เกษตรฯเร่งหาทางให้ 6 บ.ผู้ผลิตล้อยางโลกรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง

แฟ้มภาพ

‘กฤษฎา’มึนผู้ผลิตล้อยางรายใหญ่โลก 6 บ.ระบุทุกวันนี้ต้องซื้อยางพาราไทยที่ตลาดต่างประเทศ ตามราคาของตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่สิงคโปร์และโตเกียว แต่รับมอบโดยใช้ยางในไทยส่งมอบ จึงสั่งกยท. ให้เวลา 7 วัน เร่งหาแนวทางดึงเอกชนซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทววงเกษตรและสหกรณ์ เชิญสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ไทย (TATMA) โดยมีบริษัทผู้ผลิตล้อยางรถยนต์รายใหญ่ของโลก 6 แห่งที่ตั้งโรงงานในไทยเช่น ไทยบริดจ์สโตน คอนติเนลตัล โยโกฮามา สยามมิชลิน ซูมิโตโม รับเบอร์ และแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งผู้แทนมารับทราบแนวทางของรัฐบาลในการยกระดับราคายางพารา โดยขอความร่วมมือให้เพิ่มการรับซื้อยางพาราในไทยไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตล้อยางมากขึ้น จากปัจจุบันที่ใช้ยางแผ่นปีละ 482,000 ตัน

นายกฤษฎากล่าวว่า รู้สึกมึนงงมากเนื่องจากผู้แทนทั้ง 6 บริษัทระบุว่า ปัจจุบันซื้อยางจากบริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่ 5 แห่งของไทย แต่ซื้อขายกันที่ตลาดล่วงหน้าที่สิงคโปร์และญี่ปุ่น จากบริษัทใหญ่ทั้ง 5 แห่งได้แก่ ไทยฮั้วรับเบอร์ ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี เซาท์แลนด์รับเบอร์ วงศ์บัณฑิต และไทยรับเบอร์ ลาแท็คซ์กรุ๊ปซึ่งเป็นบริษัทคนไทยที่เข้าไปขายยางที่ตลาดล่วงหน้า ผู้แทนบริษัทเอกชนเล่าว่าเมื่อจะหาผู้ประกอบการในไทยส่งยางเป็นวัตถุดิบให้ กลับไม่มีที่ใดมีศักยภาพมากพอที่จะส่งมอบยางปริมาณมากได้ตามเวลาที่กำหนด รวมถึงรับประกันคุณภาพยาง จึงต้องไปซื้อยางในตลาดโตคอม กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น และตลาดไซคอม สิงคโปร์ เมื่อทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแล้ว บริษัทผู้ส่งออกของไทยจะส่งมอบยางเข้าโรงงานผลิตล้อยางตามกำหนดเวลาในสัญญา ผู้แทนภาคเอกชนว่า ถ้าจะให้ผู้ผลิตล้อยางรับซื้อยางในไทย ก็ต้องหาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพรวบรวมยางได้ตามคำสั่งซื้อ และส่งมอบได้ตามสัญญา และให้ความมั่นใจเรื่องคุณภาพยางได้ ดังนั้น ตน จึงสั่งให้ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)เร่งศึกษาภายใน 7 วัน ให้ได้ข้อสรุปว่า ทำวิธีใดได้บ้าง โดยอาจให้กยท.ซื้อขายยางกับบริษัทล้อยางเองเนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ ประกอบธุรกิจได้ หรือให้สหกรณ์ที่เข้มแข็งดำเนินการ รวมถึงแนวทางจัดตั้งบริษัทร่วมค้าระหว่างกยท. กับสถาบันเกษตรกรเพื่อนำน้ำยางจากสถาบันเกษตรกรส่งขายแก่ผู้ผลิตล้อยางโดยตรง ไม่ผ่านคนกลาง” นายกฤษฏากล่าว และว่า ทั้งนี้สมาคมผู้ผลิตล้อยางฯ ยินดีให้ความร่วมมือ อีกทั้งจะรับซื้อในปริมาณที่มากขึ้นด้วย หากกระทรวงเกษตรฯ จัดหาผู้ขายที่น่าเชื่อถือมาได้ กยท. จึงจะไปศึกษาวิธีปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว สำหรับสหกรณ์เกษตรกรชาวสวนยางที่มีศักยภาพในการรวบรวมยางได้มาก แปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแผ่นและยางแท่งส่งขายต่างประเทศได้คือ สหกรณ์อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี นอกจากนี้กรมส่งเสริสหกรณ์ได้คัดเลือกสหกรณ์ที่เข้มแข็งได้แล้ว 18 แห่ง ซึ่งจะเร่งศึกษาว่า จะดำเนินธุรกิจซื้อขายยางกับบริษัทล้อยางในรูปแบบใด

