จ่อทุ่ม 5 พันล้าน ผุดแลนด์มาร์กใหม่ ทางเดิน-สะพานข้ามเจ้าพระยาเมืองนนท์

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่และทางสัญจรเทียบแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างกระทรวงมหาดไทย (มท.), กรุงเทพมหานคร (กทม.), สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าที่ประชุมได้นำผลการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของ สนข.ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด โครงการ ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ ระยะทางรวมไป-กลับ 140 กิโลเมตร (กม.) มาพิจารณาร่วมกัน เพื่อเร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจัดระเบียบพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาให้เป็นที่สาธารณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ในลักษณะเป็นทางสัญจร ทั้งทางเดินเท้าและทางจักรยาน รวมทั้งใช้เป็นสถานที่พักผ่อน ตลอดจนช่วยป้องกัน และแก้ไขปัญหาการรุกล้ำลำน้ำด้วย

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่า ผลการศึกษาฉบับนี้ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นทางสัญจรเลียบแม่น้ำที่เป็นทางเดิน และทางจักรยาน ไม่ใช่ถนนที่รถยนต์สามารถวิ่งได้ ความกว้างถนน 4-6 เมตร เบื้องต้นจะนำร่องดำเนินการโครงการ 5 ท่าน้ำนนท์ ช่วงสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์-สะพานพระราม 5 วงเงิน 5,129.5 ล้านบาทก่อน โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นเจ้าของโครงการที่จะไปออกแบบ และดำเนินการก่อสร้าง เพราะเป็นการพัฒนาพื้นที่ คาดว่าจะตั้งงบประมาณออกแบบปีงบประมาณ 2563 หรือประมาณเดือน ตุลาคม 2562 ใช้เวลาออกแบบ 1 ปี และจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปลายปี 2563 ทั้งนี้ สาเหตุที่เลือกโครงการนี้ก่อน เพราะมีเสียงตอบรับจากชุมชนดีมาก สภาพพื้นที่ดำเนินการง่าย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราชการไม่เป็นอุปสรรคต่อการเวนคืน มีศาลากลางเก่า มีวัดสำคัญ มีแหล่งท่องเที่ยว และมีประชาชนสัญจรไปมามากมาย

นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการ 5 ท่าน้ำนนท์ ประกอบด้วย การก่อสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยารวม 2 ฝั่ง ประมาณ 4.9 กิโลเมตร, การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อม 2 ชุมชน ระหว่าง ชุมชนบางศรีเมือง และชุมชนท่าน้ำนนท์ ระยะทาง 400 เมตร สามารถเดินเท้า และใช้จักรยานข้ามสะพานได้เท่านั้น โดยจะมีการออกแบบสะพานให้สวยงามเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของ จ.นนทบุรี, การพัฒนาท่าเรือข้ามฟากบางศรีเมือง และท่าน้ำนนทบุรี ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า, การพัฒนาพื้นที่ใต้สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์เป็นลานกิจกรรม รวมทั้งจะปรับปรุงสะพานให้รถจักรยานสามารถข้ามได้ ดำเนินการโดยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการพัฒนาพื้นที่สีเขียว อย่างไรก็ตามหลังจากการก่อสร้างโครงการ 5 แล้วเสร็จ จะมีการประเมินผลเสียงตอบรับจากประชาชน หากได้รับการตอบรับที่ดีจะขยายผลโครงการในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผลการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย 8 โครงการ วงเงินรวมกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการเมืองปทุมธานี (ช่วงปทุมธานี-สะพานนนทบุรี) 2.โครงการบางตะไนย์ (ช่วงสะพานนนทบุรี-สะพานพระราม 4) 3.โครงการปากเกร็ด (ช่วงสะพานราม 4-กรมชลประทาน) 4.โครงการสะพานพระนั่งเกล้า (ช่วงกรมชลประทาน-สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์) 5.โครงการท่าน้ำนนท์ (ช่วงสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์-สะพานพระราม 5) 6.โครงการบางไผ่ (ช่วงสะพานพระราม 5-สะพานราม 6) 7.โครงการกรุงเทพมหานคร (ช่วงสะพานราม 6- สุดเขต กทม.) และ 8.โครงการบางกะเจ้า

Advertisement

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image