ลุ้นระทึก “ใบแดง” ประมงผิดกฎหมาย IUU หลัง 1 ปีแก้ปัญหาไม่คืบ

บัณฑูร ล่ำซำ (แฟ้มภาพ)

ลุ้นระทึก “ใบแดง” ประมงผิดกฎหมาย IUU หลัง 1 ปีแก้ปัญหาไม่คืบ

สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย บิ๊กแนมทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ได้ออกมาพูดถึงความกังวลในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IIIegal Unreported and Unregulated Fishing หรือ IUU Fishing

โดยสหภาพยุโรปได้แจ้งเตือนประเทศไทยด้วยการให้ “ใบเหลือง” หรือการเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ซึ่งไทยตกอยู่ในสถานะนี้ครบ 1 ปีในวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา

และกำลังอยู่ในช่วงของการทบทวนว่า ประเทศไทยจะได้รับ “ใบแดง” หรือการถูกคว่ำบาตรห้ามนำเข้าสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์เข้าสหภาพยุโรปภายในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

“ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าอาหารทะเลเยอะมาก เป็นส่วนสำคัญของการส่งออกของประเทศไทย วันดีคืนดีเขาปิดประตูใส่ พอดีไม่ต้องค้าขายกัน มันเป็นสัญญาณอันตรายอยู่แล้ว ถ้าแก้ทัน ประตูมันก็ไม่ปิด แก้ไม่ทันประตูมันปิด” นายบัณฑูร กล่าว

Advertisement

นั่นสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตปัญหาของอุตสาหกรรมประมงและการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทย

กลายเป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ที่ว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ประเทศไทยได้รับ “ใบเหลือง” นั้น รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้าง

และสหภาพยุโรปตอบรับการดำเนินการของเราอย่างไร

Advertisement

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing ไม่ได้ดำเนินการหลังจากที่ประเทศไทยได้รับใบเหลืองในวันที่ 21 เมษายน 2558 แต่มีการดำเนินการแก้ปัญหามาก่อนหน้านี้ อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2556 แต่มาเข้มข้นเอาหลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจในการปกครองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวพันกับการทำประมงเป็นอันดับต้นๆ

หลังจากที่แก้ปัญหาการค้ามนุษย์มาได้ระยะหนึ่ง รัฐบาลได้ตั้ง ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ. ขึ้นมาโดยอยู่ในความดูแลสั่งการของกองทัพเรือ การค่อยๆ เรียนรู้ว่า ปัญหา IUU Fishing นั้น ไม่ได้มีเฉพาะแต่การค้ามนุษย์ แต่ครอบคลุมไปถึงการทำประมงผิดกฎหมาย เรือ อาชญาบัตร เครื่องมือจับปลา ปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำ การตรวจสอบที่มาของปลา แหล่งกำเนิดสินค้า (วัตถุดิบ) การทำประมงในประเทศเพื่อนบ้าน การออกใบรับรองสัตว์น้ำ การส่งออกสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ไปยังสหภาพยุโรป

หมายความว่า การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่อยู่บนเรือประมงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการได้รับ “ใบเหลือง” ได้ แต่มันเกี่ยวพันมาถึง เรือจับปลา ปลาที่ขึ้นจากเรือ โรงงานแปรรูป ห้องเย็น และการส่งออกสินค้าประมงไปยุโรป

ส่งผลให้รัฐบาลได้จัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำการประมง IUU หรือ Thailand National Plan of Action to Prevent Deter and Eliminate IIIegal Unreported and Unregulated Fishing หรือ Thailand NPOA-IUU ซึ่งประกอบไปด้วย 6 แผนงานหลัก ได้แก่

การจดทะเบียนเรือประมงและการออกใบอนุญาตทำการประมง, การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง, การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS), การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability), การปรับปรุง พ.ร.บ.การประมงและกฎหมายลำดับรอง และ การจัดทำแผน NPOA-IUU

ในทางปฏิบัติมีการตั้ง ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกของเรือประมง (Port in-Port out) จำนวนถึง 26 แห่งเพื่อรับแจ้งและตรวจสอบการเข้า-ออกของเรือประมงขนาด 30 กรอสขึ้นไป เริ่มดำเนินการในไตรมาส 2 ของปี 2558 การตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมและติดตามตำแหน่งเรือประมง (ศูนย์ควบคุม VMS) การติดตั้งระบบติดตามตำแหน่งเรือ VMS ในเรือประมงขนาด 60 ตันกรอส เป้าหมาย 3,500 ลำ และต่ำกว่า 60 ตันกรอสลงมา (30-60 ตันกรอส) อีก 4,240 ลำ และขยายการติดตั้งมาถึงเรือประมงขนาด 30 ตันกรอส

การปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดสายการผลิตจากเรือประมง-แพปลา-โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำและผู้ส่งออก ซึ่งเกี่ยวพันกับการออก “ใบรับรองการจับสัตว์น้ำ” การออก พ.ร.บ.การประมงฉบับใหม่ (มีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2558) และการออกกฎหมายฉบับรองมากกว่า 90 ฉบับ

ทว่า ในเดือนมกราคม 2559 ได้มีการหารือทางเทคนิคระหว่างคณะผู้แทนไทย นำโดย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นิวยอร์ก กับ Mr.Cesar Deben, Principal Adviser จากคณะผู้แทนกระทรวงกิจการทางทะเลและการประมงสหภาพยุโรป (DG MARE) ใน 6 ประเด็นได้แก่

การบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่และกฎหมายรองที่เกี่ยวข้อง, การไม่มีความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมาย, ปัญหาที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย, ปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ, ระบบตรวจสอบย้อนกลับโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ-ใบรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ ทั้งจากเรือประมงและโรงงานแปรรูป/บริษัทผู้ส่งออกในประเด็นข้อสงสัยที่ว่า ปลาหรือวัตถุดิบนั้นมาจากไหนและกำลังไปที่ไหน มีที่มาถูกต้องหรือไม่ และเรื่องอื่นๆ ตามคำแนะนำของสหภาพยุโรป

พร้อมๆ กันนั้น ทางคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมทางทะเลและการประมง (European Commission for Environment Maritime Affairs and Fisheries) ก็ได้ออกแถลงการณ์ถึงการทบทวนสถานะประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมด้วยการหารือกับคณะผู้แทนไทยนั้น “เป็นเรื่องยาก”

และคณะกรรมาธิการยังมีความกังวลในหลายประเด็นเกี่ยวกับสิ่งที่รัฐบาลไทยจะดำเนินการในอนาคตเพื่อแก้ปัญหา IUU

ท่าทีที่ดูจะเป็น “ด้านลบ” ในสิ่งที่ผู้แทนสหภาพยุโรปส่งสัญญาณออกมานั้น มีผลทำให้รัฐบาลไทยต้องทำการ “ทบทวน” Road Map หรือ แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา IUU ที่วางเอาไว้ตั้งแต่หลังได้รับใบเหลือง โดยแบ่งช่วงระยะเวลาการดำเนินการใหม่ออกเป็น 3 ช่วงด้วยกันคือ

ช่วงแรกถึงวันที่ 30 เมษายน จะเป็นการปฏิบัติการตามจดหมายแนะนำของ Mr.Deben อาทิ การตรวจสอบเรือที่ติด VMS, มาตรการบังคับใช้กฎหมายกับเรือที่ไม่ติด VMS, การปรับปรุงฐานข้อมูล, การดำเนินการกับเรือประมงพาณิชย์ 514 ลำ

ช่วงที่ 2 งานที่จะต้องทำตามการหารือที่บรัสเซลส์ อาทิ การตรวจเรือประมงในและนอกน่านน้ำ, การตรวจโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นที่ร้อยละ 10, การแบ่งพื้นที่ทำการประมงพื้นบ้านกับพาณิชย์, สถิตินำเข้าส่งออกสัตว์น้ำ

และช่วง 3 เรื่องที่จะต้องดำเนินการในระยะยาว

ตามมาด้วยการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 17/2559 “สั่งย้าย” นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ไปเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ นายอดิศร พร้อมเทพ รองอธิบดีประมง อดีตอัครราชทูต (ฝ่ายการเกษตร) ณ บรัสเซลส์ ที่จับเรื่อง IUU มาตั้งแต่ปี 2552 มาเป็นอธิบดีกรมประมงแทน

ด้วยหวังว่า การดำเนินการในช่วงที่ 1 และ 2 และเปลี่ยนตัวผู้เจรจา/ผู้รับผิดชอบ หากดำเนินการเสร็จทัน “อาจจะ” ช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นสถานะการได้รับ “ใบแดง” ได้ในที่สุด

แม้จะดูหวาดเสียวและเฉียดฉิวเป็นที่สุดก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image