3 สมาคมเปิดวงถก ‘ระบบราง-ผังเมือง’ เผยควรทำงานสัมพันธ์กัน เชื่อมการเดินทางให้ต่อเนื่อง

3 สมาคม เปิดเวทีถกระบบรางกับผังเมือง ชี้เป็นทิศทางอนาคต-ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ห้องเจมินี่ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สมาคมการผังเมือง ร่วมกับ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมวิศวกรรมการขนส่งทางรางไทย จัดสัมมนาเรื่อง “รางสร้างเมือง เมืองสร้างราง ฉลาดยั่งยืน” เพื่อเสนอแนวทางร่วมกันในการยกระดับการพัฒนาเมือง ที่อยู่อาศัย และการขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยมี นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย, นายนคร จันทศร อดีตรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมสัมมนา

นายฐาปนากล่าวว่า จุดประสงค์การจัดงานครั้งนี้เนื่องจากเราทำงานเรื่องการพัฒนารางและพัฒนาเมืองมานาน แต่ยังไม่มีการพบกันเป็นเรื่องเป็นราวระหว่างคนทำรางกับคนทำผังเมือง เพื่อเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันว่าสิ่งที่รางคิดใกล้เคียงกับสิ่งที่เมืองคิดหรือไม่ ซึ่งในช่วงหลังการพัฒนาเมืองจะเดินไปพร้อมกับราง ดังนั้น เวลาที่มีการสัมมนาในต่างประเทศ เมื่อพูดถึงโครงข่ายหลัก มักจะพูดถึงระบบขนส่งมวลชนรอง จากนั้นเป็นเรื่องระบบการเข้าถึง ต่อด้วยการเชื่อมต่อ และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งเชิงพาณิชย์ รวมถึงการซัพพอร์ตจากรัฐและเอกชน รวมถึงข้อกำหนด ระบบบริหารจัดการเมือง ทุกเรื่องจะออกเป็นกติกาเดียวกันว่ารัฐและเอกชนจะต้องดำเนินการใดบ้าง ซึ่งในครั้งนี้คาดหวังว่า ในวงวิชาชีพเหล่านี้จะสามารถสอดประสาน เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการพัฒนาในอนาคต

ด้านนายนครกล่าวปาถกฐาพิเศษเรื่อง รางเพื่อการพัฒนาเมือง ตอนหนึ่งว่า ข้อดีของรถไฟคือ การประหยัดพลังงาน ข้อมูลจากอียูระบุว่า ผู้โดยสาร 1 คน บนรถไฟ ใช้พลังงานเท่ากับผู้โดยสาร 5 คน บนรถยนต์ 5 คัน หรือการโดยสารด้วยรถยนต์ใช้พลังงาน 5 เท่า เมื่อเทียบกับรถไฟ ส่วนข้อเสียของรถไฟคือ จะต้องมีรางให้วิ่ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุนเยอะ พร้อมยกตัวอย่างกรณีประเทศญี่ปุ่นพัฒนาเป็นเมืองใช้รถไฟ ถ้าดูเฉพาะโตเกียวมีคนใช้รถไฟ 80 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

“ปัจจัยสำคัญเนื่องจากมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยรอบสถานีรถไฟ คือ ทำให้สามารถเดินจากที่อยู่อาศัยมาที่สถานีรถไฟในระยะเวลาไม่กี่นาที ทั้งนี้ การเดินเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเมืองและพัฒนาระบบขนส่ง เป็นหัวใจของแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) เนื่องจากกการเดินเป็นการประหยัดพลังงานที่สุด ดังนั้น จะทำอย่างไรให้มีพื้นที่เพื่อเอื้อต่อการเดิน เป็นสิ่งที่ควรคำนึงในการออกแบบเมือง นอกจากนี้ยังมีเรื่องความเชื่อมโยงหรือการเดินทางอย่างต่อเนื่อง เช่น ลงจากสถานีแล้วจะต้องเดินทางต่อเนื่องได้ ไม่ใช่ลงมาเเล้วไม่รู้จะไปไหน”

นายนครกล่าวอีกว่า ยังมีเรื่องของเมืองน่าอยู่ ซึ่งการพัฒทนาเมืองของประเทศไทยเราเห็นตึกสูงรอบสถานีรถไฟฟ้า อาจเป็นเมืองไม่ค่อยน่าอยู่ เป็นเมืองที่หนุ่มสาวหนีรถติดมานอนอยู่ที่ตึกสูง พอวันเสาร์วันอาทิตย์ออกไปนอนนอกเมือง ดังนั้น ถ้าเราไม่มีการบริหารจัดการ ปล่อยให้เอกชนขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองแบบนึ้ จะไม่มีมุมของเมืองที่น่าอยู่ รัฐควรเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการจัดการ เพื่อให้เกิดความครบถ้วนทุกมิติในการเป็นเมืองที่น่าอยู่ เมื่อระบบรางดีแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งต้องมีการจูงใจให้ใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้น และมีกระบวนการเพื่อลดการใช้รถส่วนตัว เช่น การจะซื้อรถต้องขับรถเป็น ต้องมีสถาบันรับรอง ต้องมีที่จอดรถยนต์ ต้องมีการเก็บค่าเข้าเมือง เป็นการควบคุมและจำกัดการใช้รถยนต์ เพื่อให้คนเข้าไปอยู่ในระบบขนส่งสาธารณะ

นายนครกล่าวว่า สำหรับของแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน สิ่งสำคัญคือการสร้างความตระหนัก (awareness) อย่างหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีประชากรเยอะ มีพื่นที่น้อย ทำให้เขามีความตระหนักรู้การแก้ปัญหาก็ง่าย ขณะที่ประเทศไทยเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานยังมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นโดยมีตัวเเทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด, นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีฝ่ายบริหารบริหาร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น กรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งโครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดขอนแก่น, นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ไทย และประธานกรรมการ บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด, นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย, นายปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่าย ABC สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และนายมารุต ศิริโก ประธานบริษัทในเครือ เอเอ็มอาร์ เอเซีย รองประธานกรรมการบริษัท RTC และผู้ออกแบบติดตั้งระบบออกแบบ Turnkey รถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image