‘ฐากร’ พร้อมชงบอร์ด ให้ เอไอเอส-ทรู ทดลองไช้ 5 จี (มีคลิป)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยในงานสัมมนา “5จี จุดเปลี่ยน Landscape เศรษฐกิจ-การเมืองไทย” ว่า สำนักงาน กสทช. จะเสนอวาระการทดลองระบบ 5จี บนคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิร์ตเฮิรตซ์ ขนาด 200 เมกะเฮิร์ตซึ่งเป็นคลื่นที่ว่างอยู่ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) กสทช. พิจารณาในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ และจะเริ่มทดลองระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน -15 ธันวาคม 2561 เพื่อทดสอบความเร็วของการใช้งาน และการดำเนินการในอนาคต โดยทางผู้บริการได้ยื่นขออนุญาตเข้ามาแล้ว สำหรับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส จะทดลองระบบที่ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย ด้านบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู จะทดลองระบบที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ใช้อุปกรณ์ของโนเกีย ขณะที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค จะมีการทดลองระบบ 5จี ในอนาคตเช่นกัน สำหรับระยะเวลาการทดสอบสามารถขยายเวลาได้ นอกจากนี้ หากทดสอบแล้วเสร็จในพื้นที่จะมีการนำมาทดสอบที่ กสทช. ต่อ นอกจากนี้ กสทช. ยังสนับสนุนการทดสอบ 5จี ในพื้นที่โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ของกระทรวงเศรษบกิจและสังคมแห่งชาติโดยใช้คลื่นความถี่ย่าน 26-28 กิกะเฮิร์ต

“กสทช.เป็นหน่วยงานสนับสนุนให้เกิด5จี หวังว่า 5จี จะเกิดขึ้นตามกำหนดในปี 2563 ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล และ ภาคเอกชนผู้ให้บริการเป็นผู้ดำเนินการลงทุน ซึ่งแม้ว่าเอกชนอยากจะใช้คลื่นฟรีแต่ยืนยันว่าจะต้องมีการประมูลซึ่งต้องรอความชัดเจนราคาอีกครั้งซึ่งจะถูกลง นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะมีการประมูล 5จี ใช้สำหรับเฉพาะพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับอุตสาหกรรมด้วย” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า หลังปี 2563 เมื่อ 5จีเข้ามาจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยโครงสร้างภาคการผลิต ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) และอินเทอร์เน็ตออฟติง (ไอโอที) ทำให้หุ่นยนต์มาทำงานแทนคนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ห่วงโซ่การผลิตจะเปลี่ยนไปโดยผู้ผลิตจะขายตรงไปที่ลูกค้า และนำบิ๊กดาต้าจะมีบทบาทในการผลิตเพื่อลดต้นทุน ความแม่นยำในการวางแผนการผลิตสินค้าจะตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางจะถูกลดบทบาท และค่อยๆหายไป การปล่อยสินเชื่อจะทำผ่านแพลตฟอร์มโดยเจ้าของเงินสามารถปล่อยสินเชื่อตรงไปยังผู้ขอ ทั้งนี้ 5จี จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การหาเสียงเลือกตั้งที่เคยทำผ่านหัวคะแนน ไม่ต้องผ่านหัวคะแนนเพราะผู้สมัครสามารถติดต่อกับประชาชนโดยตรง การใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการหาเสียงจะเข้ามาแทนการเปิดเสทีปราศรัยในอดีต หรือการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง(วีอาร์) นักการเมืองจะทำการเมืองแบบเดิมไม่ได้ นอกจากนี้การเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐจะทำให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งไม่ต้องหน่วยเลือกที่หน่วยตามรายชื่อแต่สามารถไปที่หน่วยเลือกตั้งกลางแต่ส่งข้อมูลไปรวมที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

นายฐากร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีการใช้งานโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยอยู่ที่ 125 ล้านเลขหมาย เป็นเทคโนโลยี 3จี และ4จีจำนวน 123.5 ล้านเลขหมาย และเทคโนโลยี 2จี จำนวน 1.5 ล้านเลขหมาย มีการใช้งานโซเชียลมีเดียบนสมาร์ทโฟนรวมมากกว่า 50 ล้านบัญชี

Advertisement

นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ทรู กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะทดสอบ 5จี อย่างไรก็ตาม 5จี ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล และขอความกรุณา สำนักงานกสทช. อย่างรัฐบาลจีนปักธงรุก 5จี เต็มที่ โดยรัฐบาลจีนให้คลื่นความถี่เอกชน ทั้ง ไชน่าโมบาย และค่ายอื่นๆ กว่า 160 เมกะเฮิร์ตฟรี เพื่อดำเนินการ 5จี รัฐบาลจีนลงทุนเพราะมองว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ในส่วนของไทยนั้น หากเอกชนลงทุนเอง 4จี ใช้ขนาด 10 เมกะเฮิร์ต มูลค่ากว่า 76,000 ล้านบาท หากเป็น 5จี ต้องใช้ความถี่ขนาด 100 เมกะเฮิร์ต ต้องลงทุนถึง 760,000 ล้านบาท เชื่อว่าชาติหน้าก็ไม่เกิด นอกจากนี้ 5จี จะเกิดขึ้นจะต้องชัดเจนว่าจะใช้คลื่นความถี่ใด กฎหมายและระเบียบ และผลทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากกรณีศึกษาต่างๆ เป็นต้น

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า 5จี จะเกิดขึ้นก่อน ในกลุ่มประเทศผู้ขายอุปรณ์ เช่น สหรัฐ จีน เกาหลีใต้ ส่วนไทยที่เป็นผู้ซื้อน่าจะเกิดขึ้นตามมา โดยมองว่า 5จี จะมาช่วยเพิ่มศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรม เหมือน 4จีที่ช่วยให้ ผู้บริโภคมีความสะดวกมากขึ้น

นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า อยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานเพื่อขอทดสอบ 5จี คาดว่าจะพร้อมทดสอบในช่วงต้นปี 2562 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานของดีแทคมีความพร้อมที่จะสามารถทดสอบ 5จีได้อยู่แล้ว ส่วนการประมูล 5จี นั้น มองว่าเป็นการลงทุนมหาศาล ทั้งคลื่นและโครงข่ายบริการซึ่งผู้ให้บริการอาจจะมีการตั้งบริษัทร่วม หรือการใช้โครงข่ายร่วมกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image