ความเหลื่อมล้ำครั้งใหญ่ จากกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

(ร่าง) กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะเป็นพระเอกในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม กลับดูเหมือนจะสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำครั้งใหญ่ถึงขนาดที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพราะอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ “ระบบศักดินานายทุน” ขึ้นในสยามประเทศ และในไม่ช้าเมื่อระบบนี้เติบโตและฝั่งรากลึกขึ้น “สถาบันครอบครัว” ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมไทยจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เกิดเป็นปัญหาทางสังคมที่ใหญ่ขึ้นและซับซ้อนขึ้นจนยากเกินกว่าจะเยียวยาได้ แต่หากเราช่วยกันมองให้รอบด้านเพื่อป้องกันมิให้ระบบนี้เกิดขึ้น ก็เป็นไปได้ที่ยังมีทางรอดของประเทศอยู่บ้าง และในทางตรงกันข้าม หากผู้รับผิดชอบจะนิ่งเฉย มองข้าม และมุ่งแต่จะหาข้อดีของ (ร่าง) กฎหมายฉบับนี้ เพื่อเป็นผลงานของรัฐบาลหรือด้วยเหตุผลประการใดก็ไม่ทราบได้ แผ่นดินที่เรารักผืนนี้ก็คงเพียงรอเวลาที่จะพาคนมาพรากความเป็นเจ้าของไปจากพี่น้องชาวเกษตรกรและไปมอบให้กับนายทุนผู้ประกอบกิจการธุรกิจเป็นแน่แท้ ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหาก “ระบบศักดินานายทุน” ได้ถูกริเริ่มขึ้นโดย (ร่าง) กฎหมายฉบับนี้ รวมถึงนำเสนอข้อมูลผลกระทบเชิงลึกให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ เพื่อพิจารณาและเตรียมใจเผชิญกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม้เด็ดของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จะได้ผลจริงหรือ

อัตราการจัดเก็บภาษีในระดับที่ต่ำมากที่ปรากฏใน (ร่าง) กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ ที่รัฐบาลเชื่อว่าเป็นจุดแข็ง แต่โดยความเป็นจริงแล้วแม้ยังไม่ประกาศให้มีผลใช้บังคับก็สามารถสันนิษฐานได้ว่า ประชาชนชาวไทยไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเพราะเดิมประชาชนก็ไม่ต้องจ่ายภาษีในลักษณะนี้อยู่แล้ว แต่คนที่จะได้ประโยชน์อยากมาก (เต็มที่และเต็มเม็ดเต็มหน่วย) คือ นายทุนสามารถถือครองนับแสนไร่ด้วยความชอบธรรมเพราะจ่ายภาษีตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  และเป็นเรื่องน่าเศร้าจากที่เคยคิดว่ากฎหมายนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ภาษีที่นายทุนจ่ายไปกลับถูกนำไปบวกไปในต้นทุนการผลิตเสมือนเป็นการขึ้นราคาสินค้าทางอ้อม ผลักให้เป็นภาระของผู้บริโภคโดยตรง กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาและซ้ำเติมความเลวร้ายของสภาพปัจจุบันให้มากยิ่งขึ้น และคงไม่ผิดแน่ถ้าจะกล่าวว่าสภาพปัญญาที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเกิดเพราะ “กฎหมายฉบับนี้” เมื่อถึงเวลานั้นมีการชำระประวัติศาสตร์ในอนาคตข้างหน้า ก็ต้องมาไล่เรียงกันอีกว่า “ใคร” คิดกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา

