้อมูล เทคโนโลยีอย่างไร เหล่านี้มีโครงการที่กระทรวงอุตสาหกรรม รัฐบาลช่วยดูแลอยู่ หัวใจสำคัญคือการเตรียมตัวของผู้ประกอบการทำอย่างไร ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนอย่างไรให้เป็นรูปธรรมและทั่วถึง โดยเฉพาะคนที่ทำงานอยู่เดิม ถึงจุดที่ต้องมีทักษะเพิ่มเติมใช่หรือไม่ วันนี้การเรียนรู้เป็นการเรียนรู้ต่อเนื่อง มีทั้งระบบองค์ความรู้ที่สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องในวิถีของเรา และถ้าเศรษฐกิจไทยยุคใหม่สามารถสร้างมูลค่าสูง ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ก็ต้องให้ความสำคัญกับการฟูมฟักคน หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือเรียกว่าสตาร์ตอัพ แต่จะทำอย่างไรถึงจะทำให้สตาร์ตอัพไทยมีพลังอย่างแท้จริง มีพลังมากที่สุด ดังนั้นต้องเชื่อมโยงสตาร์ตอัพกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างหุ่นยนต์ หากมีสตาร์ตอัพใหม่ที่สามารถออกแบบระบบ แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงกับธุรกิจต่างๆ ก็ถือเป็นเรื่องดี หรืออย่างการสินค้าออนไลน์ อีคอมเมิร์ซก็มีหลายราย มีการขายทั่วไป หากไทยใช้ประโยชน์สิ่งเหล่านี้มากที่สุด อยู่ในกรอบที่คนไทยทำได้ ก็ถือเป็นการเตรียมพร้อมเรื่องคนที่ต้องดำเนินการ

อีอีซีคือมาตรการขับเคลื่อนพิเศษ

อย่างไรก็ตามต้องมีมาตรการเข้ามาขับเคลื่อนพิเศษ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการคือ โครงการเขตพัฒนาภาคตะวันออก (อีอีซี)ถูกออกแบบมาให้เป็นตัวขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่นี้ ถามว่าทำไมต้องมีตัวขับเคลื่อนพิเศษ ก็เพื่อให้ประเทศมีพลังเริ่มต้นที่ชัดเจนและสามารถช่วยผลักดันการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจให้สามารถเดินได้ ลุกขึ้นมาเดินได้เร็ว ซึ่งโครงการนี้มีการกำหนดพื้นที่ชัดเจนคือ ภาคตะวันออกโดยวัตถุประสงค์หลักคือ สร้างฐานความเจริญแบบบูรณาการที่จะตอบโจทย์ว่าเศรษฐกิจไทยยุคใหม่ เป็นเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยี เป็นเศรษฐกิจที่ดูแลคนไทยอย่างครอบคลุมทุกมิติ ใช้เทคโนโลยีในรูปแบบที่เหมาะสม สอดรับกับวิถีไทย ดังนั้น อีอีซีจึงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญตัวหนึ่ง และไม่ได้ขับเคลื่อนแค่ในพื้นที่ภาคตะวันออก แต่จะส่งผลไปยังพื้นที่อื่นของประเทศไทยด้วย การเริ่มต้นที่ภาคตะวันออกเพราะมีฐานความเจริญเดิมอยู่ ทั้งด้านการผลิต บริการ และการท่องเที่ยว และการขนส่ง โดยรัฐบาลจะต้องกระจายออกไป ถ้าทำแค่อีอีซีจะไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ คงไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนแน่นอน

วันนี้ไทยได้รับการสนับสนุนความสนใจจากต่างประเทศไทยเป็นอย่างดี เพราะต่างชาติเห็นว่าจุดนี้คือเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งตอนนี้คนไทยกำลังร่วมกันทำให้เป็นรูปธรรม และยังส่งผลในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ในกลุ่มประเทศเอเชียและยึดโยงประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคอื่นทั่วโลก นี่คือตัวอย่างว่าทำไมต้องมีโครงการ ซึ่งสามารถเกิดได้อีกในพื้นที่อื่นของประเทศ

หากไม่เร่งปรับตัวไทยจะเผชิญกับอะไร

วันนี้ช้าไปหลายเรื่อง ถ้าไม่ทำจะมีผลกระทบมาก คือไม่ใช่แค่ก้าวไม่ทัน แต่ปัญหาเดิมที่บอกจะแก้จะทำให้ไทยยิ่งอ่อนล้าและล้าหลังไปอีกหลายปี แก้ปัญหาเดิมไม่ได้ พัวพันไปหมด โลกเปลี่ยนเร็ว เป็นปัญหา 2 เด้ง ในความเห็นผม ปัญหาเก่าแรงขึ้นและของใหม่ตามไม่ทัน ทำให้พะว้าพะวังแก้ไม่ได้ดี ของใหม่ก็ตกรถไฟ รถไฟไฮสปีดเทรนที่รัฐบาลกำลังเดินอยู่

มาตรการยกเครื่องเศรษฐกิจในปัจจุบัน

เรามีคณะทำงานด้านประชารัฐที่เป็นการทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน อย่างคณะทำงานด้านเอสเอ็มอี และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ผมดูแลอยู่ ก็ยังเดินหน้า อย่างล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะมีการประชุมร่วมกันวันที่ 26 พฤศจิกายน จะมีอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศและสภาอุตสาหกรรมแต่จะจังหวัดร่วมหารือกัน โดยสิ่งที่จะเจาะคือ ฐานการผลิตสิ่งแวดล้อม โรงงาน 4.0 เพื่อดูแลเอสเอ็มอีและโรงงานทั่วประเทศ เป็นงานใหญ่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมและ ส.อ.ท.จะทำร่วมกัน นอกจากนี้จะมีการปรับการทำงานด้านเอสเอ็มอีให้ครอบคลุม เอาหน่วยงานภูมิภาคเข้าช่วย ตอนนี้เรามีศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไอซีที) ทั่วประเทศ และด้านต่างประเทศก็เข้มข้นขึ้น อย่างวันที่ 12 พฤศจิกายน ทางจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น จะพาผู้ประกอบการญี่ปุ่นจำนวน 65 ราย เดินทางมาแถลงความร่วมมือจัดตั้งศูนย์มิเอะ ไทยแลนด์ อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ แล็บ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร

ของขวัญปีใหม่จากกระทรวงอุตสาหกรรม

ถ้าพูดเดี๋ยวหาว่าหาเสียง แต่มีแน่นอน เตรียมปล่อยเร็วๆ นี้ เป็นธรรมเนียมที่ต้องดูแลผู้ประกอบการทั้งเอสเอ็มอี ภาคเกษตร ฐานราก แต่ปีนี้จะพิเศษตรงที่เราจะดูแลกลุ่มแรงงานด้วย แต่ยังไม่ให้รายละเอียดตอนนี้ เพราะการที่ไทยจะ Transform ต้องมาจากคนด้วย เราต้องเข้าไปดูแลลดภาระของพวกเขา ถ้าเอสเอ็มอีล้มจะช่วยเขายังไง อย่างกลุ่มแรงงานอนาคตจะมีการใช้หุ่นยนต์ทดแทน ดังนั้นแรงงานไทยต้องมีศักยภาพเพิ่มขึ้น ขณะที่การพึ่งพาต่างด้าวก็ไม่ยั่งยืน เพราะวันหนึ่งพวกเขาต้องกลับประเทศตัวเอง

ผู้ประกอบการยังกังวลกับบรรยากาศการเมือง

หลังเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องขึ้นกับคนไทยแล้วล่ะ หากไม่ดูแลกันเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image