นายกฤษฎากล่าวว่า ผู้ผลิตล้อยางต้องการขยายที่ตั้งโรงงานในไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นผู้ผลิตยางพาราส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก อีกทั้งมีความพร้อมทุกด้าน แต่ต้องการให้รัฐบาลให้ลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรมให้รวดเร็วขึ้นซึ่งขณะนี้ต้องทำ 3 ขั้นตอนคือ ขออนุญาตตั้งโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และต้องทำประชาพิจารณ์ขอความเห็นชอบจากท้องถิ่นด้วย หากอยู่ในขั้นตอนเดียวจะทำให้บริษัทแม่ซึ่งอยู่ต่างประเทศตัดสินใจเพิ่มจำนวนโรงงานผลิตล้อยางขึ้นอีกหลายแห่ง รวมถึงพร้อมรับซื้อยางพาราจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง

Advertisement

นายกฤษฏากล่าวเพิ่มเติมถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ กระทรวงเกษตรฯ และกยท. ว่า คิดหาแต่มาตรการเฉพาะหน้า ไม่มีผลทำให้ยางราคาขึ้นได้นั้น ยืนยันว่า การช่วยเหลือค่าครองชีพจ่ายไร่ละ 1,800 บาทสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสวนยางได้ พร้อมระดมมาตรการใช้ยางพาราทำถนนทำให้วันนี้ราคายางขยับขึ้นอีก 50 สตางค์ มั่นใจว่าราคาจะอีกตามลำดับ เมื่อมีการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น นอกจานี้ยังมีมาตรการให้งวเงินกู้ 5,000 ล้านบาทแก่สหกรณ์เพื่อรับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรมาแปรรูปแล้วส่งออก โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าดอกเบี้ยให้ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นมาตรากรระยะกลางถึงระยะยาวที่ครม. เห็นชอบ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรขายยางได้โดยไม่ผ่านคนกลาง แล้วสหกรณ์นำไปแปรรูปเพื่อส่งออกเอง

“วันนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานเกี่ยวข้องหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อเชิญประชุมนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำถนนงานดินผสมยางพารา แบบก่อสร้างจากกรมทางหลวง ซึ่งกำลังเขียนใหม่จะเสร็จภายในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ และราคากลางซึ่งกรมบัญชีกลางจะออกมาใหม่ กรณีอปท. ดำเนินการทำถนนลูกรังอัดแน่นผสมปูนซีเมนท์และน้ำยางพาราเอง เนื่องจากราคากลางที่ออกมาก่อนหน้านี้เป็นราคาจ้างเหมา หากอปท. ทำเองจะมีราคาต่ำกว่า โดยราคาก่อสร้างอยู่กิโลเมตรละ 1.2 ล้านบาท แต่ใช้น้ำยางได้มากถึง 12-15 ตัน ต่อ 1กิโลเมตร ในหมู่บ้านและตำบลเกือบ 80,000 แห่ง โดยทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ในแต่ละจังหวัดกำลังรวบรวมข้อมูลจากองค์การปกครองท้องถิ่น แต่ละแห่งว่า มีความประสงค์จะทำถนนกี่สาย สายละกี่กิโลเมตร แล้วรายงานเข้าศูนย์ติดตามโครงการฯ ทุกวัน ซึ่งจะทำให้ทราบว่า การใช้ยางพาราจะเพิ่มขึ้นเท่าไร อีกทั้งให้ทำแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน ตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งแล้วเสร็จซึ่งมั่นใจว่า จะกระตุ้นให้ราคายางพาราในประเทศปรับตัวสูงขึ้นได้แน่นอน”นายกฤษฎากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image