Advertisement

เกษตรแปลงใหญ่  อาจเป็นจุดกำเนิดศักดินานายทุน

การทำเกษตรที่มีอยู่เดิมในประเทศไทย เป็นการทำเกษตรแบบแปลงเล็ก เกษตรกรรายย่อยต่างคนต่างทำดังนั้นเมื่อเกษตรกรรายย่อยซื้อวัตถุดิบจำนวนน้อย จึงมีราคาแพงต้นทุนการผลิตสูง แข่งขันกับต่างประเทศยาก รัฐบาลจึงมีนโยบายให้ทำเป็นการเกษตรแปลงใหญ่ ขนาดใหญ่หลายร้อยไร่ หลายพันไร่ หรืออาจจะใหญ่ถึงหลายหมื่นไร่ เพื่อจะได้ต่อรองซื้อวัตถุดิบจำนวนมากในราคาถูกลง  หัวใจสำคัญของความสำเร็จคือต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดี มีค่าใช้จ่ายค่าบริหารจัดการส่วนกลางและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นธรรมต่อทุกคน จึงจะประสบความสำเร็จคล้ายกับระบบสหกรณ์  แต่หากมีการลำเอียงหรือทุจริตจะทำให้ไม่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกทำให้ “ระบบเกษตรแปลงใหญ่แบบชาวบ้านรวมตัวกัน” ประสบความล้มเหลว  การที่จะทำให้“ระบบเกษตรแปลงใหญ่แบบชาวบ้านรวมตัวกัน” ประสบความสำเร็จแบบยั่งยืน จะต้องเพิ่มความรู้และศักยภาพของเกษตรชาวบ้าน ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานเพียงพอ การที่รัฐเข้าไปช่วยจัดตั้ง เป็นเรื่องความสำเร็จชั่วคราวเท่านั้น

ยังมีระบบเกษตรแปลงใหญ่อีกแบบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า คือ “ระบบเกษตรแปลงใหญ่แบบนายทุน” นายทุนสามารถจัดตั้งระบบบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูงขนาดหลายหมื่นไร่หรือหลายแสนไร่ได้โดยไม่ยาก และหากอัตราการจัดเก็บภาษีของระบบเกษตรแปลงใหญ่ไม่แตกต่างกันกับแปลงเล็ก ก็จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น เพราะยิ่งเก็บจัดเก็บภาษีเกษตรกรรมแบบไม่จำกัดจำนวนไร่ (แม้จะทำเป็นแสนไร่) ในอัตราจัดเก็บภาษีเดียวกันกับการเกษตรกรรมที่มีขนาดเล็กลงมาหลายสิบเท่าหรือหลายร้อยเท่า (ขนาดเป็นร้อยไร่หรือพันไร่) การเกษตรกรรมขนาดใหญ่ก็ยิ่งได้เปรียบเท่านั้น ทั้งนี้สามารถอธิบายได้โดยง่ายโดยหลักการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) และการประหยัดต่อขอบเขต (economy of scope) ที่อธิบายง่ายๆ ว่าในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ย่อมมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ลดลง ดังนั้นชาวบ้านที่ทำการเกษตรกรรมขนาดเล็ก(ซึ่งมีต้นทุนเฉลี่ยสูงกว่า) จึงไม่มีโอกาสที่จะสามารถเอาชนะการเกษตรกรรมขนาดใหญ่ของนายทุนได้เลย

และเมื่อใดที่ระบบเกษตรแปลงใหญ่โดยนายทุนเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อนั้นจะทำให้ชาวนาและชาวสวนไทยไม่สามารถแข่งขันกับนายทุนได้ เพราะนายทุนสามารถจัดการต้นทุนให้ต่ำกว่า มีประสิทธิภาพสูงกว่าและนายทุนยังมีธุรกิจรองรับแบบครบวงจรจึงทำกำไรได้ดีกว่า “ระบบเกษตรแปลงใหญ่แบบชาวบ้านรวมตัวกัน” จึงใกล้เข้าสู่การล่มสลายในไม่ช้านี้ ต่อไปนี้ ภาพที่สังคมไทยจะเห็นกันอย่างคุ้นชินคือภาพที่ชาวนาและชาวสวนไทยเที่ยวเร่ขายที่ดินซึ่งใช้เลี้ยงตนเองและครอบครัวมาหลายชั่วคน เพื่อไปลงทุนประกอบอาชีพอื่น และรอวันที่จะเผชิญจุดจบแบบเดียวกับร้านโชห่วยที่ล้มหายไปด้วยปรากฏการณ์ผุดขึ้นของ “ร้านค้าสะดวกซื้อแห่งชาติ” ดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ข้อกังขา  “ภาษีที่ดินเกษตรกรรม” กับ “ภาษีที่ดินว่างเปล่า”

