คิด เห็น แชร์ : ‘มุมที่มองของการปฏิรูปอุตสาหกรรม4.0’

วันนี้ขออนุญาตโกอินเตอร์นิดนึงครับ เพราะมีโอกาสไปงาน World Economic Forum on ASEAN มีผู้นำรัฐบาลเกือบทุกประเทศไป ผมมีโอกาสขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็นถึงทิศทางของอุตสาหกรรมในอนาคตของอาเซียนว่าจะเป็นอย่างไร โดยทาง WEF เขามีการสอบถามผู้ประกอบการในอาเซียนมาก่อน และความคิดเห็นของผู้ร่วมเวทีกับผมที่น่าสนใจ ส่วนมากออกมาเป็นนโยบายความร่วมมือที่อาเซียนสามารถร่วมกันพัฒนาได้

ขอสรุปเนื้อหาที่อยู่เบื้องหลังก่อนจะออกแบบนโยบาย มาเล่าแบ่งปันกันน่ะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับ SME และผู้สนใจ

สิ่งและความสามารถในอนาคตที่อุตสาหกรรมต้องมีเพื่อให้แข่งขันและยืนหยัดในเวทีธุรกิจได้ คือ

1) ดิจิทัลโลจิสติกส์ ที่สามารถเชื่อมต่อตั้งแต่ผู้บริโภคจนถึงซัพพลายเออร์คนแรกของกระบวนการผลิตโดยระบบดิจิทัล ข้อมูลข่าวสารที่ไหลไปมาได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ทำให้การจัดการผลิตมีการเตรียมพร้อมได้ทันที ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้รวดเร็ว

Advertisement

2) วัสดุที่ทันสมัย คุณสมบัติพิเศษเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ต้องออกมามากขึ้น เพื่อให้สามารถขยายขีดความสามารถในการผลิตใหม่ๆ และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพพิเศษออกมาได้มากขึ้น

3) ระบบการพิมพ์แบบ 3D ที่ชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้นจะสามารถสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ได้ในต้นทุนต่ำ และรวดเร็วมากขึ้น

4) ระบบอัตโนมัติที่ใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิต กลายเป็นเรื่องปกติ จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับความจำเป็น เหมาะสม แต่ระบบการผลิตอัตโนมัติจะมีต้นทุนที่ต่ำลง และมีระบบการเชื่อมโยงกันระหว่างเครื่องจักรและคนผ่านระบบดิจิทัล ใช้ประโยชน์ในการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการควบคุมและพัฒนามากขึ้น

Advertisement

5) การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ตลอดอายุขัย เป็นสิ่งจำเป็นในการแข่งขันในสภาวะที่ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและรวดเร็ว และเพื่อสามารถผลิตสินค้าที่ตรงใจลูกค้ามากที่สุด ผลิตให้ลูกค้าได้เร็วที่สุด       ผู้ผลิตจำเป็นต้องรู้ความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุดตั้งแต่รูปแบบ วัสดุที่ใช้ หรือตอนใช้งาน การเก็บข้อมูลจากลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ยุคดิจิทัลผู้ผลิตอาจเปิดช่องทางสื่อมีเดียให้ลูกค้าให้ความเห็น แนะนำ หรือมีคนมารีวิวสินค้าบริการยิ่งเยอะยิ่งดี

6) บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ ที่สามารถใช้ได้หลายวัตถุประสงค์ ตั้งแต่การปกป้องสินค้าทั้งในระหว่างขนส่งหรือเพื่อรักษาคุณภาพให้คงอยู่ หากสามารถบอกสภาพและคุณภาพสินค้าภายในบรรจุภัณฑ์ มีระบบติดตามด้วยยิ่งดี รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานของความสวยงาม และเป็นหน้าร้านของสินค้าที่สะดุดตาคนซื้อ และมี รายละเอียดข้อมูลที่จำเป็น

7) การควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ระบบการผลิต โดยเครื่องมืออัจฉริยะซึ่งจะช่วยให้การตรวจสอบและการควบคุมคุณภาพมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น ทั้งด้านคุณภาพตัวผลิตภัณฑ์ และความปลอดภัย    ในทุกด้าน ตั้งแต่ในกระบวนการผลิต หรือสารตกค้างของผลิตภัณฑ์

8) คนในสังคมจะให้ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้ผลิตต้องเอาแนวคิดของ Circular economy     มาใช้มากขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดอายุ ตั้งแต่วัสดุที่ใช้ ที่ต้องย่อยสลายได้และไม่เป็นพิษ กระบวนการผลิตที่ไม่มีของเสีย และความรู้การจัดการผลิตภัณฑ์หลังหมดอายุการใช้ และในอนาคตอันใกล้ผลิตภัณฑ์ด้านไบโอต่างๆ จะกลายเป็นของส่วนมากในตลาด

สำหรับแนวนโยบายที่ได้ร่วมเสวนา และ WEF แนะนำจากการสอบถามผู้ประกอบการทั่วโลกว่ารัฐหรือองค์กร หรือภาคเอกชนควรต้องสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการสนับสนุนการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 นั้น เกือบทั้งหมดเชื่อว่าต้องทำงานร่วมกัน เทคโนโลยีซับซ้อนและยุ่งยากมากกว่าเดิมมาก และมีความก้าวหน้ารวดเร็วในอัตราเร่ง การทำทุกอย่างคนเดียวไม่น่าจะทันและไม่คุ้มค่าด้านต้นทุน นอกจากนี้ การเชื่อมต่อข้อมูลแบบไร้รอยต่อจะทำให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น การสร้างบรรยากาศในการแข่งขันธุรกิจจะทำให้ทุกคนเร่งพัฒนาความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถส่งผลดีต่อภาพรวม

ส่วนมาตรการอื่นที่รู้ๆ กัน ทั้งเรื่องการตั้งเครือข่ายด้านการศึกษาในสถาบันการศึกษา การสร้างแรงจูงใจผ่านระบบภาษี รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาต่างๆ ด้านอุตสาหกรรม 4.0 และการสร้างระบบความปลอดภัยด้านไซเบอร์

สำหรับผมแล้ว แนวคิดของทุกคนเห็นคล้ายๆ กันว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ภาคอุตสาหกรรม 4.0 ต้องมีนั้นมีอะไรบ้าง และตอนนี้หลายคนเริ่มไขว่คว้าแสวงหา ก้าวเดิน หากเรายังเฉยๆ เรากำลังล้าหลังคนอื่นในวันนี้ และไม่มีที่ยืนในวันข้างหน้าที่ไม่ไกลจากวันนี้นัก

ดร.สมชาย หาญหิรัญ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image