กรมศุลฯ เล็งเพิ่มโทษแอบหิ้วของนอก เจอค่าปรับอ่วม 10 เท่าของราคาสินค้า

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยระหว่างการประชุมร่วมและรับฟังความคิดเห็นมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของกรมศุลกากร ระหว่างผู้บริหารกรมศุลกากร กับผู้แทนภาคเอกชนองค์กรอิสระ และหน่วยงานตรวจสอบจำนวน 21 หน่วยงาน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย และองค์การต่อต้านคอรัปชั่น และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้นว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อรับฟังความเห็นและร่วมสร้างมาตรการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในการนำเข้าและส่งออกผ่านพิธีการกรมศุลกากร โดยกรมกำลังพิจารณาว่าอาจจะเพิ่มค่าปรับ ที่ปัจจุบันปรับสูงสุดไม่เกิน 4 เท่า แต่ในทางปฏิบัติปรับเพียง 1 -2 เท่า ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กำหนดค่าปรับสูงถึง 10 เท่า เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นต้น และนอกจากการเพิ่มค่าปรับแล้ว หากชิปปิ้งมีการกระทำผิด กรมจะระงับการผ่านพิธีการด้านศุลกากร และรวมถึงเพิกถอนทะเบียนตัวแทนออกของที่กระทำผิดด้วย

“มาตรการป้องกันการทุจริตรวมถึงการลงโทษจะมีความเข้มขึ้น ไทยอาจจะเพิ่มโทษปรับเป็น 7-10 เท่า เพื่อให้การทำความผิดน้อยลง พร้อมทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากร โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาตามด่านศุลกากรต่างๆทั่วประเทศต้องสอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้กระทำความผิด หากผู้ใต้บังคับบัญชาทำผิด ผู้บังคับบัญชาของด่านนั้นจะต้องรับผิดชอบด้วย เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นคนกรมศุลกากรถูกต่อว่าตลอด เหมือนในกรณีดารานำเข้ากระเป๋า ที่กรมถูกต่อว่าเพราะไม่สามารถตรวจทุกคนได้ ใช้วิธีการสุ่มตรวจ ถ้าจับตรวจทุกคนจะโดนต่อว่าเรื่องความไม่เรื่องสะดวก”

นายกุลิศ กล่าวว่า ในด้านของการวางระบบของการทำงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรนั้น กรมจะวางระบบเพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากร ลดการใช้ดุลพินิจ ซึ่งเป็นช่องทางให้เกิดการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้แก่เจ้าหน้าที่ได้ ด้วยการจัดทำฐานข้อมูลราคาสินค้า เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบราคาสินค้านำเข้าที่สำแดงในใบขนสินค้า โดยพิจารณาราคาสินค้านั้นๆในตลาดว่าขายกันในราคาใด และรวมถึงสภาพข้อเท็จจริงของสินค้าที่นำเข้ามาว่าเป็นอย่างไร ประกอบในการกำหนดราคา ซึ่งได้มีการกำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากร โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาตามด่านศุลกากรต่างๆทั่วประเทศ ต้องสอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้กระทำความผิด ซึ่งหากผู้ใต้บังคับบัญชาทำผิด ผู้บังคับบัญชาของด่านนั้นจะต้องรับผิดชอบด้วย

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรจากส่วนกลาง เป็นผู้ดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรได้เอง เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรนั้นๆ จะต้องรับผิดชอบด้วย(ถูกลงโทษ) ซึ่งเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมานี้ ตนได้เชิญนายด่านศุลกากรทั่วประเทศ ให้มาประชุม เพื่อลงนามในข้อตกลงนี้ สำหรับการแก้ไขกฎหมายศุลกากร ว่าด้วยเรื่อง รางวัลและสินบนนำจับ ในกรณีความผิดฐานชำระภาษีไม่ถูกต้องนั้น ปัจจุบันอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

Advertisement

นายกุลิศ ได้กล่าวถึงหลักการของความพยายามแก้ไขโดยลดรางวัลที่ให้แก่เจ้าหน้าที่ศุลกากร และสินบนนำจับที่ให้แก่ สาย ที่แจ้งเบาะแสจนนำจับว่า เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทำให้กรมศุลกากรโปร่งใสขึ้น เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่ศุลกากรมีแนวโน้มที่จะจ้องจับผิด เนื่องจากมีเงินรางวัลสูง โดยในกฎหมายปัจจุบัน กำหนดเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าศุลกากรที่มีส่วนในการจับกุมผู้กระทำความผิด โดยกำหนดให้เงินรางวัล คิดเป็น 25 % ของค่าปรับ (ค่าปรับ เท่ากับ 4 เท่าของราคาสินค้า บวกภาษีนำเข้าที่จ่ายขาดไป) ขณะที่ สาย จะได้ 30 % โดยไม่ได้กำหนดวงเงินสูงสุดไว้ แต่การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จะกำหนดวงเงินดังกล่าวไว้ ไม่เกิน 5 -10 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image