แม้ภาษีทั้ง ๒ ชนิดนี้อยู่คนละหมวดกัน แต่เหมือนกระจกแผ่นเดียวกันที่มี ๒ ด้าน แค่พลิกครั้งเดียวก็เปลี่ยนประเภททันที หมายความว่า ในปีใดที่เกษตรกรไม่มีทุนทำเกษตรกรรม ปีนั้นจะถูกประเมินจ่ายภาษีที่ดินรกร้างซึ่งต้องจ่ายภาษีในอัตราสูงสุด ต้องจ่ายภาษีที่ดินว่างเปล่า ยิ่งเว้นนานเท่าใด ยิ่งเสี่ยงต่อการถูกยึดที่ดินมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะที่ดินทำนา ซึ่งไม่ได้ทำตลอดทั้งปี และอาจไม่ได้ทำนาเต็มพื้นที่ เพราะความไม่พร้อมทางการเงิน หรือ ปริมาณน้ำในปีนั้น ยิ่งการประเมินที่ดินเพื่อจ่ายประเภทภาษีเป็นดุลยพินิจอำนาจของเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองท้องถิ่น เช่น อบต. หรือเทศบาลด้วยแล้ว ก็รู้สึกอดเป็นห่วงเกษตรกรที่มีข้อจำกัดความรู้ทางกฎหมายทซึ่งจำนวนมากในสังคม หากต้องจ่ายภาษีที่ดินรกร้างในบางปีสลับกับไม่ต้องจ่าย จะสร้างความกังวลให้กับชาวนาว่า ในปีหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ย่อมดำรงชีวิตอยู่ด้วยความร้อนใจและความรู้สึกไม่ปลอดภัยด้านการเงินหรือความมั่นคงในการดำรงชีวิต ชาวนาผู้ใดทนความทุกข์ร้อนใจไม่ไหว ก็คงจำเป็นต้องเลือกที่จะขายที่ดินในราคาถูก ก่อนที่จะถูกอายัดยึดที่ดินไปขายทอดตลาดโดยภาครัฐ

 “ที่มา” ของภาษีที่ดินว่างเปล่า วิเคราะห์ถูกต้องและยุติธรรมจริงหรือไม่ ?

รายงานของสภาปฏิรูป ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2558 วาระปฏิรูปที่ 11 : ปฏิรูปที่ดินและการจัดการที่ดิน อันเป็นที่มาของร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นสักเท่าไรนัก เพราะไปสรุปว่าที่ดินทิ้งร้างเกิดขึ้นจากมีคนครอบครองแล้วไม่ยอมใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จึงจะต้องขึ้นภาษีเพื่อบีบบังคับให้นำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าขาดความสอดคล้องกับรายงานผลการศึกษาที่ดินที่ไม่ได้ประโยชน์ในประเทศไทยซึ่งรายงานอย่างชี้เฉพาะว่า  ที่ดินทิ้งร้างมี จำนวน 9,179,624ไร่ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.86 จึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุของปัญหาตามที่สภาปฏิรูปกล่าวอ้าง เมื่อพิจารณาในรายละเอียดถึงสาเหตุของการทิ้งร้าง  พบว่าเกิดจาก นาร้าง 198,858 ไร่ ไร่ร้าง  18,002 ไร่ และที่พบมากที่สุดคือป่าละเมาะ 6 ล้านกว่าไร่ ที่ลุ่มน้ำท่วมขัง 1 ล้านกว่าไร่  ซึ่งที่ดินเหล่านี้อยู่ในเขตห่างไกล ไม่สามารถใช้ประโยชน์เพราะสาเหตุจากสภาพตามธรรมชาติ (ข้อจำกัดในการใช้ที่ดิน) ของที่ดินเอง ไม่ใช่เกิดจากเจ้าของที่ดินผู้ครอบครองหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด

 ครอบครัวไทยกระเทือนหนัก

เมื่อดูการกระจุกตัวของกรรมสิทธิ์ในกลุ่มนายทุนประมาณ 10 รายรวม ทั้งหมดมีไม่เกิน 1 ล้านไร่ เทียบกับที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในประเทศมีอยู่ทั้งราว 320,696,887 ไร่ จะเห็นว่าเป็นจำนวนน้อยมาก และสาเหตุหลักที่นายทุนไม่ใช้ประโยชน์ในที่ดินก็เพราะยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนนั่นเอง การกลับไปออกกฎหมายภาษีบังคับให้ประชาชนทั่วไปลงทุนในที่ดินที่มีความเสี่ยง เรียกว่า ถ้าทำ Business Model วิเคราะห์แล้ว ขาดทุนชัวร์ ผู้เขียนเคยสงสัยว่า นักคิดกฎหมายทั้งหลายที่ริเริ่มแนวคิดในลักษณะเช่นนี้ จะมีการตัดสินใจลงทุนในโครงการที่ตนรู้ว่า “ขาดทุน” แน่หรือไม่ เพราะการลงทุนพัฒนาที่ดินเป็นของจริง ไม่ใช่แค่การเล่นเกมที่เมื่อแพ้แล้วเริ่มจะสามารถเริ่มใหม่ได้ ถ้าขาดทุนจะมีผลตามมาคือ ความหายนะของทั้งครอบครัว ผู้เป็นพ่อ-แม่ต้องคิดถึงความเสี่ยงต่ออนาคตของลูกอาจต้องเลือกเก็บเงินส่งลูกเรียนหนังสือไม่ยอมลงทุนในที่ดิน บางครอบครัวลงทุนผิดพลาดผู้นำครอบครัวอาจฆ่าตัวตาย กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงไม่ใช่จะมองแค่รายได้จากภาษีที่เพิ่มเพียงหมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลต้องคำนึงว่าผลกระทบต่อประชาชนไม่ใช่เรื่องเสียภาษี แต่กระทบชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ

กฎหมายภาษีฉบับนี้อ้างหลักการจากที่ดินร้างทั่วประเทศ แต่กลับพุ่งเป้ามาจัดการกับที่ดินในเมือง เมื่อพิจารณาจากรายงานของสำนักผังเมือง พ.ศ. 2559 ระบุชัดเจนว่า ที่ดินว่างเปล่าในกรุงเทพลดลงอย่างรวดเร็ว โดยลดลงร้อยละ 27.44 ในรอบ 9 ปี โดยสาเหตุที่ลดลงนั้นเป็นเพราะความเจริญทางเศรษฐกิจและการขยายตัวเมือง

ดังนั้นคำตอบนี้เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่า จากผลการวิจัยการใช้ประโยชน์จากที่ดินว่างเปล่าเป็นไปตามกลไกธรรมชาติคือความเจริญและการขยายของเมือง ทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เจ้าของที่ดินจึงนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่หลักการแบบไม่มีเหตุผล จะการเก็บภาษีบีบบังคับให้ประชาชนเอาที่ดินมาใช้ประโยชน์ทั้งๆที่ไม่เจริญ ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

ผลกระทบของภาษีที่ดินว่างเปล่า กำลังจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ ที่นาร้างถาวรจำนวน 198,858 ไร่ ต้องถูกอายัดยึดและไปขายในราคาถูกๆ เป็นชุดแรก ต่อมาคือ ที่นาร้างไม่ถาวรแบบทำนาปีเว้นปี จำนวนมหาศาลนับล้านไร่ ที่ต้องถูกชาวนาละทิ้งเทขายออกมาเพราะกฎหมายภาษีนี้  หากรัฐบาลตัดสินใจใช้มาตรการใช้บังคับในลักษณะนี้ย่อมส่งผลให้ทั้งชาวนาและครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างหนัก เกิดปัญหาสังคมขนาดใหญ่ตามมาเพราะชาวนาไม่มีที่อยู่อาศัย นำไปสู่การทิ้งถิ่นฐานและการอพยพเพื่อขายแรงงาน

ถ้ารัฐบาลยอมรับความจริงที่ว่า รายงานของสภาปฏิรูปอาจมีข้อคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง อาจเพราะจัดทำด้วยระยะเวลาที่จำกัด และโดยกลุ่มคนจำนวนไม่มาก หรือด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ก็ควรยอมรับข้อมูลเพิ่มเติมและทำการแก้ไขปรับปรุง  ปัญหาก็จะลดน้อยลง แต่ถ้ายืนกรานที่จะดื้อดึงว่ารายงานของสภาปฏิรูปคือหัวใจปฏิรูปที่สำคัญที่สุด ข้อเท็จจริงใดก็ไม่อาจแก้ไขได้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมพบกับปัญหาใหม่ที่รุนแรงและมีผลกระทบในวงกว้างที่ไม่อาจประเมินมูลค่าความเสียหายได้เลยทีเดียว

จำนวนที่ดินถือครอง กัน มูลค่าที่ดิน สิ่งใดกันแน่ที่ควรนำมาเป็นฐานคิดเรื่องภาษี

ถ้ากฎหมายภาษีนี้คุ้มครองเฉพาะที่ดินเกษตรกรรมแปลงที่ 1 ไม่เกิน 50 ล้านบาท และ ที่ดินเกษตรกรรมแปลงที่ 2 ต้องจ่ายภาษีตั้งแต่บาทแรก แบบเดียวกับภาษีบ้านพักอาศัย ที่นำเอาภาษีที่ดินพาณิชย์มาลดราคาใช้กับบ้านหลังที่ 2 และพร้อมขึ้นเป็นภาษีพาณิชย์เต็มทันทีหากให้เช่า ก็เป็นการยืนยันหลักการสำคัญกฎหมายฉบับนี้ว่า “ไม่ต้องการให้คนไทยมีที่ดินในครอบครองมากกว่า 1 แปลง ไม่ว่าจะมีมูลค่าเท่าไรก็ตาม” ในขณะเดียวกันรัฐบาลจัดโปรโมชั่น ลดภาษี เว้นภาษี ยืดระยะ สนับสนุนบรรดานิติบุคคล ซึ่งคือ บริษัทต่างๆ ให้ทำธุรกิจได้ราบรื่นสะดวกสบายใจยิ่งขึ้น แบบนี้จะให้เรียกว่า ลดความเลื่อมล้ำ หรือ เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ถึงจะถูกต้องดี ?

ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจในการลดความเหลื่อมล้ำหรือลดช่องว่างในสังคม ก็ลองถามตัวเองดูว่า รัฐบาลควรสนับสนุนผู้ที่อยู่ต่ำกว่าคือประชาชน หรือสนับสนุนผู้ที่อยู่สูงกว่าคือบริษัทกันแน่ ?  คำตอบง่ายๆนี้ คงไม่จำเป็นต้องตอบ จึงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าทำไมความเหลื่อมล้ำถึงเพิ่มขึ้น

เกษตรแปลงใหญ่ระบบนายทุน กับ ศักดินานายทุน

ถ้ากฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ กดดันให้ชาวนาต้องขายที่นาที่ไม่ได้ทำนาทุกปี เพราะเป็นภาระและหวาดวิตกว่าสักวันอาจต้องถูดยึดที่นา และมีนายทุนมากว้านซื้อที่นาให้ราคาดีในปีนั้น เขาก็ต้องขาย เมื่อขายไปแล้ว ก็หมดไปตลอดชั่วลูกชั่วหลาน เพราะไม่มีปัญญาจะหาเงินไปซื้อกลับมาจากนายทุนอีก ทางรอดมีทางเดียวคือ ขายแรงงงาน ชีวิตครอบครัวลูกหลานก็ต้องอาศัยอยู่ที่ดินนายทุนรับจ้างแบบเดียวกันระบบไพร่ในอดีต หากเจ้าของที่ดินเป็นคนดี ก็จะอยู่ได้อย่างมีความสุข แต่หากเจ้าของที่ดินเป็นคนไม่ดี ก็จะเป็นทุกข์ ชีวิตที่อิสระเป็นไท ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวพระราชทานความเป็นไทให้แก่ไพร่ฟ้าประชาชน ก็จะหายไป เข้าสู่ระบบใหม่ที่เรียกว่า “ศักดินานายทุน”

มาตรการการใช้บังคับ “ไม่จ่ายภาษี” โดยการอายัดที่ดินและบ้านมาขายทอดตลาด “เพื่อรีดเอาภาษี” ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือ?

ในกฎหมายภาษีทั่วไป ถ้าไม่จ่ายภาษีแล้วรัฐจับได้ ก็มีโทษปรับเป็นจำนวนเท่าของภาษี ซึ่งสมเหตุสมผล แต่จะให้ขนาดริบที่ดินและบ้านมาขายทอดตลาด เพื่อรีดเอาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นถูกต้องแล้วหรือเปล่า ?  เพราะการอายัดและริบที่ดินกับบ้านไปขายทอดตลาด มันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่มันเหมือนกับการฆ่ากันทั้งเป็น ทำลายอนาคตของประชาชนทั้งครอบครัว ทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็กล้วนที่ไม่เกี่ยวข้องล้วนได้รับผลกระทบทั้งหมด

เพื่อทำให้ประชาชนชล่าใจไม่ตื่นกลัว จึงยืดระยะบังคับใช้ออกไปอีก 2-3 ปี ประชาชนจึงนิ่งเฉยเหมือนยอมรับ แต่ความจริงคือ ประชาชนไม่เข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เมื่อกฎหมายมีผลบังคับเต็มที่อีก 5-10 ปีให้หลัง ประชาชนจึงพบกับผลกระทบเกิดความเดือดร้อนไปทั่วประเทศ

ทางออกมีเสมอ ขอเพียงเปิดใจฟัง

สภาพปัญญาที่จวนเจียนจะปะทุนั้น ไม่ใช่เพราะกฎหมายนี้ทั้งฉบับ ในส่วนที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนชาวไทยทุกคนก็จำเป็นต้องเดินต่อ แต่จำเป็นต้องแก้ไขรายละเอียดในร่างกฎหมายฉบับนี้ก่อนที่จะสายเกินไป เพื่อคุ้มครองขั้นพื้นฐานซึ่งอาจเรียกว่าสิทธิขั้นต่ำที่สุดของคนไทยในการอยู่บนผืนแผ่นดินไทย รวมถึงเพื่อป้องกันอนาคตของลูกหลานคนไทยทุกคนที่อาจต้องสิ้นสิทธิของผืนดินที่อยู่มาแต่ครั้งบรรพชนด้วยเหตุความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนรุ่นเรา ที่ยอมให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ประกอบธุรกิจบนความเสียเปรียบของพวกเราเอง รายละเอียดที่จำเป็นต้องไขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ประกอบด้วย

1. ยกเว้นภาษีที่ดินว่างเปล่า สำหรับที่อยู่อาศัยในเขตเมืองขนาดไม่เกิน 1 ไร่ หรือไม่เกิน 50 ล้านบาท

เพื่อให้คนไทยที่ไม่มีเงิน สามารถผ่อนซื้อที่ดินแปลงเล็กๆสำหรับปลูกบ้านในบั้นปลายชีวิต

2. ยกเว้นภาษีภาษีที่ดินว่างเปล่า สำหรับที่ดินเปล่าในเขตอำเภอไม่เกิน 5 ไร่ หรือไม่เกิน 50 ล้านบาท

เพื่อให้คนในชนบทที่บ้านอยู่ในที่ดินที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่นา แต่ปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัย ไม่เหมาะแก่การทำนา

3. ยกเว้นภาษีที่ดินว่างเปล่า สำหรับพื้นที่เคยทำเกษตรกรรมไม่เกิน 50 ไร่ หรือไม่เกิน 50 ล้านบาท

เพื่อให้ไม่ให้ชาวนาถูกประเมินเป็นที่ดินว่างเปล่า เสียภาษีแพง จนสูญเสียที่ดินทำกิน

4. ยกเว้นภาษีที่ดินเกษตรกรรม ตั้งแต่แปลงที่ 2 เป็นต้นไป รวมกันไม่เกิน 100 ไร่ หรือ ไม่เกิน 50 ล้านบาท

เพื่อให้ไม่ให้ชาวนา ชาวสวนถูกบีบให้ขายที่ดินทำการเกษตรแปลงเล็กที่กระจายอยู่ให้เหลือเพียงแปลงเดียว

5. ยกเว้นภาษีบ้านหลังที่ 2-5 ที่ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์และรวมทั้งหมดมีราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท

เพื่อให้คนชั้นกลางในเมืองได้มีโอกาสสะสมอสังหาริมทรัพย์จำนวนเล็กน้อย เพื่อให้บั้นปลายชีวิตมีความมั่นคง

 

รัฐบาลไม่ใช่เจ้าของประเทศไทย แต่เป็นผู้ที่จะทำเพื่อคนไทยทุกคน

รัฐบาลเป็นผู้บริหารปกครองประเทศแต่ไม่ใช่เจ้าของประเทศ การดำเนินการใดๆของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อประชาชน ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะทักท้วงด้วยเหตุผล และรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยมีหน้าที่ต้องรับฟังเมื่อได้รับทราบความเห็นจากประชาชน รัฐบาลควรยอมรับฟังว่า แม้ว่าการบริหารประเทศที่ผ่านมา มีหลายอย่างดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมีบางสิ่งที่แสดงถึงนัยยะของความแย่ลง เช่นในกรณีร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ เป็นร่างกฎหมายที่มีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี ส่วนไม่ดีต้องถูกทักท้วงเพื่อแก้ไข ผู้รับผิดชอบจำเป็นที่ต้องรับฟังเสียงสะท้อน และเกินกว่าจุดที่ว่า “เสียหน้า” แล้ว เพราะทุกคนต่างทำเพื่อกันและกัน

หากจะตรากฎหมายภาษีฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับจริง ประชาชนชาวไทยก็จะต้องมีสิทธิขั้นต่ำสุดในการอยู่ในประเทศตนเอง อย่าปล่อยให้ประชาชนระดับล่างต้องอกสั่นขวัญแขวนกับการประเมินภาษีที่อาจตามมาด้วยการอายัดและยึดที่ดินของเจ้าหน้าที่รัฐ  ข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ของระบบราชการในปัจจุบันก็เห็นชัดว่าปัญหาคอรัปชั่นยังคงมีอยู่เช่นเดิมและยังคงเป็นปัญหาสำคัญไม่ว่าจะแก้อย่างไรก็ตาม  รัฐบาลจำเป็นแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในทิศทางลบตามที่กล่าวมาแล้วให้ได้ เพราะ เรื่องของความเป็นอยู่ของประชาชนและความมั่นคงของสังคมไทยเป็นเรื่องที่สำคัญกว่ารายได้ภาษีที่จัดเก็บ อย่างเทียบกันไม่ได้เลย

ผลกระทบที่แท้จริงของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ คือ การสถาปนา “ระบบศักดินานายทุน” ซึ่งจะเป็นสิ่งเร้าให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้นจากเดิมและจะพัฒนาไปถึงขั้นที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และไม่อาจแก้ไขใดๆ ได้อีกต่อไป ซึ่งนั่นคงไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ผู้ใดบนผืนแผ่นดินนี้ปรารถนาให้เกิดเป็นแน่แท้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image